สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๔๖


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๔๖


    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าสอน พระองค์ทรงแสดงธรรม ใช้คำว่าแสดงธรรม ความกระจ่างของสภาพธรรมอย่างละเอียด ไม่ให้เราติดข้อง ไม่ให้เราติดขัดด้วยพระปัญญา อย่างเรื่องธาตุ เรื่องธรรม เรื่องธรรมธาตุ หรือเรื่องอะไรๆ ก็แล้วแต่ทั้งหมด เรื่องอายตนะ เรื่องอะไรทั้งหมด เพื่อให้เราไม่ติดข้อง ไม่ติดขัด เพื่อว่าปัญญาของเราจะได้กว้างแล้วก็ลึก เพื่อที่จะเห็นสภาพธรรมจนสามารถที่จะสละความเป็นเราได้ แต่โทษของธรรมมีอย่างไร ทรงแสดงอย่างนั้น โทษของภพ โทษของชาติ ทรงแสดงไว้ การเกิดเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะภพไหนทั้งสิ้น แม้อรูปพรหมก็เป็นโทษ แสดงโทษ แล้วจะให้เราเห็นโทษอย่างไร ก็ฟังแล้วก็รู้ว่า ผู้ที่เห็นโทษคือเห็น แต่ผู้ที่ยังไม่เห็นโทษ ต้องศึกษา แล้วต้องเป็นผู้ที่ตรง ข้อสำคัญที่สุดคือตรงว่า เรามีปัญญาระดับไหน ถ้าเรามีปัญญานิดๆ หน่อยๆ เราก็อบรมเจริญปัญญาของเราให้มากขึ้น แล้วก็ข้อสำคัญที่สุดคือถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วจะก้าวไปถึงความเป็นพระอนาคามี หรือว่าเห็นโทษระดับนั้น เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การเห็นโทษของคนยุคนี้ สมัยนี้ เราอาจจะมองดูหรือว่าฟังคำพูดของบางคน เหมือนเขาเห็นโทษ เขาพูดได้หมดเลย แต่จริงๆ เขาเห็นหรือเปล่า เขาไม่ได้เห็นเลย บางคนเป็นอัธยาศัยเลย เขาไม่ได้ศึกษาธรรม แต่วาจาเขาดีมาก เขาไม่มี

    สัมผัปปลาปะ เขาไม่มีการที่จะใช้วาจาหยาบเลย คำรุนแรงที่จะให้ผู้อื่นเสียใจ เขาไม่มี แต่เขาไม่รู้แม้แต่ว่าเป็นธรรม หรือว่าไม่มีเขา หรือไม่มีอะไร หรือว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นการสะสม

    ผู้ฟัง คำว่าเห็นโทษ อย่างเช่น สมัยก่อนเราไม่เคยรู้เรื่องศีลมาก่อน พอเราเริ่มมารู้จักเรื่องศีล เราก็ไม่ล่วงละเมิด เราใช้ว่าเป็นความละอาย

    ท่านอาจารย์ โดยมากเรามักจะหาคนตัดสิน จริงๆ แล้วหาคนตัดสินไม่ได้ หาการที่ว่า เราจะเข้าใจสภาพธรรมอย่างไรด้วยการไตร่ตรอง อย่างเวลาที่คนที่เขาไม่ได้เรียนธรรมเลย แต่เขาสอนลูก เห็นไหม ลักขโมยแล้วก็ถูกตำรวจจับ ติดคุก ติดตะราง เพื่อนฝูงก็ไม่ชอบ เป็นบาป เป็นกรรม อย่างนี้หมายความว่า เขาเห็นโทษหรือเปล่า เพียงเท่านี้ เขายังไม่ได้ศึกษาธรรมเลย

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ มันเห็นกันอยู่ได้แล้ว สิ่งที่ไม่ดีใครก็ไม่ชอบ นอกจากจะไม่มีคนชอบ คือคนเราไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะสูง จะต่ำ จะมีความรู้ ไร้ความรู้ อย่างไรก็ตาม จะหลอกลวง หรือจริงใจอย่างไรก็ตาม ลึกลงไปคือเขาต้องนิยมคุณความดี แล้วก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ใครจะชอบ สังเกตได้ นักการเมือง เราพูดในความดีความชั่ว เราไม่ได้ไปชอบเขาเพราะเขามีฐานะมั่นคง ร่ำรวย แต่เขาดีหรือไม่ดี หรือแม้แต่จะเลือก เพราะฉะนั้น ลึกลงไปคือทุกคนชอบสิ่งที่ดี เพราะมันไม่ได้ให้โทษกับใคร แต่ทำได้ไหมมันอยู่ตรงนี้

