สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๖๒
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๖๒
ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วที่เราจำเวลานี้ เราเกือบไม่รู้เลยว่า มีสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือสัญญา จำ แต่เป็น เราจำ ทุกครั้งที่เราเห็น ทุกครั้งที่เราได้ยิน เพราะฉะนั้น สัญญาเจตสิกแม้ว่าจะเกิดทำหน้าที่ แต่ไม่มีใครที่จะระลึกรู้ว่า นั่นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่จำ สำหรับเวทนา เรารู้สึก เป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิต ไม่มีใครชอบความรู้สึกโทมนัส ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ หรือความรู้สึกที่อุเบกขา แต่อุเบกขาก็ยังดีกว่าทุกข์กับโทมนัส
เพราะฉะนั้น ที่ต้องการกันมาก คือ สุขเวทนากับโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น เวทนาเกิดในชีวิตประจำวัน แต่ขึ้นอยู่กับว่า เวทนานั้นเกิดกับจิตชาติไหน ถ้าเกิดกับวิบากจิตก็รู้ยาก อย่างจักขุวิญญาณมีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย อุเบกขาเวทนาก็เป็นเวทนาที่เกิดเป็นประจำ นานๆ ก็จะมีเวทนาอื่น เช่น โสมนัส หรือโทมนัสเกิด หรือสุข หรือทุกข์เกิด แต่ว่าตามปกติแล้วก็เป็นอุเบกขาเวทนา ขณะที่ได้ยินเสียง เสียงอาจจะดังมาก แต่ชั่วขณะที่ได้ยิน จิตได้ยินเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา
เพราะฉะนั้น ความรู้สึกในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดสลับกันอย่างเร็ว เวลาที่ได้ยินเสียงดัง ทุกคนตกใจ แต่ขณะที่ได้ยินเสียง แม้เสียงจะดังหรือเสียงจะเบา เวทนาที่เกิดในขณะที่ได้ยินต้องเป็นอุเบกขา แต่เกิดตามมาด้วยมโนทวารวิถีจิต หรือว่าในชวนวิถีจิตนั้นเองที่กำลังได้ยินเสียง โทมนัสเวทนาเกิดขึ้นไม่ชอบในเสียงนั้น เกิดขึ้นเร็วยับยั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นขณะที่เกิดสืบต่อกัน แต่เฉพาะจิตได้ยินต้องเป็นอุเบกขาเวทนา จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรสก็เหมือนกัน เว้นทางกาย จะเป็นเวทนาอื่นไม่ได้เลย นอกจากสุขหรือทุกข์ เพราะเป็นผลของกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่กายก็เป็นสุขเวทนา ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่กายก็เป็นทุกขเวทนา
มีใครไม่มีทุกขเวทนาบ้างคะ ไม่มี มีใครไม่มีสุขเวทนาบ้าง ไม่มี แต่ต้องทราบตามความจริงว่า ทางกายจะไม่มีอุเบกขาเวทนา แน่ใจไหมคะ แน่ใจจริงๆ ไหมคะ ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยทั้งสิ้นว่า ทางกายต้องเป็นอุเบกขาเวทนาไม่ได้ ต้องเป็นสุขหรือทุกข์
ผู้ฟัง มีคนถามว่าทำไม ทางปสาทรูป นอกจากทางกายแล้วเป็นอุเบกขา ก็เหมือนกับค้อนหล่นบนสำลี
ท่านอาจารย์ อันนั้นทางกาย ถ้าทางอื่น อุปาทายรูปกระทบกับอุปาทายรูป ไม่เหมือนกายปสาทรูปซึ่งกระทบกับโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะฉะนั้น การกระทบนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์หรือสุขเวทนา แต่หายสงสัยไหมคะ ถ้าบอกอย่างนี้
ผู้ฟัง คือคำตอบที่ว่า กายวิญญาณมีแค่สุขหรือทุกขเวทนาเท่านั้น ก็คือว่า เพราะว่ากระทบมหาภูตรูป ๓ ไม่เหมือนกับวิญญาณจิตอย่างอื่นที่กระทบอุปาทายรูป แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่
ท่านอาจารย์ สงสัย เพราะว่าขณะนี้ลักษณะของสุขหรือทุกข์ไม่ได้ปรากฏในขณะที่กระทบ เป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง อย่างทางตาก็เห็นธรรมดา อุเบกขาเวทนา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น แต่ทางกายก็ดูเหมือนอย่างนั้น พอกระทบสัมผัสก็ไม่ได้เกิดทุกข์หรือเกิดสุข เหมือนเฉยๆ แต่จากการตรัสรู้ เป็นไปไม่ได้ที่ทางกายจะเป็นความรู้สึกอุเบกขา ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ จะไม่รู้เลยว่า ขณะที่เฉยเป็นทุกขเวทนา หรือว่าเป็นสุขเวทนา เพราะว่าใกล้เคียงกันมาก ถ้าสุขสบายนิดหน่อย สบายนิดเดียวกับทุกข์นิดเดียว เราไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะว่าเราไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่สติระลึก ผมสักเส้นที่กระทบหน้าผาก ผมเบาบางแค่ไหน เล็กแค่ไหนกระทบหน้าผาก รำคาญแล้ว รำคาญทำไม ถ้ามีความรู้สึกสบาย ก็ไม่ต้องรำคาญ แต่ที่เกิดรำคาญ เพราะความรู้สึกรำคาญ ไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้จริงๆ มีทางเดียวคือต้องขณะนั้นเป็นปัญญาที่สามารถที่จะรู้สภาพที่เกิดทางกายว่า เป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา เพราะเราชินมาก กระทบอะไรก็เฉยๆ ทั้งนั้น แต่ความจริงไม่เฉย ชั่วขณะที่ปรากฏ ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด แล้วแต่ว่าจะมากหรือจะน้อย
เพราะฉะนั้น เวทนาก็ปรากฏเป็นเวทนาขันธ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนแสวงหา และรู้ได้ แต่สัญญาแม้เกิด ยากเหลือเกินที่จะรู้ว่าที่พูด มีจิตที่ทำให้เกิดการพูด ก็มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่มีสัญญาเจตสิกจะจำคำที่พูดได้ไหม ไม่ได้ หรือจะทำอะไรก็ตาม อยู่ในครัว แต่จะหยิบมีด หยิบช้อน หยิบส้อม ก็เพราะสัญญาทั้งนั้น ถ้าไม่มีสัญญาเกิดขึ้น ความจำก็มีไม่ได้
เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราเป็นเสี้ยวขณะวินาทีที่เล็กมาก สั้นมาก แล้วก็เกิดดับสืบต่อเร็วจนกระทั่งเราไม่รู้เลยว่า แต่ละเจตสิกได้เกิดขึ้นกับจิต แล้วก็ทำงานของเจตสิกนั้นๆ อย่างไรบ้าง แต่ด้วยการที่ทรงแสดงให้เห็นสภาพที่เป็นอนัตตาทั้งหมด ก็ทรงแสดงลักษณะของเจตสิกทุกชนิด แล้วก็บอกว่า เจตสิกนั้นๆ เกิดกับจิตอะไร แล้วก็ต้องเกิดกับจิตอะไร เช่น ทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา ต้องเกิดกับกายวิญญาณ