สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๕๙


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๕๙


    ผู้ฟัง คือเรื่องที่อยากจะถามคือของขันธ์ ๕ ความหมายของขันธ์ ได้ยินได้ฟังมาว่า ที่เรียกว่าขันธ์ เพราะว่าขันธ์เป็นสภาพธรรมที่จำแนกได้ว่าเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายนอก ภายใน หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ใกล้หรือไกล เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่เป็นขันธ์ คือ นิพพานที่เป็นขันธวิมุตติ สามารถจะพูดได้ในนัย ตรงกันข้ามว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถจำแนกว่าเป็นอดีต เป็นอนาคต ไม่สามารถจำแนกว่าเป็นปัจจุบัน หรือว่าภายนอก หรือว่าภายใน หยาบ หรือละเอียด ทราม หรือ ประณีต ใกล้ หรือไกล เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่า นิพพานเป็นสภาพที่ประณีต ก็บอกอย่างนั้นไม่ได้ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงมีคนถามบ่อยเรื่องนี้ หมายความว่าตั้งแต่แรกทีเดียว พอได้ยินอะไรๆ ก็อยากจะรู้ไปหมดเลย ไม่ว่าจะใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ภายนอก ภายใน โดยมากดิฉันจะทิ้งๆ อะไรไว้นิดๆ หน่อยๆ เสมอในหนังสือ บางคำถามก็ไม่มีคำตอบ ให้คิดเอง เพราะฉะนั้น ที่เก็บมาส่วนน้อย แล้วก็อยากให้ทุกคนที่เริ่มสนใจ ศึกษาด้วยตัวเองในพระไตรปิฎก แล้ววันหนึ่งๆ เขาก็จะไปถึงข้อความที่อธิบายตั้งแต่รูปหยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ เวทนาหยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ พวกนี้ สัญญาหยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ เขาจะบอกไว้หมดเลย

    เพราะฉะนั้น เราคิดเอง เราอาจจะคิดนิดๆ หน่อยๆ แต่พอเราไปเจอข้อความนั้นจะมาก แล้วก็ทำให้เราเข้าใจได้ทั่วถึงด้วย แต่ตัวอย่างที่มีไม่หมด ท่านก็ทิ้งๆ ไว้ เหมือนกัน ให้เราคิดเอาเองด้วย อยากคิดเองบ้างไหมคะ เพราะว่าอยากอ่านเอง ค้นคว้าเอง ศึกษาเอง เพราะว่าสิ่งใดที่มีในหนังสือไม่ยาก แต่ส่วนที่เราจะเข้าใจธรรมนี้ยากกว่า ส่วนที่มีในหนังสืออ่านได้

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์พูดว่า เรารู้เพียงแต่เรื่องของลักษณะของโลภะ หรือโทสะ ถ้าเผื่อว่าเราระลึกว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมี อย่างโทสะ ความหยาบกระด้างของจิตมี เวลาเกิดเรารู้ว่า นั่นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้รู้ธรรมที่เป็นโทสะ หรือว่าไม่รู้ลักษณะจิตซึ่งเป็นโทสะ เพียงแต่รู้อาการของโทสะ หรือว่าอาการของโลภะ เราก็รู้ว่าลักษณะนั้นมี แต่จริงๆ ไม่ได้รู้ลักษณะของโลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือโลภเจตสิก หรือโทสเจตสิก เพราะขณะนั้นเราไม่รู้ลักษณะนั้นด้วยสติปัฏฐานที่รู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม แต่อาการของเขามีที่จะให้รู้ แล้วเราก็คิดว่า เรารู้ ขณะนั้นก็เหมือนรู้ แต่ความจริงไม่ได้รู้ตัวจิต หรือเจตสิก หรือลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง แล้วลักษณะที่รู้อาการอย่างนี้ ก็เป็นสติขั้นต้นๆ หรือไง

    ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ กำลังโกรธ รู้ว่าโกรธ เป็นสติหรือเปล่า คนที่โกรธ แล้วรู้ว่าโกรธ ทุกคนรู้ว่าโกรธ แต่ไม่ใช่สติได้ไหม

