สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๔๕
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๔๕
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วถ้าเราเข้าใจธรรมตั้งแต่ต้น แล้วไม่ลืม ทุกอย่างที่เป็นธรรม เป็นธาตุ เพราะว่าธรรมหรือธาตุ ความหมายเดียวกัน มีอะไรบ้างที่ไม่ใช่ธรรม ถ้าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้น แล้วสิ่งนั้นๆ มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ
เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่าธรรมหรือธาตุเหมือนกัน ถ้าเราใช้คำว่าธาตุ คือ รวมหมดเลย ทุกอย่างเป็นธาตุ แต่ทีนี้ทำไมเรามาแยก เพราะว่าก่อนอื่นเราแยกชนิดที่ว่า นามธาตุกับรูปธาตุก่อน แล้วอีกนัยหนึ่ง ทำไมเรามาแยกนามธาตุหรือจิตโดยเฉพาะ เป็นวิญญาณธาตุต่างหาก แล้วก็มีอะไรบ้าง
นี่คือแสดงความละเอียดออกไปว่า ถ้าจะพูดเฉพาะจิต อย่างวิญญาณธาตุ ๗ หมายความว่า ไม่ใช่ไม่อยู่ในธาตุทั้งหมด ทั้งหมดเป็นธาตุทั้งนั้น ทุกอย่างเป็นธาตุ แต่ที่เราแยกออกมา เป็นวิญญาณธาตุ ๗ หมายความว่า เราจะกล่าวถึงเฉพาะจิต หรือวิญญาณเท่านั้น จักขุวิญญาณเป็นธาตุหรือเปล่า เป็น เพราะทุกอย่างเป็นธาตุ แต่ทีนี้เวลาที่เราพูดถึงปสาทรูป เป็นจักขุธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา พอพูดถึงรูปธาตุก็เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะกระทบได้เฉพาะจักขุปสาท ส่วนจักขุวิญญาณธาตุเป็นวิญญาณชนิดหนึ่งซึ่งสามารถจะเห็นอย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย
นี่คือแสดงระดับของจิตซึ่งเป็นวิญญาณธาตุว่า มีกำลังหรือมีลักษณะที่สามารถจะรู้อะไรได้บ้าง อย่างจักขุวิญญาณธาตุ เป็นวิญญาณ เป็นจิต แต่รู้ได้อย่างเดียว โดยที่ว่าเมื่อมีจักขุปสาทกับรูปารมณ์กระทบกัน ก็เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณจิต ธาตุรู้ รู้ ไม่ใช่ธาตุไม่รู้ เป็นธาตุรู้ แต่เกิดขึ้นเพียงเห็น ทำอะไรไม่ได้เลยในสังสารวัฏฏ์ จักขุวิญญาณธาตุเกิดเมื่อไรก็คือเห็นเท่านั้นเอง จะได้ยิน จะได้กลิ่นอะไรไม่ได้เลย นี่ก็เป็นทางหนึ่ง จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุโดยนัยเดียวกัน ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ โดยนัยเดียวกัน ที่เราแยกออกมาเพื่อแสดงความหลากหลาย และระดับของจิตว่า ๕ อย่างเขาทำอะไรไม่ได้เลยเกินกว่านี้ นอกจากจิตเห็น จักขุวิญญาณเห็นเท่านั้น โสตวิญญาณได้ยินอย่างเดียว ฆานวิญญาณก็เพียงได้กลิ่นนิดเดียว ชิวหาวิญญาณก็แค่ลิ้มรส กายวิญญาณก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ลองคิดถึงความจริงในชีวิตประจำวัน เวลาที่สภาพของนามธาตุนี้เกิด เพียงเท่านี้เอง ที่กำลังเห็น เพียงเท่านี้ กำลังได้ยิน ก็ธาตุอีกชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็เพียงเท่านั้นแต่ ว่านี่ ๕ ธาตุแล้ว รู้ได้เฉพาะอารมณ์ของตนของตน ส่วนจิตอีกประเภทหนึ่งสามารถที่จะรู้ได้ถึง ๕ อย่าง นี่ต่างกันแล้วใช่ไหมคะ ระหว่างจักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ ซึ่งรู้ได้เฉพาะอย่างๆ แต่มีจิตอีก ๓ ชนิดหรือ ๓ ประเภท ๓ ดวงที่รู้ได้ถึง ๕ อย่าง คือ ปัญจทวาราวชนจิต กับสัมปฏิฉันนะจิต ๒ ดวง ปัญจทวาราวชนจิตก็เป็นอเหตุกกิริยา สัมปฏิจฉันนะ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ สามารถจะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์ ต่อจากวิญญาณธาตุ ๕
