สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๕๐


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๕๐


    ผู้ฟัง ผมยังไม่ค่อยเข้าใจหน้าที่ของเจตสิก ช่วยกรุณาอธิบายหน่อยได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ดีนะคะ เพราะว่าเราพูดถึงจิตมาบ้างแล้ว ตอนนี้เราจะได้พูดถึงนามธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ เจตสิก ทีแรกคือธรรม ทั้งหมดเป็นธรรม จิตก็เป็นธรรม เจตสิกก็เป็นธรรม รูปก็เป็นธรรม หมายความว่าเป็นธาตุแต่ละอย่าง เกิดขึ้นจริงๆ ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเจ้าของ หรือว่าไม่มีใครที่จะไปยึดถือว่า เป็นของเราหรือว่าเป็นตัวตนของเรา ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง

    สำหรับจิต นามธรรม มี ๒ อย่างที่เกิดขึ้นคือ จิต ๑ แล้วก็เจตสิกอีกประเภทหนึ่ง จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อย่างเสียง มีเสียงไหมคะ มี จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการได้ยินลักษณะของเสียงที่ปรากฏว่า เสียงนั้นมีลักษณะอย่างนั้น เสียงนี้มีลักษณะอย่างนี้ เสียงไมโครโฟนเมื่อเช้าที่ดังๆ ก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ใครสามารถที่จะรู้ความต่างหรือลักษณะของเสียง จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง รู้แจ้งทีนี้หมายความถึงรู้ชัดในลักษณะที่ต่างๆ กันของอารมณ์ จิตเขามีหน้าที่อย่างเดียว ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น ขณะที่กำลังเห็น ที่เห็นนั้นคือจิต ขณะที่กำลังได้ยิน ที่ได้ยินนั้นคือจิต แต่เจตสิก สภาพธรรมที่เกิดกับจิต เกิดในจิตหรืออาศัยจิต คือ จะไม่เกิดที่อื่นเลย นอกจากเกิดกับจิต ที่ใดที่มีจิต ที่นั่นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าขณะใดที่เจตสิกหนึ่งเจตสิกใดปรากฏให้รู้ ขณะนั้นต้องมีจิตด้วย จะแยกกันไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ในสภาพปรมัตถธรรม ๔ รูปเป็นรูป แต่จิต เจตสิก นิพพานเป็นนาม แต่ว่านิพพานไม่ได้เกิด ไม่มีใครขณะนี้ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ก็ตัดออกไป เพราะว่ายังไม่ถึงระดับปัญญาที่สามารถจะรู้แจ้งนิพพานได้ แต่ถึงไม่มีปัญญาก็สามารถที่จะรู้รูปได้ เพราะฉะนั้น ก็ตัดนิพพานออกไปก่อน ก็พูดถึงปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม เพราะว่าเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง แต่อย่าคิดว่า รออยู่ หรืออะไรอย่างนั้น พร้อม แต่ว่าหมายความว่า เมื่อมีปัจจัยเมื่อไร สำหรับจิตประเภทไหน จิตประเภทนั้นจึงเกิด ถ้ามีปัจจัยที่จะให้จิตได้กลิ่นเกิด เพราะมีกลิ่นกระทบกับฆานปสาทรูป ขณะนั้นจิตได้กลิ่นก็เกิด จิตอื่นก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จิตแต่ละประเภทจะเกิด ต่อเมื่อมีปัจจัยเฉพาะของจิตนั้นที่จะเกิด จิตนั้นก็เกิด แต่เมื่อเกิดแล้วต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์เหมือนจิต แต่ว่าต่างกับจิต คือ ไม่ใช่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ แต่รู้อารมณ์ตามหน้าที่ของเจตสิกแต่ละชนิด เช่น ผัสสเจตสิกเป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ เจตสิกนี้มีละเอียดมาก ถึง ๕๒ ประเภท ถ้าจะรวมจิตเป็น ๑ บางครั้งเราก็ใช้คำว่านามธรรม ๕๓ ก็ได้ เพราะเหตุว่าหมายความถึงเจตสิกแต่ละชนิดมีหน้าที่เฉพาะลักษณะเฉพาะแต่ละเจตสิก ส่วนจิตนั้นอย่างไรๆ จิตชนิดไหนก็เป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เป็นใหญ่ เป็นประธานเฉพาะในการรู้ แต่เจตสิกแต่ละเจตสิกที่เกิดกับจิตแต่ละชนิดก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ๕๒ ชนิด

    ผัสสเจตสิกเป็นเจตสิก เป็นนามธรรมที่กระทบ ถ้าเก้าอี้กระทบเก้าอี้ ไม่ใช่ผัสสเจตสิก แต่ขณะใดที่เห็น จะมีเจตสิกชนิดหนึ่ง คือ ผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ ไม่ทำอื่นเลย นอกจากกระทบ เกิดพร้อมจิตที่รู้อารมณ์ พร้อมๆ กันกับที่ผัสสะกระทบ จิตก็เกิดขึ้นรู้ แล้วแต่ว่าผัสสเจตสิกจะกระทบอะไร ขณะนี้กระทบไม่เหมือนกันก็ก็ได้ บางคนก็คิดนึก บางคนก็ได้ยิน บางคนก็กระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ผัสสเจตสิกกระทบอะไร จิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ผัสสะกระทบพร้อมกัน จิตขณะหนึ่งที่เกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง หรือ ๗ ประเภท