    เพราะฉะนั้นอย่างคนที่เขาไม่ใช่คำว่า ศีล ไม่ต้องใช้คำนี้ แต่สิ่งนั้นไม่ดีไม่ควรทำ ทั้งกาย ทั้งวาจา อย่าพูดโกหก แล้วเราจะไปบอกว่า เขาเห็นโทษ หรือว่าเขามีปัญญา หรือว่าต้องไปศึกษาเสียก่อนว่า มันเป็นศีล แล้วถึงจะเห็นโทษว่า ถ้าล่วงศีลแล้วถึงจะเป็นอย่างนั้น ถึงแม้ไม่ใช้คำนี้

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง สภาพปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร ทรงแสดงให้เข้าใจชัดเจนในสภาพธรรมนั้นๆ แต่เราไปคิดว่าเหมือนกฎข้อบัญญัติ ถ้าสิ่งนี้ไม่ดีไม่ควรทำ เพราะว่าสอนว่าอย่างนี้ แสดงว่าสิ่งนี้ไม่ดี แต่ถึงจะแสดงหรือไม่แสดง สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น เพียงแต่เราไม่มีปัญญาที่จะรู้ความละเอียดว่า ขณะนั้นมันไม่ใช่เรา มันเป็นสภาพธรรม บังคับบัญชาไม่ได้ ลักษณะของสภาพธรรมก็มีหลากหลาย ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ไม่มีใครชี้แจงอย่างนี้ เพราะเขาไม่รู้ธรรม แต่ก็สามารถจะเข้าใจสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี

    เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม แล้วทรงแสดงละเอียด แล้วก็ทรงบัญญัติ ถ้าเป็นทางกาย ทางวาจา กุศลเป็นไปในอะไรบ้าง ในทานในศีล บุญกิริยาวัตถุอะไร และทรงแสดงความละเอียด ซึ่งเราถึงแม้ว่าไม่ได้ฟัง แต่ว่าทุกคนก็รู้ว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่ดี อะไรที่เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เราไม่มีคำที่จะไปเรียกว่า เป็นศีลหรือเป็นอะไรก็ได้ แทนที่จะเห็นเหมือนเดิม เห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เห็นเป็นสิ่งต่างๆ ก็จะเห็นโดยสติอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ขณะที่กำลังฟัง ขณะที่กำลังฟังที่เข้าใจ มีสติด้วย ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ใครจะรู้หรือไม่รู้ สติก็เกิดกับกุศลจิต แล้วไม่ใช่แต่สติอย่างเดียว โสภณเจตสิกอื่นๆ อีก ๑๙ ประเภท รวมทั้งสติก็จะต้องเกิดกับจิตที่เป็นกุศลทุกขณะ มีทั้งหิริ มีทั้งโอตตัปปะ ซึ่งไม่มีใครรู้เลย แต่มี

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้ธรรมว่า เป็นธรรม ก็คือเมื่อฟังแล้วเข้าใจ แล้วก็เป็นปัจจัยให้มีสติปัฏฐาน คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง ถึงเฉพาะลักษณะของธรรมทีละลักษณะ จนกระทั่งสามารถจะประจักษ์ทุกขลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะที่เกิดดับได้

    เพราะฉะนั้น ทุกข์ของพระอริยบุคคลซึ่งเป็นการรู้ทุกขอริยสัจจะ ไม่ใช่รู้ทุกข์อย่างที่ชาวบ้านรู้ว่า เป็นคนนั้นเป็นทุกข์ เรื่องนั้นเป็นทุกข์ วันนั้นเป็นทุกข์ แต่เป็นธรรมที่เกิดแล้วดับ จึงเป็นทุกข์


    หมายเลข 9339
    21 ส.ค. 2567