สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๕๔


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๕๔


    สภาพธรรมซึ่งเกิดก็ต้องเพราะมีปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ว่าเป็นรูปธรรมก็มีปัจจัยเกิดขึ้น แต่ยังมีธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รูปธรรม แต่มีจริงๆ ถ้าเราพูดถึงธรรม แล้วเรามองหรือเข้าใจในลักษณะที่ว่าเป็นธาตุ คือ ธา - ตุ ธาตุนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย หรือใครจะเป็นเจ้าของธาตุบ้าง โลกธาตุทั้งหมดมีใครเป็นเจ้าของโลกนี้บ้าง ไม่มีใครสามารถจะเป็นเจ้าของธาตุ ไม่มีใครสามารถที่จะเป็นเจ้าของธรรมได้เลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุ ในลักษณะของธาตุ ทั้งรูปธาตุ และนามธาตุ เรารู้เลยว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะเหตุว่าแม้แต่สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รูป ก็มีปัจจัยเกิดขึ้น แต่ธาตุชนิดนี้น่าอัศจรรย์มาก เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นาม น้อมไปที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ไม่ได้เลย เมื่อเป็นนามธาตุต้องเกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้น ความต่างกันของรูปธรรมกับนามธรรม หรือรูปธาตุกับนามธาตุ ก็คือ รูปธรรมหรือรูปธาตุไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่ธาตุอีกชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรมหรือนามธาตุ เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้ไม่ได้

    สำหรับนามธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ จิต กับ เจตสิก ถ้าเราไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรม ไม่มีใครไปรู้จักคำว่า เจตสิก เรารู้แต่ว่าเรามีจิต แต่ถามจริงๆ ว่า จิตอยู่ที่ไหน ตอบได้ไหม จิตคืออะไร ก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่ตรัสรู้ความจริงของธรรม ได้แต่คาดคะเน หรือเขียนตำรับตำราโดยความคิดนึก โดยการศึกษาภาวะของจิตที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน โดยไม่รู้ตัวจริงของจิต แต่ผู้ที่ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ว่า นามธรรมหรือนามธาตุ มี ๒ อย่าง คือ ๑ จิต อีกอย่างหนึ่ง คือ เจตสิก ทั้ง ๒ อย่าง เกิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยกัน และกันเกิด ทุกอย่างในโลกจะเกิดตามลำพังอย่างเดียวไม่ได้เลย นอกจากเราไม่รู้เราก็คิดว่าเกิดเอง แต่ความจริงถ้ารู้ ต้องมีปัจจัยอาศัยกัน และกันเกิด อย่างจิตเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ เมื่อจะเกิดต้องอาศัยนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเรียกสภาพธรรมนั้นว่า เจตสิก ถ้าออกเสียงตามภาษาบาลีก็ต้องเป็น เจ ตะ สิ กะ เพราะฉะนั้น เจตสิกะ ก็หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เกิดในจิตด้วย ไม่ได้เกิดที่อื่นเลย เจตสิกจะมาเกิดตามโต๊ะ ตามเก้าอี้ไม่ได้ ถึงจิตเองในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เราอาจจะชินหู เพราะเราเป็นคนไทยเคยไปวัด รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แต่เมื่อศึกษาแล้วต้องศึกษาตลอดตั้งแต่ต้น คือ ต้องรู้ว่าเป็นธรรม แล้วต้องรู้ว่า แต่ละคำ แต่ละชื่อ ชื่อไหนเป็นรูปธรรม ชื่อไหนเป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น สำหรับจิต เวลาจะเกิด ต้องเกิดโดยมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วเจตสิกก็ต้องเกิดกับจิต เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด ลองคิดดู โกรธมีจริงไหมคะ เกิดกับจิตบางครั้ง ไม่ได้เกิดตลอดวัน เพราะฉะนั้น โกรธเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เสียใจ เคยเสียใจไหมคะ ตลอดวันหรือเปล่า จิตเกิดดับตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าเจตสิกต่างๆ เกิดกับจิต เดี๋ยวเจตสิกชนิดนั้นเกิดกับจิต เดี๋ยวเจตสิกชนิดโน้นเกิดกับจิต ก็ทำให้จิตต่างกันเป็น ๘๙ ประเภท แต่สำหรับเจตสิกเองมี ๕๒ ชนิด อยู่ในหนังสือ อ่านได้ เมื่อไรก็เปิดขึ้นดู ค่อยๆ ศึกษาไปก็จำได้ แต่ต้องเข้าใจพื้นฐานอย่างดี ไม่อย่างนั้นการศึกษาต่อไปจะไม่เข้าใจธรรม แล้วก็คิดว่าธรรมก็เป็นแต่เรื่องยุ่งๆ เดี๋ยวก็พูดอย่างนั้น เดี๋ยวก็พูดอย่างนี้ เดี๋ยวก็พูดเรื่องสังขารธรรม เดี๋ยวก็พูดเรื่องสังขารขันธ์ เดี๋ยวก็อัพยากตะ เดี๋ยวก็กุศล อกุศล ความจริงไม่ใช่ทำให้เรางง แต่เป็นเครื่องสอบความเข้าใจของเราว่า เราเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมั่นคง ถ่องแท้ ละเอียด ประกอบด้วยเหตุผลแค่ไหน ไม่ใช่เป็นการจำชื่อ

