สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๔๙
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๔๙
ท่านอาจารย์ สำหรับนามธรรมต่างจากรูปธรรมโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่อ่อน ไม่แข็ง ไม่เย็น ไม่ร้อน แต่ทุกครั้งที่สภาพที่เป็นนามธรรมเกิดขึ้น นามธรรมหรือนามธาตุต่างจากรูป เพราะเหตุว่าเป็นธาตุรู้หรือเป็นสภาพรู้
คำว่า “รู้” ที่นี่ไม่ได้หมายความว่า รู้อย่างปัญญา แต่หมายความว่ารู้ว่า สิ่งใดกำลังปรากฏทางไหน เช่น ทางตาในขณะนี้ คนตายไม่สามารถจะเห็นได้ ไม่มีจิต เราอาจจะเผินๆ คิดว่า เขามีตา เขามีหู แต่ความจริงไม่ใช่จักขุปสาท ไม่ใช่โสตปสาท ไมใช่รูปที่สามารถกระทบกับสี เสียง กลิ่น รส รูปร่างภายนอกที่เราจำไว้ เหมือนมีตา แต่ว่าจักขุปสาทจริงๆ ที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ เรามองไม่เห็น
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น แล้วก็พิจารณาว่าเป็นความจริงอย่างนั้นหรือเปล่า จึงจะเป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ ถอนความเป็นเรา ความเป็นตัวตนออกจากสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเข้าใจสภาพธรรมยิ่งขึ้น
นี่ก็พอจะเห็นความต่างของนามธรรมกับรูปธรรม แต่ทั้งนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป เกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารธรรม นิพพานไม่เกิด ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นวิสังขารธรรม ปราศจากปัจจัยที่จะปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้น ไม่มีปัจจัยที่จะปรุงแต่งก็เกิดไม่ได้ นิพพานก็เป็นปรมัตถธรรมหนึ่ง ซึ่งต่างจากจิต ต่างจากเจตสิก ต่างจากรูป มีปัญหาหรือมีอะไรสงสัยไหม
ผู้ฟัง มีคำถามครับ คือ ก่อนหน้าที่จะไปถึงรายละเอียด ผมว่าหลายๆ คนอยากจะทราบว่า ทำไมเราถึงต้องเรียนธรรม แล้วธรรมจะช่วยในชีวิตประจำวันเราได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ คนเราเกิดมาแล้วตายไหมคะ ตาย แต่ก่อนตายมีอะไรที่ยั่งยืนบ้าง รสอาหารที่ทุกคนรับประทานเมื่อกี้นี้ อยู่ที่ไหน สี เสียง กลิ่น รส จิตเกิดดับทุกขณะโดยไม่รู้ เพราะฉะนั้น คนรู้กับคนไม่รู้ต่างกัน ถ้าคนที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตน กุศลจิตหรือจิตที่ดีงามของเขาจะเกิดขึ้นมากกว่าคนที่ไม่รู้ไหมคะ นี่คือจุดที่ว่าเป็นประโยชน์ในชีวิต แล้วก็สามารถที่จะถึงที่สุดของปัญญา คือ โลกุตตรปัญญาได้
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ช่วยกล่าวถึงรายละเอียดนิดหนึ่งว่า พอกุศลจิตเกิดบ่อยขึ้นแล้วจะช่วยเราในชีวิตประจำวันเราได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่เราเดือดร้อนทุกคน เพราะกุศลจิตหรือเพราะอกุศลจิต
ผู้ฟัง ทีนี้เรารู้จักตัวอกุศลจิตไหมครับ หรือว่าตัวกิเลส เรารู้จักมันไหม ว่ามันมีสภาพอย่างไร ลักษณะอย่างไร ทำไมมันถึงเกิด ทำไมเราถึงมีทุกข์ เรารู้จักมันไหมครับ
ผู้ฟัง เพราะผมไม่ได้ศึกษาพระธรรม ผมไม่ทราบปรมัตถธรรมว่า ปรมัตถธรรมมีอะไรบ้าง แล้วลักษณะปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ผมก็ไม่ทราบว่าอกุศลธรรม อกุศลจิตเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราเป็นทุกข์บ่อยๆ ขึ้น มากๆ ขึ้น ไม่ทราบถูกต้องหรือเปล่าครับ
ท่านอาจารย์ ถึงเราจะได้ยินคำว่า “จิต” รู้ว่ามีจิต ก็ยังไม่ได้รู้จักจิต รู้จักชื่อ รู้จักเรื่อง แต่ขณะนี้จิตกำลังเกิดดับ กำลังทำหน้าที่ของจิตแต่ละชนิดแต่ละประเภทอยู่
เพราะฉะนั้นกว่าเราจะรู้จักตัวจิตจริงๆ เราฟังเรื่องของจิต เหมือนเราจะรู้จักใครสักคน แต่เราได้ยินเรื่องของเขาเยอะเลย แต่ไม่เคยพบตัว ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า จริงๆ เขาเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หรือจะเป็นอย่างไร เพียงแต่อาจจะนึกภาพ
เพราะฉะนั้น เรารู้ว่ามีจิตกำลังเกิดดับ คนที่ยังไม่ตาย มีจิตเกิดดับ แต่จิตเราพูดเฉยๆ เลยว่า เรามี แต่เราควรจะรู้มากกว่านั้นไหม ใช่ไหมคะ ถ้ามีคนถาม ก็ควรจะรู้ว่าจิตมีลักษณะอย่างไร แล้วขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน ถ้าว่ามี