    เวทนาเจตสิก ความรู้สึกในวันหนึ่งๆ ทุกคนมีแน่ แต่ไม่ได้สังเกต โดยเฉพาะ ความรู้สึกที่เป็นอทุกขมสุข ความรู้สึกเฉยๆ แต่จะรู้ความรู้สึกเมื่อเป็นโสมนัส ดีใจ ปีติ ดีใจปลาบปลื้ม เพราะมีเจตสิกที่เป็นปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ความรู้สึกที่สบายทางใจ หรือความรู้สึกที่ไม่สบายทางใจ ความขุ่นใจสักนิดหนึ่ง ความน้อยใจ ความเสียใจ ความกังวลใจ หรืออะไรก็ได้ ที่เป็นความไม่สบายใจทั้งหมด ความตกใจ ขณะนั้นเจตสิกก็ไม่สบายแล้ว ขณะที่กำลังตกใจ เพราะฉะนั้น เวทนาเจตสิก ภาษาไทยเราใช้คำว่า เวด - ทะ - นา แปลว่าน่าสงสารมากๆ ภาษาไทยใช้ภาษาบาลีผิดหมดเลย ใช้ตามใจชอบ แล้วก็เป็นภาษาไทยไป แต่พอศึกษาธรรมต้องเปลี่ยนหมด แทนที่จะพูดว่า เวด ทะ นา ก็ต้อง เว ทะ นา ออกเสียงทุกตัว แล้วเวทนาก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้สึก เป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ ถ้าไม่แยกกายกับใจ แต่ถ้าแยก ทุกข์กาย เวลาปวด เมื่อย คัน อะไรก็แล้วแต่ เจ็บ แต่ใจไม่เป็นทุกข์อย่างนั้นก็ได้ อย่างพระอรหันต์ กายของท่านมีทุกขเวทนาเกิดจริง แต่ใจไม่เดือดร้อน แต่ของคนธรรมดา ถ้ากายเป็นทุกข์ เป็นอย่างไรคะ ใจอาจจะเป็นทุกข์มากกว่ากายอีก เพราะว่าความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าแยกแล้วเป็นเวทนา ๕ ถ้าสุข ทุกข์ เฉพาะกาย สำหรับใจที่เป็นสุข ใช้คำว่าโสมนัส ใจที่เป็นทุกข์ก็ใช้คำว่าโทมนัส ทุกข์กับโทมนัสไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวทนา ๕ เป็นธรรม หรือเป็นเรา เป็นธรรม เมื่อฟัง เมื่อเรียน แต่เวลาเกิดขึ้นเป็นอะไรคะ เป็นธรรมหรือเป็นเรา เป็นเรา

    เพราะฉะนั้น กว่าจะไถ่ถอนความเป็นเราด้วยปัญญา ปัญญาเท่านั้นที่จะไถ่ถอนความเป็นเราออกได้ เพราะว่าเรายึดถือสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะเดี๋ยวนี้ เมื่อวานนี้ ตลอดชาตินี้ และชาติก่อนๆ เนิ่นนานมาแล้วสักเท่าไรก็คำนวณไม่ได้ แสนโกฏิกัปป์ ตกใจไหมคะ นานมาก แล้วกว่าจะถอนออกไปว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเกิดเมื่อมีปัจจัยแล้วดับ เวทนาก็ไม่เที่ยง ทุกอย่างไม่เที่ยง เจตสิกเกิดดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แล้วก็ถ้าเป็นภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่เดียวกับจิต เมื่อจิตเกิดที่ไหน เจตสิกก็ต้องเกิดที่นั่นด้วย

    เพราะฉะนั้น ความต่างกันของจิตกับเจตสิก ก็คือ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ คือ อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ทำหน้าที่อื่นเลย แต่เจตสิกแต่ละชนิดก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ก้าวก่ายกันไม่ได้ อย่างโลภเจตสิกจะไปทำหน้าที่ของโทสเจตสิกก็ไม่ได้ หรือว่าปัญญาเจตสิกจะไปทำหน้าที่ของสติเจตสิกก็ไม่ได้ หิริเจตสิกจะไปทำหน้าที่ของศรัทธาเจตสิกก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น รวมทั้งหมดก็มีเจตสิก ๕๒ ชนิด และจิตเมื่อมีเจตสิกประกอบต่างๆ กันก็เป็น ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภท เรามีไม่ครบเพราะว่ารวมจิตของพระอรหันต์ด้วย ภพภูมิต่างๆ ด้วย


    หมายเลข 9343
    21 ส.ค. 2567