ทุกข์ สมุทัย มีปรมัตถธรรมอะไร
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมรืกา ๔๗
ผู้ฟัง ทุกข์ สมุทัย นี้มีปรมัตถธรรมอะไร คือ ทุกข์ สมุทัย
ท่านอาจารย์ ต้องทราบ เวลาที่เราเรียนธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมมี ๔ อย่าง ๑. จิต ๒.เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน ถ้าจำได้ก็เรียงได้แล้ว จิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่ยาก แค่นั้นเอง แต่ว่าต้องรู้จริงๆ ว่า ถ้าเราศึกษาพระไตรปิฎก ก็คือศึกษาสภาพธรรมที่มีจริงๆ คือขณะนี้มีจิตจริงๆ แล้วก็มีเจตสิกจริงๆ แล้วก็มีรูปจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรจะพ้นจากปรมัตถธรรมเลย ถ้าเราจะพูดถึงหมวดหนึ่งหมวดใด อย่างทุกข์ได้แก่ปรมัตถธรรม อะไร ต้องรู้ ไม่ใช่ทุกข์ลอยๆ แต่ทุกข์คือการเกิดขึ้น และดับไป
เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้น และดับไปของอะไร ที่ว่าเป็นทุกข์
ผู้ฟัง เป็นการดับไปของจิต เจตสิก และรูป
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น สติจะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป แต่ว่าสำหรับปัญญาขั้นต้นที่เราเริ่มเรียนปรมัตถธรรม เรามีความเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วธรรมต่างกันเป็น ๒ ชนิด คือ ธรรมประเภทหนึ่งเป็นรูปธรรม ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ส่วนธรรมอีกประเภทหนึ่งเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ เพราะเหตุว่าเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ได้แก่ จิต ๑ เจตสิก ๑ นามธรรมมี ๒ อย่าง เวลาที่จิต เจตสิกเกิด แล้วจะไม่รู้อะไร เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นธาตุรู้ก็ต้องเกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้น เราก็รู้ได้ ว่าสภาพธรรม มี ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม เวลาที่เราจะอบรมเจริญปัญญา เราไม่ได้ไปรู้ชื่อเลย แต่เรารู้ความต่างกันของสภาพธรรม ๒ อย่าง ไม่ต้องไปแยกว่า เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก เพราะเราไม่เคยรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วจะไปรู้ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิกไม่ได้ แต่ต้องรู้สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ เป็นธรรมที่เป็นนามธรรม เพราะเหตุว่าไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลย ถ้าใช้คำว่านามธรรม ไม่มีรูปสักรูปเดียวที่จะเจือปนในนามธาตุนั้นได้ ไม่มีสี ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่สามารถที่จะเห็น ไม่สามารถที่จะได้ยิน ไม่มีกลิ่นที่จะให้รู้ แต่เป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้
ยากไหมที่จะแยกนามธาตุออกจากรูปธาตุ เพราะว่ามีพร้อมกันในขณะนี้ ทั้งนามธรรม และรูปธรรม แต่จากการฟังเข้าใจว่า นี่ก็เป็นธรรม นั่นก็เป็นธรรม แต่มีธรรมที่ต่างกัน ๒ อย่าง
เพราะฉะนั้น สติก็เริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ เมื่อมีปัจจัยที่จะระลึก สติก็เกิดระลึก แล้วค่อยๆ ศึกษา เข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม เข้าใจลักษณะที่เป็นรูปธรรมว่าต่างกัน โดยไม่มีคำ ไม่มีชื่อว่าต้องไปเรียกว่า นี่กำลังนามธรรม หรือนี่เป็นรูปธรรม อย่างนั้นเป็นขณะจิตซึ่งกำลังนึกถึงคำ ไม่ใช่เป็นการศึกษาลักษณะของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ด้วยว่า เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน คือ การที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมด้วยปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจก่อนว่า เป็นธรรมที่มีลักษณะใด
เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องตามลำดับขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะมีปฏิบัติโดยไม่มีปริยัติ ได้ไหม ไม่มีการศึกษาเลย แล้วไปปฏิบัติ ได้ไหม ไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย เพราะไม่เข้าใจความหมายของปฏิบัติ แล้วก็เข้าใจผิด คิดว่าปฏิบัตินี่คือทำ ก็เลยจะทำกัน แต่ไม่ใช่ เป็นการอบรมปัญญา ให้มีความเห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม
เห็นโลภะไหมคะ ทุกขสมุทัย แล้วเห็นโลภะอะไร แล้วไม่เห็นโลภะอะไร
ผู้ฟัง บางครั้งก็เห็น บางครั้งก็ไม่เห็น เพราะว่าบางครั้งเวลาที่ว่า สติที่เกิดระลึกสภาพนี้อยู่ก็คิดว่า เพราะฉะนั้นเห็นสี แต่พอไม่มีสติ อย่างเช่นเวลากินข้าว บางครั้งก็รู้ เมื่อรู้ว่านี่กำลังพอใจในสิ่งที่ทาน ถ้าทานไปเรื่อยๆ สติเวลาไม่เกิดก็ไม่รู้ว่า สภาพที่อยู่นั้นเป็นโลภะ แต่คิดว่าน่าจะมี
ท่านอาจารย์ ถึงเห็นโลภะ ก็ไม่เห็นว่าโลภะเป็นสมุทัย เพราะฉะนั้น กว่าจะเห็นว่าโลภะเป็นสมุทัย ต่อเมื่อชินกับลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วมีความติดข้องในนามธรรม และรูปธรรมนั้น จึงจะเห็นได้จริงๆ ว่า ความติดข้องนี่เองที่เป็นเหตุให้ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ จนกว่าจะค่อยๆ คลายโลภะ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงจนถึงการรู้แจ้งอริยสัจที่ ๓ นิโรธสัจจะ คือ นิพพาน ต้องถึงด้วยการละโลภะ ด้วยการรู้ว่า โลภะเป็นอย่างไร เป็นเครื่องกั้นอย่างไร
ที่เรากำลังพูด เราพูดถึงปัญญาที่สามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเรากำลังเรียนเรื่องธรรมทั้งนั้นเลย เรียนเรื่องโลภะเป็นสมุทัย ไม่มีใครไม่รู้ บอกได้ เพราะว่าโลภะมี มีความติดข้อง เพราะฉะนั้น ก็ยังต้องวนเวียนอยู่ เมื่ออยากจะให้มีสิ่งใด สิ่งนั้นก็ต้องมีตามความประสงค์ ตามความอยาก ซึ่งเป็นความติดข้อง ไม่พ้นไปจากสิ่งนั้นได้ แต่นี่เป็นเรื่องของโลภะ
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของธรรม รู้จริงๆ ก็ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิด ซึ่งเป็นเบื้องต้นที่จะให้เกิดวิปัสสนาญาณ แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาที่จะรู้ความจริงแม้แต่ทุกขอริยสัจจะ ก็จะรู้ไม่ได้ ที่จะไปรู้สมุทัย ก็จะรู้ไม่ได้ เพราะยังมีโลภะอยู่ ยังติดข้องอยู่ เพราะฉะนั้นความติดข้องจะละเอียดขึ้น ที่จะรู้ว่า ขณะนั้นติดข้องไม่ติดข้อง อย่างธรรมดาเราบอกว่า เราติดข้องในรูปทั้งหมดมาเป็นเรา เรายึดถือรูปว่าเป็นเรา แต่เวลาสภาพธรรมปรากฏ มันไม่ใช่ตัวเราทั้งหมด แต่ว่าลักษณะของแข็งหรือร้อน แม้ว่าปรากฏโดยสภาวะสภาพที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ เฉพาะอย่างนั้นจริงๆ แต่ก็ยังมีความติดข้องในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น คนนั้นก็รู้เลยว่า ยังมีความติดข้อง แม้ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ยังติดข้อง เพราะฉะนั้น ความติดข้อง ปัญญาจะเห็นความละเอียดขึ้นๆ ๆ ถ้ายังติดข้องในสังขารธรรมทุกอย่าง ก็ไม่มีทางที่จะถึง หรือรู้แจ้งนิพพานได้