นี่ก็แสดงถึงระดับของจิตอีกขั้นหนึ่ง แล้วจิตนี้ก็ไม่เกินกว่านี้ คือสามารถเพียงที่จะเกิดต่อจากจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อเป็นสัมปฏิจฉันนะ แต่เกิดก่อนจิตเหล่านี้เมื่อเป็นปัญจทวาราวชนจิต
เพราะฉะนั้น ๓ ดวงนี้เป็นมโนธาตุ หมายความถึง เป็นธาตุซึ่งต้องเกิดที่รูป ไม่เกิดที่รูปไม่ได้เลย แต่ว่าสามารถจะรู้อารมณ์ได้ ๕ อย่าง ในรูปพรหมมีมโนธาตุไหม
ผู้ฟัง ต้องมี
ท่านอาจารย์ ต้องมี เพราะว่าจิต ๓ ดวงนี้ต้องเกิดที่หทยวัตถุ แล้วก็รู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ แต่ว่าสำหรับพรหม จะรู้ได้เพียง ๒ อารมณ์ คือ รูปารมณ์กับสัททารมณ์ ไม่มีการรู้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้น เวลาที่อยู่ที่นั่น ต้องเป็นจักขุทวาราวชนะ กับโสตทวาราวชนะ เปลี่ยนชื่อ แต่สัมปฏิจฉันนะก็เป็นสัมปฏิจฉันนะ เพราะฉะนั้น ในมโนธาตุ ๓ มโนธาตุ ๑ เกิดก่อนวิญญาณธาตุ ๕ ส่วนมโนธาตุอีก๒ เกิดต่อจากวิญญาณธาตุ ๕ ก็จบไป
จิตที่เหลือทั้งหมดเป็นมโนวิญญาณธาตุ ถ้าเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่หทยวัตถุ ถ้าเกิดในภูมิที่ไม่มีขันธ์ ๕ มีแต่นามขันธ์อย่างเดียว ไม่ต้องอาศัยรูปเลย อย่างโลภะ ในภูมิของเรา ติดในรูปทุกอย่างมากมาย เมื่อกี้นี้เท่าไร กี่ชนิด เดินผ่านมา สีเขียว สีแดง รูปร่างเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ติดแล้วในสิ่งที่ปรากฏทางตา มีกลิ่นไหม ก็ติดแล้วในกลิ่น ในรส ในทุกอย่าง นี่คือการติดข้องในกามภูมิ
เพราะฉะนั้น โลภะนี้เขาก็จะติดในรูป ส่วนใหญ่ แล้วก็ในนามคือความสุข ความพอใจที่เกิดจากการได้รับในสิ่งนั้นๆ เราติดในสุขเวทนา ในรูป ที่เกิดจากรูป เราหวังรูป ต้องการรูปตลอดเวลา แต่โลภะในอรูปพรหมภูมิมี แต่ไม่ใช่โลภะอย่างนี้ ในอรูปพรหมภูมิไม่มีรูปเป็นที่เกิดเลย เพราะฉะนั้น ในอรูปพรหมภูมิ โลภะเกิดโดยไม่ต้องเกิดที่หทยรูป เพราะฉะนั้นโลภะจะเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ได้ ในกามภูมิก็ได้ ในอรูปพรหมภูมิก็ได้ แต่มโนธาตุต้องเกิดในภูมิที่มีรูป
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จิต และเจตสิก ก็ไม่เกิดในอรูปพรหม
ท่านอาจารย์ .ไม่ต้องเกิดที่วัตถุรูป ไม่มีรูปเป็นที่เกิด แต่เกิดได้ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตรู้เลย ของมนุษย์ติดในอะไร เกิดที่ไหน เทวดาที่ไหน อย่างไร เกิดที่ไหน พอถึงรูปพรหมก็ยังมีหทยวัตถุ โลภะก็ยังต้องเกิดขึ้นที่หทุยวัตถุ แต่อรูปพรหมไม่ต้องอาศัยรูปใดๆ เลย โทสะเกิดในอรูปพรหมภูมิได้ไหม
ผู้ฟัง เกิดไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตไม่เกิดในรูปพรหม และอรูปพรหม ต้องทราบด้วยว่าอกุศลจิตทั้งหมด เขาเกิดที่ไหน ตามภูมิ
ผู้ฟัง พอไม่มีรูป
ท่านอาจารย์ มีโลภะเกิดได้ มีโมหะเกิดได้ แต่โทสะไม่เกิดในรูปพรหมภูมิ หรืออรูปพรหมภูมิ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีความติดข้องในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แล้วภูมิของเขาก็แสนที่จะประณีต ประณีตเสียจนกระทั่งโทสะไม่เกิด จะไปโกรธใครที่ไหน อะไรๆ ก็สวย มันก็ดีไปหมด เพราะฉะนั้น โลภะที่อาศัยหทยวัตถุ ที่ไหน ในกามภูมิกับรูปพรหม ไม่อาศัยวัตถุที่ไหน ในอรูปพรหมภูมิ แต่เกิดได้ แต่โทสะไม่ได้ โทสะไม่เกิดในรูปพรหม อรูปพรหม เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตเกิดเมื่อไร ต้องเกิดที่หทัยวัตถุ