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะพูดถึงสภาพของจิต เป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย จิตเป็นจิต เป็นธาตุรู้ หรือเป็นสภาพรู้ ซึ่งจะเกิดเมื่อมีปัจจัยเฉพาะจิตแต่ละประเภท สับสนกันไม่ได้ด้วย
เพราะฉะนั้น แม้ว่าจิตจะเป็นธาตุซึ่งเราใช้คำว่า “วิญญาณธาตุ” ธาตุรู้ ก็ต่างกันไป แล้วตอนหลังพระองค์ก็ทรงแสดงโดยนัยของธาตุ สรุปแล้ววิญญาณธาตุมีเท่าไร อะไรอย่างนี้ แต่การศึกษาขั้นต้นก็คือว่า ให้ทราบว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม นามธรรมหมายความว่าไม่ใช่รูปธรรมโดยสิ้นเชิง ไม่มีรูปใดๆ เจือปนในธาตุรู้หรือสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธาตุเลย แล้วนามธาตุที่เกิด คือจิต เมื่อเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ด้วย
เพราะฉะนั้น ในทางธรรม คำที่คู่กัน ก็คือ จิต กับ อารมณ์ จิตเป็นสภาพรู้ อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ ต้องใช้คำว่ากำลังรู้ด้วย อย่างเสียง เวลาที่มีของแข็งกระทบกัน เสียงเกิด ตรงไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ในห้องนี้ก็ได้ ที่อื่นก็ได้ แต่เสียงใดก็ตามที่จิตไม่ได้ยิน เสียงนั้นไม่ใช่อารมณ์ เป็นเพียงสัททะ แต่ถ้าเป็นอารมณ์ เราใช้คำว่า สัททารมณ์ คือ “สัททะ” คำหนึ่งรวมกับคำว่าอารมณ์อีกคำหนึ่ง หมายความถึงเฉพาะเสียงที่จิตได้ยิน
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ละเอียด จะพูดสัททะเฉยๆ หรือสัททารมณ์ ความหมายก็ต่างกัน ถ้าพูดสัททะ คือ สภาพของเสียง แต่ถ้าพูดถึงสัททารมณ์ต้องเฉพาะขณะที่จิตกำลังได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นจึงจะเป็นสัททารมณ์
ถ้าจะรู้ลักษณะของธาตุรู้หรือสภาพรู้ซึ่งแยกขาดจากรูปธรรม ตอนเกิดมาใหม่ๆ ถ้าจิตไม่เกิด จะบอกว่าสัตว์ คน เกิดได้ไหมคะ มีแต่รูปเกิด จะบอกว่าคนเกิดได้ไหม สัตว์เกิดได้ไหม ไม่ได้ ใช่ไหมคะ ปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกของชาตินี้ ต้องมี ทุกคนที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ ถอยกลับไปถึงปฏิสนธิจิต ถ้าไม่มีการเกิดของจิตขณะแรก ขณะนี้ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นของสัตว์ก็คือว่ามีจิต เจตสิกเกิดพร้อมกับรูป ซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน นี่เราก็ไปลึกไปเรื่อยๆ ไม่จำกัด แต่หมายความว่า เพื่อที่จะให้เข้าใจ ลักษณะของจิตโดยถ่องแท้ เราก็อาจจะต้องพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง ก็ค่อยๆ พิจารณาตามไป เวลาพูดถึงเรื่องนามธรรม จะไม่พูดถึงรูปธรรม พยายามที่จะให้เข้าถึงลักษณะจริงๆ ของนามธรรมซึ่งมี แล้วขณะนั้นก็แยกขาดจากรูปตลอด คือว่านามธรรมโดยประการใดๆ ก็ไม่ใช่รูปธรรมทั้งสิ้น แต่เรามีชีวิตอยู่กับรูปธรรมจนชิน แยกไม่ออก อย่างเห็น เราก็ไปนึกถึงสีสันต่างๆ ได้ยินเสียง ทั้งๆ ที่มีธาตุรู้ คือ สภาพที่ได้ยินเสียง เราก็ไปนึกเสียงต่างๆ เราละเลยหรือลืมสภาพของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ยิน โดยที่ไม่มีรูปร่างเลย
เพราะฉะนั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องพูดถึงเพื่อให้เห็นว่า ธาตุรู้ล้วนๆ ไม่ใช่รูปจะมีลักษณะอย่างไร พอที่จะคิดออกไหม เช่นขณะแรกที่ปฏิสนธิจิตเกิด ขณะนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึก เพราะเหตุว่าเป็นเพียงขณะแรกซึ่งเกิด แล้วจิตเห็นก็เป็นวิบากจิต
เพราะฉะนั้น เราเริ่มจะรู้ว่า จิตมีหลายชนิด หลายประเภท เพราะว่าจิตต่างกันมากมาย แม้ว่าจะทรงแสดงไว้ว่ามีประเภท ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง แต่ความต่างโดยละเอียด ต่างกันมากมายกว่านั้น แต่ทรงประมวลไว้โดยประเภทที่แสดงว่า เป็นประเภทใหญ่ๆ อะไรบ้าง อย่างวิบากจิตทั้งหมดก็ต้องเป็นผลของกรรม ถ้าใช้คำว่า “วิบาก”
เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผลของกรรม กรรมมี ๒ อย่าง คือ กุศลกรรมกับอกุศลกรรม วิบากก็ต้องมี ๒ คือ ถ้าเป็นผลของกุศล เราต้องใช้คำเต็มว่า กุศลวิบาก จะพูดสั้นๆ ว่ากุศลไม่ได้ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม เราก็ต้องใช้คำว่า อกุศลวิบาก จะพูดสั้นๆ ว่า อกุศลไม่ได้ เพราะถ้าพูดสั้น หมายความถึงเหตุ คือ อกุศลกรรมหรืออกุศลจิต แต่ไม่ได้พูดถึงวิบาก ถ้าพูดถึงวิบาก ต้องใช้คำเต็มว่า อกุศลวิบาก หรือว่ากุศลวิบาก