สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๖๑


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๖๑


    ท่านอาจารย์ ทีนี้เราก็พูดถึงอกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุ ๑๒ ดวง ถ้าไม่ถึงกับจะเป็นกรรมบถที่จะให้ผล ก็เป็นการสะสม อย่างกาแฟอร่อย ดอกกุหลาบสวย โลภมูลจิตที่เกิดอย่างนั้น ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดวิบากจิต แต่เป็นการสะสมของความยินดี หรืออกุศลทั้งหลายที่สะสม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สืบต่อทางจิตดวงต่อๆ ไป

    ทีนี้เวลาที่เป็นอกุศลกรรมที่ทำแล้ว ย่อมต้องให้ผลเช่นเดียวกับกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ทำแล้วต้องให้ผลแน่นอน ไม่จำเป็นต้องมีเจตสิกที่เป็นเหตุที่ดี คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วย สำหรับโทสะ โมหะ โลภะ เกิดไม่ได้แน่นอน เพราะเหตุว่าเป็นชาติอกุศลอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้น กรรมที่ได้ทำแล้วทั้งกุศลกรรม อกุศลกรรม ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นผลของอกุศลกรรม ๗ ดวง แล้วก็เป็นผลของกุศลกรรม ๘ ดวง เราพูดตรงนี้ก่อน แล้วอย่างไรต้องให้ผลทั้ง ๒ ฝ่าย เป็นอเหตุกจิต คือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ อเหตุกจิตนี้ทุกคนทราบแล้วแน่นอน คุณแจ๊ค เรียนเลยไปแล้ว ใช่ไหมคะ

    ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่า ทำไมกุศลกรรมให้ผลมากกว่า เพิ่มเติมจากอเหตุกกุศลวิบาก ๘ เป็นมหาวิบากอีก ๘ นี่เป็นส่วนที่เราจะต้องพูดถึง เพราะว่าอย่างไรๆ กรรมต้องให้ผลทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ว่าทางฝ่ายของอกุศลวิบากมีเพียง ๗ ทางฝ่ายของกุศลมี ๘ คือ เพิ่มโสมนัสสันตีรณะ สำหรับอารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ดีมาก

    เพราะฉะนั้น การจะได้รับผลของกรรมก็ต้องมีปฏิสนธิจิตแน่นอน ถ้าเป็นผลของ อกุศลกรรมก็เป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก เพราะเหตุว่าอกุศลวิบากมี ๗ ดวงเท่านั้น ใน ๗ ดวงนี้ จิตอื่น เช่น จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก โสตวิญญาณอกุศลวิบาก พวกนี้ ๕ดวง ทำกิจเดียว คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อดับไปแล้วสัมปฏิจฉันนะก็เกิดขึ้น แล้วต่อจากนั้นสันตีรณะก็เกิดสืบต่อ ซึ่งไม่มีจิตอื่นที่จะทำหน้าที่ปฏิสนธิได้ นอกจากอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ทางฝ่ายกุศลกรรมที่ให้ผลเป็นอเหตุกวิบาก ถ้าเป็นกุศลกรรมที่ไม่มีกำลังที่อ่อนมาก ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก แต่ว่าเป็นผู้ที่บ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด นี่ก็เป็นผลของกุศลที่อ่อนมาก แต่ถ้าเป็นกุศลที่มากกว่านี้ ไม่ใช่อ่อนอย่างนี้ ก็ทำให้เกิดมหาวิบากได้อีก ๘ ดวง แต่ไม่ใช่หมายความว่าครบ ๘ มากน้อยต่างกัน ตามกำลังของเหตุ คือ กุศล อันนี้ก็พอจะเห็นเหตุผลได้ ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง อาจารย์ครับ เราก็ทราบว่าสันตีรณอกุศลวิบากก็ทำกิจอยู่ทั้งหมด ๕ กิจ ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ ทำกิจจุติ แล้วก็ทำกิจสันตีรณะทางปัญจทวาร แล้วก็ทำ ตทาลัมพณกิจด้วย สันตีรณอกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ ทำให้บ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด มีอะไรเป็นเหตุ อาจารย์ยกตัวอย่างด้วย

