สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๕๒


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๕๒


    ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้เหตุผลที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องเพื่อปัญญาเราจะได้เจริญขึ้น เวลาที่ลักษณะของโลภเจตสิกเกิด สติระลึกได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ เพราะว่าปรมัตถธรรมทั้งหมดเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน โลภเจตสิกเป็น ๑ ในปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น เราสามารถจะรู้ได้ ถ้าสติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างต้องค่อยๆ พิจารณาในเหตุผล ไม่อย่างนั้นพอเราดูอย่างนี้แล้วเรากลัว นี่บอกให้เว้น ไม่ใช่ทุกขสัจ ไม่รวมอยู่ในทุกขสัจ เพราะฉะนั้น ไม่มีการพิจารณา เป็นเครื่องกั้นปัญญาไม่ให้เจริญ เพราะว่าขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจด้วยที่ทรงแสดงอริยสัจ โดยเหตุ และโดยผล โดยกิจ โลภมูลจิตเกิดหรือโลภเจตสิกเกิด อย่ากลัว หรือไม่กล้าที่จะระลึก แต่ต้องรู้ความจริงว่า อะไรเป็นสมุทัย

    นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะรู้ว่าโลภะเป็นสมุทัย เป็นเหตุ ความติดข้องที่เราอยู่ในสังสารวัฏฏ์นานแสนนาน ก็เพราะตัวนี้ ความติดข้องในทุกอย่างที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น โลภะก็เป็นสิ่งที่ควรละ ควรจะต้องรู้ว่าเป็นสมุทัย เพราะว่าเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ แน่นอนที่สุด คือ เป็นเรา ละไม่ได้เลย ทันทีทันใดไม่ได้ สักกายทิฏฐิ ไม่ว่าจะเป็นธาตุไฟที่กำลังปรากฏที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายนี้ ก็เป็นเรา แม้แต่เพียงสภาพร้อน ก็เหมือนธรรมดาปกติ เวลาร้อนที่ตัวเราก็ว่าเราแล้ว ฉันใด แต่สภาพหรือธาตุไม่ได้ปรากฏกับปัญญาที่ถึงระดับขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณว่า เป็นเพียงธาตุ สภาพนั้นเป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริงชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะนั้นเท่านั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถึงแม้จะรู้อย่างนี้ปรากฏอย่างนี้ ด้วยเหตุใดวิปัสสนาญาณจึงมีหลายขั้นตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในขันธ์ ทั้งนามขันธ์ ทั้งรูปขันธ์ ทั้งเวทนา สัญญา สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ทั้งหมดเป็นเรา เหนียวแน่นมาก

    เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องอบรมจริงๆ อย่างละเอียดที่จะรู้ทั่ว จนกระทั่งรู้ว่า ขณะนั้นมีเยื่อใย ความต้องการ ความติดข้อง ความเป็นเราอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีอยู่ ก็ไม่ถึงนิพพาน เพราะว่ายังมีความติดข้องในสังขารทั้งหลาย ในสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้จริงๆ ว่า ต่อเมื่อไรรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เคยเป็นเรา มีความต้องการเกิดขึ้นด้วยความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น สำหรับพระโสดาบันท่านไม่ได้ละโลภะอื่นเลย นอกจากโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดที่ยึดถึงสภาพธรรมว่า เป็นเรา หรือเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นคนนั้นก็รู้ว่าไม่ใช่กิจอื่น ทำอย่างอื่น นอกจากเมื่อไรจะค่อยๆ รู้ที่จะคลายความติดข้องที่มีความเห็นผิด เป็นสักกายทิฏฐิในสิ่งนั้น จนกว่าจะหมด เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรละโลภะ จนกว่าจะละได้ ละที่นี่หมายความถึงขั้นต้น โลภะ ที่เกิดร่วมดับความเห็นผิด


    หมายเลข 9345
    21 ส.ค. 2567