สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๔๘
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๔๘
ส่วนใหญ่คนเข้าใจว่า พระธรรมที่ทรงแสดง หรือว่าเราไปฟังธรรม หรือธรรมเทศนาเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แต่ว่าธรรมมีความหมายหลายอย่าง แต่เมื่อเราจะศึกษาพระไตรปิฎก แต่จะเห็นว่า พระไตรปิฎกมี ๓ ส่วน พระวินัยปิฎกส่วนหนึ่ง พระสุตตันตปิฎกส่วนหนึ่ง พระอภิธรรมปิฎกส่วนหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ที่ใช้คำว่า “ธรรม” ที่นี่ ที่เรากำลังเรียน หมายความถึงธรรมที่มีจริงๆ แต่ว่าคำว่า “ปรมัตถธรรม” มาจากคำ ๓ คำ รวมกัน คือ ปรม ภาษาไทยเราใช้ บอ เป็นบรม เราไม่ใช้เป็น ปอ และ อรรถ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นความหมาย เรื่องราว คำว่า “อรรถ” แล้วก็ธรรม คือ สภาพที่เป็นธาตุหรือเป็นสิ่งที่มีจริง เวลาที่เราพูดถึงธาตุ ทุกคนก็เข้าใจเราหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วแต่ว่าจะแยกไปเป็นธรรมอะไร หรือธาตุอะไร แต่สำหรับปรมัตถธรรม ให้ทราบว่า ธรรมหมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง แต่ถ้ากล่าวอย่างนี้มันก็แคบไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ถ้าจะอธิบายเพิ่มเติมก็คือว่า อรรถ ลักษณะหรือความหมายของสิ่งนั้นต้องมี ที่เราสามารถที่จะบ่งหรือบอกว่าธรรมนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าเป็นธรรม แต่ไม่มีลักษณะที่จะให้รู้ได้ แต่ว่าธรรมแต่ละลักษณะที่เป็นสิ่งที่มีจริง มีอรรถ มีความหมายของสภาพธรรมนั้นๆ ที่เราสามารถที่จะกล่าวถึงลักษณะนั้นได้ ให้รู้ได้ แล้วคำว่า ปรม ก็คือใหญ่ ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะสภาพธรรมนั้นได้เลย อย่างเสียง ก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง มีลักษณะที่เรารู้ว่าเป็นเสียง ไม่ใช่รส ไม่ใช่กลิ่น กลิ่นก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง มีอรรถ มีความหมายว่า สภาพนี้ต้องกระทบจมูกจึงปรากฏ ลักษณะของกลิ่น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงปรมัตถธรรมก็คือว่าเป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีสัตว์ บุคคล เรื่องราว เหมือนอย่างในพระสูตร ถ้าในพระสูตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะทำอะไร ท่านพระสารีบุตรทำอะไร ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเมื่อไร นั่นคือเรื่องราว แต่ในพระสูตรก็มีธรรมทั้งหมด แต่ว่าโดยนัยที่กล่าวถึงบุคคล แต่ว่าสำหรับสำหรับพระอภิธรรมหรือ ปรมัตถธรรม มี ๗ คัมภีร์ คัมภีร์เดียวที่กล่าวถึงบุคคลต่างๆ แต่ว่าบุคคลต่างๆ ก็คือว่า ต้องมีปรมัตถธรรม จึงจะมีสิ่งที่เราสมมติเรียกว่าเป็นบุคคลได้ ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม เราจะสมมติเรียกได้ไหมคะ ว่าคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ เราก็สมมติเรียกไมได้
เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง จะใช้คำว่าอภิธรรมก็ได้ เพราะว่า อภิ ก็หมายความถึง ยิ่ง ใหญ่ แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เปลี่ยนแปลงลักษณะสภาพธรรมไม่ได้ แต่ว่าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น ที่เราเรียน กำลังศึกษา คือ ธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นอภิธรรม เราเรียนเรื่องคนหรือเปล่า เราเรียนเรื่องโต๊ะ เก้าอี้หรือเปล่า เราเรียนเรื่องธรรม สิ่งที่มีจริงๆ ไม่เรียกชื่อได้ไหมคะ สิ่งที่มีจริง ถึงไม่เรียกสิ่งนั้นก็มี เพราะฉะนั้น เมื่อความจริง คือ ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็แล้วแต่ว่าใครจะสมมติเรียกอะไร ในภาษาอะไร เปลี่ยนชื่อได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรม
ที่ตัว เคยเป็นเราทั้งหมด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่ถ้าศึกษาแล้วเป็นอะไร เป็นธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นอภิธรรม เพราะฉะนั้น คนที่เขาบอกว่า เขารู้ธรรม แต่เขาไม่รู้ปรมัตถธรรมได้ไหม ไม่ได้เลย พูดได้อย่างไร ถ้ารู้จักธรรมก็ต้องรู้ธรรมนั้นเป็นปรมัตถธรรม แล้วก็เป็นอภิธรรม
ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ สังเกตคำว่า ๑ จิต ๑ ไม่ใช่อย่างอื่นเลย เจตสิกก็ ๑ ไม่ใช่อย่างอื่น รูปก็ ๑ นิพพานก็ ๑ ปะปนกันไม่ได้ คำว่า ๑ นี่แยกออก จิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูปไม่ใช่นิพพาน รูปก็เป็นรูป ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน นิพพานก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป
เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมแท้ๆ ไม่เกิน ๔ มีใครคิดว่ามี ๕ บ้างไหม ไม่มี แต่ความหลากหลายมากมายมหาศาล ซึ่งจะต้องเข้าใจความจริงของสิ่งซึ่งเราคิดว่าเรารู้ แต่ความจริงเราไม่รู้ เราเพียงแต่มีชื่อให้เราเรียก แต่เราไม่ได้เข้าใจจริงๆ
อย่างคำว่า “จิต” เราใช้บ่อยในภาษาไทย เราอาจจะใช้คำว่า “ใจ” ด้วย อาจจะใช้คำว่า มโน มนัส หทย หลายคำ แต่ความหมายเหมือนกัน วิญญาณก็คือจิต เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษา เขาก็ไปสร้างหนังเรื่องวิญญาณล่องลอย แต่วิญญาณล่องลอยไม่ได้แน่นอน เพราะเหตุว่าในบรรดาปรมัตถธรรมทั้ง ๔ จิตเป็นนามธรรม เจตสิกเป็นนามธรรม นิพพานเป็นนามธรรม รูปเท่านั้นที่เป็นรูปธรรม เราต้องเข้าใจตั้งแต่พื้น ตั้งแต่ขั้นต้น ให้ทราบความหมายที่ต่างกัน เพราะว่าถ้าไปแยกธรรมออก อย่างใหญ่ๆ คือ ทุกอย่างเป็นธรรม จริง แต่หลากหลายมาก และมีต่างประเภทมาก เพราะฉะนั้น ถ้าแยกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ ประเภท คือ นามธรรมกับรูปธรรมก็ได้ การแสดงธรรมแสดงได้หลายนัยมาก แต่อันนี้จะกล่าวตั้งแต่ต้นว่า ธรรมแยกประเภทใหญ่ๆ เป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม รวมกันก่อน รูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เกิดขึ้นปรากฏให้รู้ลักษณะของรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เกิดขึ้นจริง มีจริง แต่รู้อะไรไม่ได้เลย อย่างแข็ง ถ้าไม่เกิด จะมีแข็งไหม กลิ่นถ้าไม่เกิด ก็ไม่มีอีก
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ว่ามี เพราะว่าเกิดขึ้น แต่การเกิด ถ้าคนไม่รู้ก็คิดว่า ธรรมดาๆ แต่ผู้รู้สามารถที่จะรู้ว่า อะไรเป็นปัจจัยทำให้สิ่งนั้นเกิด รูปแต่ละชนิด หรือว่านามธรรมก็ตาม