    ท่านอาจารย์ เคยให้อะไรแล้วเสียดายไหมคะ ขณะที่เสียดายเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แต่ผลของกุศลก็ต้องได้รับ ใช่ไหมคะ จากการให้ เพราะฉะนั้น คนที่ให้ทานแล้วเกิดเสียดายภายหลัง เป็นคนที่ได้รับผลของกุศลกรรม มีกุศลวิบาก แต่ไม่ค่อยอยากจะใช้ เหมือนอย่างเศรษฐี ท่านให้ทานแก่ปัจเจกพระพุทธเจ้า แล้วภายหลังท่านก็เกิดเสียดายว่า ท่านเอาสิ่งที่ท่านถวายมาเลี้ยงทาสกรรมกรก็จะดี ท่านก็เกิดเป็นเศรษฐีมั่งมีมาก แต่ไปไหนท่านก็ใช้ร่มเก่าๆ เสื้อผ้าท่านก็เก่าๆ ทุกอย่างก็เก่าๆ เพราะว่าความเสียดายที่ติดมา แม้แต่ในขณะที่ทำกุศลแล้วยังเกิดเสียดาย เพราะฉะนั้น ความเสียดายก็ไม่หายไปไหน เวลาที่ได้รับวิบาก คือ ผลของกรรมท่านก็ยังคงสะสมความเสียดายนั้นอยู่ที่จะบริโภคใช้สอยสิ่งที่ดีต่างๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องของสภาพของจิตตามเหตุตามผล เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นฝ่ายกุศลกรรมอย่างอ่อน ก็จะมีอกุศลกรรมเบียดเบียนได้ ก็ทำให้การให้ผลนั้นไม่เต็มที่ ถึงแม้ว่าจะเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ที่บ้าใบ้พิการบอดหนวก แล้วแต่ประเภทของปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นๆ เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง มโนทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นมโนทวารได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง เป็นมโนทวารได้ไหม ทวารคือทางที่ทำให้จิตเกิด

    ท่านอาจารย์ เกิดอย่างไร จิตก็เกิดอยู่แล้ว ถึงไม่มีทวารจิตเกิดไหมคะ

    ผู้ฟัง จิตเกิดค่ะ

    ท่านอาจารย์ เกิดเป็นอะไรถ้าไม่มีทวาร จิตเกิดเป็นอะไร ทำกิจอะไร ถ้าไม่อาศัยทวารจิตก็เกิดได้ แต่จิตที่เกิดโดยไม่อาศัยทวารนั้นทำกิจอะไร

    ผู้ฟัง ทำกิจปฏิสนธิ ภวังคกิจ จุติกิจ

    ท่านอาจารย์ ก็เก่ง ทีนี้คำถามมาถึงว่า มโนทวาราวัชชนจิตเป็นมโนทวารหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มโนทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาร เพราะว่าเขาทำหน้าที่รำพึงถึงอารมณ์ ทำหน้าที่อาวัชชนกิจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องแยกจิตอีกประเภทหนึ่ง เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ จิตที่เป็นวิถีจิตกับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เราจะไม่งงเลย กี่ภพกี่ชาติก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตาม จิตจะแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้อีก ๒ อย่าง คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับจิตที่ไม่เป็นวิถีจิต ถ้าจิตที่ไม่เป็นวิถีจิต ก็ไม่ต้องอาศัยทวารเลย เกิดได้ ไม่ใช่เกิดไม่ได้ รู้อารมณ์ได้ ไม่ใช่รู้ไม่ได้ แต่รู้โดยไม่อาศัยทวาร เกิดโดยไม่อาศัยทวาร เช่น ปฏิสนธิจิต อย่างที่คุณอ้อยบอก แล้วก็ภวังคจิต จุติจิต เพราะฉะนั้น ต้องทราบความหมายของวิถีจิต คืออะไรคะ

    ผู้ฟัง วิถีจิตเป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร เป็นจิตที่ไม่ใช่ ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต แล้วก็ไม่ใช่จุติจิต

    ท่านอาจารย์ แล้วเกิดขณะเดียวด้วย วิถีเหมือนทางเดินของจิตหลายๆ ขณะที่เกิดสืบต่อกันรู้อารมณ์หนึ่งทางทวารหนึ่ง หลายขณะ วิถีจิตนี่คะ เริ่มตั้งแต่ถ้าเป็นทางปัญจทวาร วิถีจิตแรกที่ลืมไม่ได้เลย คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะฉะนั้น จำวิถีจิตแรกไว้ จะได้รู้ว่า หลังๆ ก็เป็นวิถีจิตเหมือนกัน แต่ต้องเริ่มจากปัญจทวารวัชชนจิต ถ้าเป็นทางปัญจทวาร หมายความว่าจิตดวงนี้ อาจจะใช้คำว่า จากภวังค์มาสู่การรู้อารมณ์ที่กระทบ แต่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ทำกิจอย่างอื่น เพียงเริ่มที่จะรู้สึกว่ามีอารมณ์กระทบ เพราะฉะนั้น เขาไม่มีอารมณ์ของภวังค์ เขาก็รู้ว่ามีอารมณ์กระทบทางหนึ่งทางใด ถ้าเป็นทางตาก็เป็นจักขุทวารวัชชนจิต ทางหูก็โสตทวารวัชชนจิต ถ้าไม่แยกก็เรียกรวมไปว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต วิถีจิตแรก

