สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๖๓


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๖๓


    ท่านอาจารย์ สำหรับเวทนาที่เป็นวิบาก ถ้าเกิดทางกายก็รู้ได้ ถ้าเกิดทางอื่น ยากไหมคะที่จะรู้

    ผู้ฟัง อย่างเช่นอะไรบ้างคะ ที่บอกว่ายากที่รู้

    ท่านอาจารย์ ภวังคจิต ต้องมีแล้ว เวทนา สัญญา เจตนา

    เพราะฉะนั้น เรื่องชาติของจิตเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรารู้ความต่างของเจตสิกนั้นๆ ด้วย หรือแม้แต่ชวนจิต เราก็จะรู้สัญญาที่ต่างกันได้ ถ้าเป็นการที่จำธรรมดาๆ เราไม่ต้องใช้ความเพียรอะไรเลย จำได้จากการเห็นบ่อยๆ แต่ถ้าเป็นการจำเรื่องธรรมที่ต้องคิด เปลี่ยนไปแล้วใช่ไหมคะ ความจำเองก็ต้องมีหลายระดับ ความจำที่เกิดกับปัญญากับความจำที่ไม่ได้เกิดกับปัญญาก็ต่างกัน ปัญญาก็มีหลายระดับ

    เพราะฉะนั้น สัญญาที่จะจำ ที่จะเข้าใจ ตั้งแต่เราเริ่มเรียนคำว่า “ปรมัตถธรรม” หรือ “ธรรม” ก็ต้องมีสัญญา ความจำ ที่จำความหมายของสิ่งนั้นแล้วก็เพิ่มขึ้นอีก จำเรื่องจิต จำเรื่องเจตสิก จำเรื่องต่างๆ

    เพราะฉะนั้น สัญญาก็มีหลายระดับด้วย จนกว่าจะถึงสัญญาที่สามารถที่จะจำลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน คือ จำลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น สัญญาก็จะมีลักษณะที่ต่างกันไป จนกระทั่งถึงสัญญาที่จำการเกิดขึ้น และดับไปของนามธรรม และรูปธรรม

    สำหรับสัพพจิตตสาธารณะทั้งหมดก็จะต้องเกิด แต่ว่าทำหน้าที่ต่างๆ กัน อย่างผัสสะก็กระทบ แต่ก็สำคัญ ไม่กระทบจิต และเจตสิกทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็มีความสำคัญเฉพาะของเจตสิกต่างๆ แต่ละอย่าง เช่น ผัสสะก็สำคัญโดยความเป็นอาหารปัจจัย

    เวทนาสำคัญไหมคะ เป็นขันธ์ที่เป็นเวทนาขันธ์

    สำหรับเจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ ซึ่งทุกคนรู้ อย่างคุณแจ๊คตั้งใจจะทำอะไรบ้าง ตั้งแต่เช้าตื่นขึ้นมาตั้งใจจะฟังเทป หรือว่าอ่านหนังสือ หรือทำอะไรทั้งหมด นั่นคือลักษณะของเจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ ขวนขวายเพื่อจะทำกิจ เพราะฉะนั้น กรรมจึงได้แก่เจตนาเจตสิกเป็นตัวกระทำ เป็นผู้กระทำ เป็นผู้จงใจ ตั้งใจ ไม่ว่าจะเกิดกับจิตชาติอะไรทั้งสิ้น แม้แต่ปฏิสนธิจิตที่เกิด มีทั้งผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา ไม่ว่าเจตนาจะเกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิต ซึ่งเราเห็นว่า เป็นความจงใจตั้งใจที่จะทำกุศล ที่จะทำอกุศลก็ตามแต่ นั่นเป็นสภาพที่เรารู้ได้ แต่เจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบากจิต ไม่มีใครรู้ แต่เจตนาก็ต้องทำกิจของเจตนา แม้ปฏิสนธิจิต เราเลือกไม่ได้ว่าเราจะเกิดที่ไหน หรือว่าจะให้กรรมอะไรให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตประเภทนั้นๆ ชนิดนั้นๆ เกิด เพราะว่าทุกคนมักจะถามว่า ทำอย่างไรก่อนจะตาย จงใจที่จะให้เกิดในที่ดีๆ แต่เป็นไปไม่ได้เลย นั่นเป็นเรื่องความคิดว่า มีตัวตนที่จะกระทำได้ ไม่ได้เข้าใจเรื่องสภาพของธรรมที่เป็นจิต เจตสิกเลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่ว่าเมื่อกรรมหนึ่งกรรมใดในสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมาแล้ว เป็นปัจจัยที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิด ใครก็ยับยั้งไม่ได้ที่จะให้ปฏิสนธิจิตชนิดนั้นเกิดขึ้นพร้อมด้วยเจตนา และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นวิบากทั้งหมดที่เกิดรวมกัน แต่แต่ละเจตสิกก็ต้องทำกิจของตนของตน อย่างเจตนาในขณะที่เกิดกับวิบากจิตรึกุศลจิต หรืออกุศลจิต ก็เป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ ขวนขวายที่จะกระทำกิจนั้น แล้วก็กระตุ้นเตือนสหชาตธรรม คือ เจตสิกอื่นๆ ให้กระทำกิจนั้นด้วย เพราะฉะนั้น เจตนาจึงเป็นกรรม ทั้งที่เป็นสหชาตกัมมปัจจัย และนานักขณิกกัมมปัจจัย คือ การให้ผลหลังจากที่กรรมนั้นได้กระทำแล้ว