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า เจตสิกมี ๕๒ ชนิด เกิดกับจิตต่างขณะ ต่างประเภท จึงทำให้มีจิตถึง ๘๙ ชนิด

    แล้วคำที่ได้ยินเมื่อกี้นี้ คือ สังขารธรรมกับสังขตธรรม จริงๆ แล้วภาษาไทยเราใช้ภาษาบาลีเยอะ อย่าไปคิดว่ายาก ชื่อคนไทยภาษาอะไรคะ ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลีทั้งนั้นเลย แต่ว่าเราจะต้องศึกษาก็คิดว่า ทำไมยาก ทำไมยุ่ง ทำไมมีเยอะ แต่ความจริงไม่เยอะเลย ต่อไปจะทราบว่า ชื่อแปลกๆ ไม่มาก ชื่อคุ้นหูมากกว่า อย่าง จิต คุ้นหู วิริยะหรือความเพียร เคยได้ยินไหม พิริยะ เคยได้ยินไหม พอ กับ วอ ใช้แทนกันได้ เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ไม่มีใครสักคนตอบว่าเป็นรูปธรรม ใช่ไหมคะ เก่งมาก คือ ทุกคนเข้าใจ วิริยะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง แล้วชีวิตจริงๆ ของเราเป็นเครื่องตรวจสอบ หรือทำให้เข้าใจธรรมว่า ทรงแสดงความจริงในชีวิต ยังไม่ต้องไปนึกถึงคำสอนที่เป็นปรมัตถธรรม แต่ชีวิตจริงเรา เรามีความเพียรไหมคะ ความขยันมีไหม มี จริงๆ แล้วเกิดกับจิตเกือบทุกขณะ เว้นเพียง ๑๖ ขณะเท่านั้น ที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่เป็นสิ่งที่เราไม่รู้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมทำให้เราไม่เดา แล้วก็ไมรู้แคบๆ ชนิดที่ว่า เราคิดเองก็ได้ แต่ว่าความละเอียดของธรรมจริงๆ ทำให้เราสามารถที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตน แล้วก็เริ่มเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ธรรมคือชีวิตประจำวัน วิริยะ ความเพียร ที่เป็นกุศลมีไหมคะ ความเพียรที่ไม่เป็นกุศลมีไหมคะ มีมาก ถูกต้อง