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ โลภะเกิดในภูมิที่มีรูปก็ได้ ในภูมิที่ไม่มีรูปก็ได้
ผู้ฟัง ก่อนจะมีต้องมีรูป หรือนามเป็นอารมณ์
ท่านอาจารย์ หมายความว่าคนที่ติดในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ แล้วจิตของเขาอบรมเจริญด้วยสติสัมปชัญญะ มีปัญญาระดับที่สามารถที่จะระงับความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
เพราะฉะนั้น อย่างในอดีต ผู้ที่มีปัญญาท่านเห็นโทษ แต่เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ไม่รู้หนทางเลยว่า ทำอย่างไรถึงจะดับได้จริงๆ ท่านก็เพียงแต่ระงับ ท่านเห็นโทษว่า พอเห็นต้องเป็นอกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด ของเราเป็นก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ปัญญาต่างระดับขั้นกันมาก ปัญญาของคนที่จะอบรมเจริญ สมถภาวนาก็ต่างกับปัญญาของผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน
ผู้ฟัง เป็นขั้นของผู้ที่มีปัญญามาก
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญา เราจะไปเห็นโทษได้อย่างไร อาหารก็อร่อย อะไรทุกอย่างก็ดี ไม่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เราไม่เป็นเน้นที่เห็นโทษ เพราะมันเห็นยาก แต่เราเน้นที่ปัญญา เมื่อมีปัญญาแล้ว เป็นหน้าที่ของปัญญาที่จะเห็น แต่ถ้าไม่มีปัญญา แล้วเราก็ตามๆ ไป คิดๆ ตามๆ ไป ท่านเหล่านั้นท่านหน่าย ท่านเหล่านั้นท่านเบื่อ ท่านเหล่านั้นท่านอะไร ใช่ไหมคะ มันมีโทษอย่างนี้ มันมีโทษอย่างนั้น ก็รำพันโทษ โดยไม่รู้โทษจริงๆ เพราะมันไม่ได้เกิดกับเรา เวลาที่ใครสักคนในที่นี้จะเกิดเห็นโทษขึ้นมา ถามจริงๆ ว่า เขากำลังคิดถึงเรื่องที่เขาไม่พอใจหรือเปล่าที่เขาเห็นโทษ แต่เวลาที่เราผ่านมาเมื่อกี้ มันแสนที่จะสวยงามอย่างนั้น มีใครสักคนที่เห็นโทษบ้างหรือเปล่า ทั้งๆ ที่พรรณนาว่า มันเป็นสิ่งที่ชั่วคราว เล็กน้อย แค่เห็น เราก็ชั่วคราว เล็กน้อย แค่เห็น แต่มันสวย มันน่ารัก ดอกตรงนี้มันสีชมพู ตรงนั้นมันสีอะไรๆ ก็แล้วแต่
เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว เราไม่ควรจะไปเพ่งเล็งที่เห็นโทษ เพราะมันไม่ใช่จริง แต่ ว่ามันเป็นเรื่องที่ควรจะอบรมปัญญาจนกว่าปัญญาเห็น แล้วปัญญาเห็น ปัญญาระดับไหน ถ้าเราจะเกิดทำฌาน เราต้องมีปัญญาระดับที่เรารู้เลยว่า วันหนึ่งอกุศลเท่าไร แต่เรารุ่นนี้ ชุดนี้ไม่ทำหรอก เพราะเราไม่เห็น เราก็เพียงแต่นึกถึงเท่านั้นเอง แต่ว่าไม่สามารถที่จะมีจิตระดับนั้นได้ที่จะเป็นสัมปชัญญะประกอบด้วยปัญญา ที่จะให้จิตสงบโดยการเห็นโทษจริงๆ
ผู้ฟัง ปัญญาระดับไหนครับ
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นเห็น ไม่ใช่ว่าตามๆ หรือว่า คิดเอานิดๆ หน่อยๆ แล้วก็จริงๆ แล้ว มันเต็มไปด้วยอกุศล ซึ่งเราเพียงแต่เหมือนกับพูดตามมากกว่า หรือว่าคิดตาม หรือว่าตามๆ กันไป แต่เห็นโทษต้องเป็นปัญญา อย่างคนที่ยังเป็นปุถุชน ไม่มีทางที่จะเห็นโทษระดับที่ว่า เหมือนคนที่ทำฌานในอดีต หรือว่าเหมือนคนที่ถึงขั้นพระอนาคามีแล้ว