    ผู้ฟัง ครับ แล้วคนที่เขากำลังโกรธ แล้วก็ไม่โกรธมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ก็เพราะว่าไม่มีปัจจัยที่จะโกรธมากขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังไม่ใช่สติ

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบเลยว่า คนที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะรู้ลักษณะขณะที่สติเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ นี่เป็นขั้นแรก ไม่อย่างนั้นไม่ชื่อว่ารู้ลักษณะของสติ ได้ยินแต่ชื่อสติ เช่นขณะที่ให้ทานก็ต้องมีสติ ถ้าสติไม่เกิด แต่ให้ทานก็มีไม่ได้ ขณะที่วิรัติทุจริตก็ต้องเป็นสติที่เกิดระลึกเป็นไปในศีล มิฉะนั้นการรักษาศีลก็มีไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารู้ลักษณะของสติ แต่ใช้คำนี้ เข้าใจอย่างนี้ว่า ขณะที่ให้ทานต้องมีสติ ขณะที่รักษาศีลต้องมีสติ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสติ จนกว่าเมื่อไรเป็นสติปัฏฐาน เมื่อนั้นก็จะรู้ว่าหลงลืมสติหรือสติเกิด จะมีลักษณะของสติปรากฏที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้ตามความเป็นจริงจริงๆ แล้ว คือ สติระลึก ถ้าสติยังไม่ระลึกลักษณะนั้น เราบอกว่า เรามีโลภะที่กำลังติดข้อง กำลังติดข้องตรงนี้ ตรงนั้นตรงนี้ แต่เราไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะจริงๆ เพียงแต่รู้ว่าติดข้อง แต่ตัวสภาพที่ติดข้อง เรายังไม่รู้ รู้ว่ามีขณะนั้น แต่ไม่ใช่รู้ลักษณะของเขา อย่างสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังปรากฏทางตา เห็น ทุกคนเห็น แต่เห็นเป็นคุณแจ๊ค เห็นเป็นเก้าอี้ เห็นเป็นคนนั้น คนนี้ ก็เป็นเห็น สิ่งนี้ไม่เปลี่ยน แต่จะชื่อว่า เรารู้รูปารมณ์ รู้ลักษณะของรูปารมณ์ หรือว่าขณะนี้เราก็มีรูปารมณ์ปรากฏ แต่เราเห็นเป็นคนอื่น เห็นเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่รูปารมณ์ก็มี ไม่ใช่ไม่มี เห็นด้วยความไม่รู้ กับเห็นด้วยที่ค่อยๆ ศึกษาว่า ลักษณะนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น โดยมากคนจะสงสัยว่า รูปารมณ์เป็นอย่างไร พอได้ยินชื่อรูปารมณ์ หรือสีสันวัณณะเป็นอย่างไร เขาจะเกิดความสงสัย ทั้งๆ ที่เราบอกว่า เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วรู้จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าปรากฏก็ไม่รู้ ทุกคนรู้แข็งมาตั้งแต่เช้าเลย กระทบสัมผัสตลอด แต่ว่าพอรู้แข็งนิดเดียวโดยกายวิญญาณ แล้วก็มีเรื่องราวติดตามมาตลอด เป็นเรื่องทั้งหมดเลย ไม่ว่าเราจะจับขนม หรือว่าแตงกวา หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ มีกายกระทบสัมผัส แต่แตงกวามาแล้ว ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพที่แข็งจริงๆ ในขณะนั้นด้วยปัญญา เหมือนกับเวลาที่เราให้ทานก็มีสติ ทำไมเป็นสติปัฏฐานไม่ได้ สติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมแล้วศึกษา ทีนี่ไม่ได้หมายความว่า เรารู้มาแล้วว่าเป็นรูป เป็นนาม แต่ศึกษาลักษณะซึ่งเรายังไม่เคยรู้ เพียงแต่ฟังมาว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม


    หมายเลข 9352
    21 ส.ค. 2567