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า พอเป็นวิถีจิตแรก จะเป็นจักขุวิญญาณทันทีไม่ได้ นี่คือ โดยอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย ที่เราพูดถึงเมื่อเช้านี้ แล้วถ้าเรารู้อย่างนี้โดยละเอียดตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีตัวตนที่จะไปแทรก ที่จะไปสร้าง ที่จะไปทำ ที่จะไปยับยั้ง ที่จะไปเปลี่ยนแปลงภาวะของจิตซึ่งเป็นอย่างนี้ การเกิดดับสืบต่อกัน ไม่มีใครทำได้ แต่สามารถที่จะรู้ สามารถที่จะเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันว่า แต่ละขณะเกิดดับสืบต่อกันเร็วแค่ไหน เกินความคาดหมายที่เราจะรู้ได้ ถ้าเราไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางที่จะรู้ว่า ขณะนี้เกิดดับ อย่างที่กล่าวถึงเสมอว่า รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ขณะนี้ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน เหมือนพร้อมกัน แต่ระหว่างนั้นจิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้น รูปดับเร็วแค่ไหน แล้วถ้าคิดถึงจิตจะยิ่งดับเร็วกว่านั้นสักแค่ไหน แต่ก็ต้องทราบว่า จิตที่เป็นวิถีจิตต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ นี่คือเรื่องอารมณ์ เรื่องทวาร ทราบแล้ว เรื่องวัตถุที่เกิด ทราบแล้วเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น การต่างกันของทวารกับวัตถุก็คือ ทวารเป็นทางที่เกิดมี ๖ ทาง เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑ แล้วต้องรู้ด้วยว่านามนั้น ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ ส่วนวัตถุ ๖ เป็นรูปทั้งหมด เพราะว่าคำว่า “วัตถุ” ที่นี่หมายความถึงที่เกิดของจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดที่อื่นนอกจากที่รูปไม่ได้เลย ต้องเกิดที่รูป กลางอากาศนี่ไม่ได้ ที่นี่ก็ไม่ได้ ต้องเป็นรูปที่เกิดจากรรมด้วย เพราะว่าปสาทรูปก็เกิดจากกรรม หทยรูปก็เกิดจากกรรม

    ผู้ฟัง ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดในปัญจทวารด้วย แต่ไม่ได้เป็นมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ เกิดก่อน แต่ตัวภวังคุปัจเฉทะจริงๆ ไม่ใช่เป็นทวาร เพราะเหตุว่าต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร แต่สำหรับทางใจ เพราะไม่มีจักขุปสาท โสตปสาท ไม่มีรูปอื่นอีกที่จะเป็นทวาร ทางใจก็มีภวังคุปัจเฉทะเป็นทวาร แต่สำหรับทางปัญจทวาร ถ้ามีแต่ภวังคุปัจเฉทะ แต่ไม่มีปสาทรูปก็ไม่สามารถที่จะเกิดได้ที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบ

    ผู้ฟัง ในภูมิที่ไม่มีรูป จิต เจตสิกเขาเกิดตรงไหน

    ท่านอาจารย์ บอกแล้วว่าในภูมิที่ไม่มีรูป ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น มีกรรมที่ทำให้จิตเกิดโดยไม่ต้องเกิดที่รูป เพราะไม่มีรูป

    เรื่องของการเกิดของจิต เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ เฉพาะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เท่านั้นที่จิต เจตสิกต้องเกิดที่รูป แต่ถ้าไม่ใช่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตเจตสิกต้องเกิดโดยที่ไม่ต้องมีรูปเลย เพราะว่าจิต เจตสิกไม่ใช่รูป

    ผู้ฟัง เกิดที่ภพภูมิของเขา

    ท่านอาจารย์ เกิดในภูมิที่เป็นอรูปพรหมภูมิ แถวนี้ไม่มี ที่นี่เป็นที่ของภูมิที่มีขันธ์ ๕

    ผู้ฟัง เท่าที่เรารู้ได้ อย่างอื่นเรารู้ยาก


    หมายเลข 9354
    21 ส.ค. 2567