    นี่เป็นเหตุที่เราจะเริ่มแล้วคะ เริ่มว่าในชีวิตของเรา มีจิต เจตสิกเยอะแล้วก็มีรูปธรรมด้วย แล้วอะไรเป็นอะไรอีกที่จะทำให้เข้าใจละเอียดขึ้น ก็จะมาถึงชาติ หรือ ชา ติ การเกิด เพราะว่าถ้าไม่มีการเกิดขึ้น ไม่ต้องรู้อะไรเลย ไม่มีอะไรจะต้องรู้ แต่เมื่อสิ่งนั้นเกิดมี ก็ต้องรู้ให้ละเอียด อย่างจิต เกิดมีขึ้นแล้วทรงแสดงเรื่องชาติ ชา ติ ความเกิดของจิต และเจตสิกว่า ไม่ว่าจะเป็นจิตขณะไหน แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว หรือว่าข้างหน้าต่อไป หรือวันนี้ จิตที่เกิดทั้งหมดจะต่างกันเป็น ๔ ชาติ ไม่ใช่ชาติไทย ไม่ใช่ชาติญี่ปุ่น แต่นี่เป็นชาติของจิต คือ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ชาติกุศล เกิดขึ้นเป็นกุศลก็คือชาติกุศล เกิดขึ้นเป็นอกุศลก็คือชาติอกุศล อย่างเราเกิดเป็นไทยก็ชาติไทย แต่นี่จิตเกิดเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดเป็นกุศลแล้วก็ดับ เปลี่ยนได้ไหมคะ ให้จิตที่เกิดเป็นกุศล เป็นอกุศลได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป แม้กระนั้นความต่างของจิตจะต้องต่างเป็น ๔ ชาติ ถ้าพูดโดยนัยชาติหรือชา ติ แต่การที่จะพูดถึงจิตพูดได้หลายนัย หลากหลายมาก แต่จะเริ่มจากชาติ ๑ คือกุศล ๒ คือ อกุศล ทั้งหมดนี้มีในตำรา แต่คนที่อ่านก่อน ศึกษาก่อน ก็นำมากล่าวเล่าสิบให้ฟังตรงนั้น บ้างตรงนี้บ้าง แต่หนังสือพระไตรปิฎกมีครบทั้งอรรถกถา เพราะฉะนั้น ในวันหลังถ้าใครจะอ่านก็ต้องเจอข้อความเหล่านี้ ทั้งหมดที่ดิฉันกล่าวก็ต้องมาจากพระไตรปิฎก จะไม่ใช่คำที่เราสามารถจะมาคิดขึ้นเอง อธิบายเอง หรืออะไรได้เลย แต่ว่าเมื่ออ่าน เมื่อฟัง เมื่อได้ยิน ต้องพิจารณาให้เป็นความเข้าใจของตัวเอง

    นี่คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม หรือประโยชน์ของการศึกษาวิชาไหนๆ ทั้งหมด ฟังเพื่ออะไรคะ เพื่อให้เข้าใจถูก ทุกวิชา เพราะฉะนั้น พระธรรมก็เหมือนกัน ฟังเพื่อที่จะให้เป็นปัญญาของเราเอง ไมใช่เป็นปัญญาของครูบาอาจารย์ ของคนโน้น ของคนนี้ แล้วเราก็ไปถามเขา นี่เป็นอะไร นั่นเป็นอะไร ไม่ใช่

    เพราะฉะนั้น วันนี้ทุกคนที่ฟังอย่างน้อยที่สุดก็ทราบว่า จิตเจตสิกนี้มี ๔ ชาติ ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ถ้าเป็นอกุศล ก็ตรงกันข้ามกับกุศล ทีนี้กุศลกับอกุศลเป็นเหตุ กุศลจิตที่เกิดเป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผล ไม่ได้มาจากอื่นเลย มาจากกุศลหรืออกุศลที่เกิดแล้ว เป็นกรรม สำเร็จ สามารถที่จะสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ จนกว่าจะถึงกาลที่จะทำให้จิตที่เป็นวิบาก คือ ผลของกรรมนั้นเกิดขึ้น


    หมายเลข 9347
    21 ส.ค. 2567