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นให้แยกรูปซึ่งเราก็คงจะมีความเข้าใจง่ายกว่า เพราะว่าหมายความถึงสภาพธรรมที่มี แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่รูปต้องเป็นรูป ถ้าศึกษาธรรมแล้ว หมายความว่าศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ แสดงเรื่องของสภาพธรรมทุกอย่างที่มีจริงๆ โดยการตรัสรู้ ไม่ใช่โดยการไตร่ตรอง คิดเอา เทียบเคียง หรือประเมินเอา แต่ต้องเป็นเพราะตรัสรู้ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นๆ จึงทรงแสดงตามความจริงอย่างนั้น รูปมองไม่เห็นหรือต้องมองเห็นถึงจะเป็นรูป ถ้าไม่ศึกษาจะบอกว่าต้องเห็น แต่ถ้าเราศึกษาแล้ว รูปที่มองไม่เห็นก็มี คือ สภาพใดๆ ทั้งสิ้นจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม เมื่อเกิดมี แต่ว่าไม่รู้อะไร อย่างกลิ่น เรามองไม่เห็นแน่นอน แต่มีกลิ่น เพราะฉะนั้น กลิ่นเป็นอะไร เป็นรูป เพราะกลิ่นไม่เสียใจ กลิ่นไม่โกรธ ไม่ใช่นามธรรมเลยเป็นรูปธรรม รส มีจริงๆ แต่ถ้าไม่มีชิวหาปสาท ไม่มีทางที่จะให้จิตลิ้มรสเกิดขึ้น เราจะรู้ไหมคะ ไม่รู้ เพราะฉะนั้น แม้ว่ารูปต่างๆ มี แต่ก็ต้องมีทางที่จะรู้รูปนั้นด้วย อย่างรส ในกล้วย ปอกเปลือก พอถึงเวลารับประทาน จะซ่อนเร้นอยู่ตรงไหน ชิวหาปสาท สามารถเป็นทางที่จะทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นลิ้มรสนั้นได้ อย่างทุเรียน ก็แปลก มีหนาม มีเปลือก อะไรเยอะแยะ ก็อุตส่าห์ไปปอก ลิ้มรสข้างในได้
นี่แสดงให้เห็นว่า รส มีปรากฏ เมื่อกระทบกับลิ้น แต่ต้องเกิดขึ้นด้วย สิ่งที่เราลืม แล้วเราไม่เคยรู้เลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม คือ คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีแล้ว แล้วเราไปรู้สิ่งนั้น แต่ความจริงถ้าละเอียดกว่านั้นอีก ต้องไตร่ตรองด้วยความเข้าใจ แล้วก็เวลาเข้าใจ ต้องไม่ลืม เพราะเหตุว่าธรรมจะเกี่ยวโยงกันไปหมด ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขั้นต้น จนถึงสุดท้าย ทุกพยัญชนะที่จะติดตามมา หมายความว่าต้องเกี่ยวเนื่องกับความเข้าใจขั้นต้น หรือขั้นแรก
เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบจริงๆ ว่า รูปถึงแม้มองไม่เห็นก็เป็นรูป แล้วก็ต้องเกิดขึ้นด้วยจึงปรากฏ ไม่ใช่ว่ามีอยู่อย่างที่เราคิด เที่ยง ตั้งอยู่ ไปดูเมื่อไรก็ได้ ไปจับ ไปกระทบเมื่อไรก็ได้ แต่ตามความเป็นจริง อย่างแข็ง ทันทีที่แข็งปรากฏ แข็งนั้นต้องเกิด ถ้าไม่เกิด ไม่มี ปรากฏไม่ได้ แล้วสิ่งหนึ่งซึ่งไมรู้ ถ้าไม่ได้ศึกษา คือ ทันทีที่เกิดแล้วก็ดับ จะใช้คำว่า “ทันที” ก็คงจะได้ แต่ความจริงรูปๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะว่ารูปดับช้ากว่าจิต เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยความรวดเร็วของจิตเป็นเครื่องแสดงว่า รูปนั้นมีอายุเท่าไร ก็คือต้องใช้การเกิดดับของจิตเป็นเครื่องวัดให้ทราบว่า จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ
นี่ก็เป็นสิ่งคร่าวๆ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่ต้องเรียกชื่อ แต่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็เป็นนามธรรมอีกอย่างหนึ่ง