    ผู้ฟัง คงจะย้ำอีกทีว่า ความหมายของสหชาตกัมมปัจจัยกับนานักขณิกกัมมปัจจัย ความหมายของสหชาตกัมมปัจจัย ก็คือเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกชาติ สหชาตธรรมกับสภาพที่สัมปยุตต์ด้วย นานักขณิกกัมมปัจจัย เกี่ยวกับกุศลจิตกับอกุศลจิตเท่านั้น ที่มีกำลังแล้วก็จะให้ผลเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากในภายหลัง

    ท่านอาจารย์ การเรียนสังเกตได้ว่ามี ๒ อย่าง เรียนให้เข้าใจ แล้วชื่อตามมาทีหลัง หรือว่าเอาชื่อมาแล้วพยายามเรียนให้เข้าใจชื่อนั้น แต่ถ้าเราเรียนให้เข้าใจแล้ว เรารู้เลยว่า ชื่อนั้นคือนี้แหละ อย่างเจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าเรารู้ ไม่ว่าชาติกุศล อกุศล วิบาก กิริยา เพราะฉะนั้น ชื่อ “สหชาตกัมม” ก็หมายถึงเจตนาที่เกิดพร้อมกับเจตสิกอื่นๆ เป็นปัจจัยให้เจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมกัน กระตุ้นเตือนให้สหชาตเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมกัน ทำงานร่วมกัน พร้อมกันในขณะนั้น หรือว่าเจตนาที่เกิดแล้วดับไปให้ผลหลังจากที่กรรมนั้นได้สำเร็จลงไปแล้ว เช่น ทำอกุศลกรรมวันนี้ ยังไม่ได้มีวิบากจิตเกิดวันนี้ แต่ว่าวิบากจิตข้างหน้าที่จะเกิด เกิดเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น ชื่อนี้เราก็เข้าใจได้ อยู่ที่ความที่เข้าใจของเราที่เข้าใจอยู่แล้วว่า เมื่อกรรมได้ทำสำเร็จลงไปแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยทำให้ผลเกิดขึ้นข้างหน้าได้ นั่นคือ

    นานักขณิกกัมม

    ทราบตั้งแต่ขั้นต้นว่า จิต เจตสิก รูปที่จะเกิดจะต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดตามลำพังไม่ได้ เราก็จะมาเริ่มมาเข้าใจคำว่า “อายตนะ” คือที่เกิด บ่อเกิด ที่ประชุมว่า เมื่อมีสภาพธรรม คือ จิตเกิด ตรงนั้นมีอะไรบ้างที่ขาดไม่ได้ ที่จะต้องประชุมกันเกิดขึ้นตรงนั้น แต่ตอนนี้เราไม่ได้พูดเรื่องปัจจัยเลย ไม่พูดเรื่องสังขารเลย แต่จะพูดเฉพาะตรงที่เกิด นั่นแหละ มีธรรมอะไรบ้าง ต้องเป็นปรมัตถธรรมทั้งหมดจึงจะเป็นอายตนะ เพราะว่ามีตัวจริงๆ อยู่ตรงนั้นจริงๆ รวมกันจริงๆ ประชุมกันจริงๆ ตรงนั้น


    หมายเลข 9356
    21 ส.ค. 2567