สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๖๘
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๖๘
สำหรับโสภณสาธารณเจตสิก แสดงให้เห็นว่า ทุกครั้งที่กุศลจิตเกิด ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิกครบทั้ง ๑๙ ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ถ้าเราดูในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ขณะที่มีจิตคิดที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ขณะนั้นสภาพจิตผ่องใส ไม่ติดข้องในสิ่งนั้น ถ้าเรายังหวง ยังไม่สามารถที่จะสละให้ได้ จิตขณะนั้นต่างกับขณะที่สามารถสละเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น เพราะเห็นแก่ความสุขของคนอื่น ถ้าคนอื่นเขามีสิ่งนี้ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเขา เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด ขณะนั้นต้องประกอบด้วยโสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ แล้วแต่ว่าจะมีเกินไปกว่านั้นหรือเปล่าที่กล่าวถึง เช่น วิรตีเจตสิก หรือว่าอัปปมัญญาเจตสิก หรือว่าปัญญาเจตสิก แต่ต้องมี ๑๙ ดวงแน่นอน
อย่างเวลานี้ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ทันที แต่ต้องหมายความว่า มีการฟัง มีการเข้าใจ แล้วก็มีสัญญาความจำที่มั่นคงว่าปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่เป็นอริยสัจจะ จะไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของอริยสัจจะ จึงมี ๓ รอบ สัจญาณ กิจญาณ กตญาณ
นี่เป็นเครื่องประกอบที่พระองค์ทรงแสดงให้คนที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญามาพอ ไม่ผิด เพราะว่าไม่อย่างนั้นแล้วมีโอกาสที่จะผิดได้มากเลย เช่น เวลานี้มีสภาพธรรม กำลังปรากฏ แล้วเรากำลังฟังเรื่องสภาพธรรม แต่ปัญญาไม่ถึงระดับที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะแม้สติปัฏฐานก็ยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น คนที่มีความเข้าใจจริงๆ ก็จะศึกษา แล้วจะเพิ่มความรู้ความเข้าใจขึ้น และในขณะเดียวกันก็จะต้องเป็นไปด้วยการละ คือไม่ใช่ด้วยความหวัง แต่ว่าเป็นผู้ที่อบรมเจริญเหตุที่จะทำให้เกิดผลอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นแล้วความหวังจะทำให้ทำอย่างอื่น เช่น อย่างนี้ไม่ได้ ไม่เหมาะสม ต้องไปที่โน่น ไปที่นี่ ต้องไปรู้รูปนั้นต้องไปรู้นามนี้ คือไปเลือกไปเจาะจง มีตัวตนที่พยายามจัดสรรด้วยความโลภ หรือด้วยความติดข้อง ซึ่งไม่ใช่ด้วยปัญญาที่รู้แล้วจึงละหนทางปฏิบัติที่ผิดทั้งหมด ซึ่งเป็นสีลัพพตปรามาส ที่เราก็คงจะเคยได้ยิน วันก่อนเราก็พูดกันที่เป็นเรื่องของคันถะ เป็นเรื่องของอุปาทาน เวลาที่เราพูดถึงอกุศลต่างๆ
นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีการศึกษาอย่างละเอียดรอบครอบจริงๆ เราจะมีพระธรรมเป็นสรณะ ใครจะพูดผิดก็รู้ ใครจะพูดถูกก็รู้ได้ เพราะว่าเป็นเหตุเป็นผล แต่ถ้าเราไม่มีการศึกษาพิจารณาอย่างรอบคอบจริงๆ คิดว่าง่ายมากต่อการที่จะรู้สภาพธรรม คือ เพียงแค่นั่งนิ่งๆ จ้องไปจ้องมา สังเกตไปสังเกตมา ก็สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับได้ นั่นก็ผิด แต่ต้องรู้ว่า ปัญญาต้องอบรมตามลำดับขั้นจริงๆ ตั้งแต่ขั้นการฟัง การศึกษาเรื่องนามธรรมรูปธรรม ถ้าใครก็ตามบอกว่า เขารู้อริยสัจธรรม โดยไม่ต้องรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเลย ไม่ต้องศึกษาเลย จะเป็นไปได้ไหม
นี่แสดงให้เห็นว่า แม้การศึกษาก็ยังต้องทรงแสดงไว้อย่างละเอียดรอบคอบในเรื่องของอริยสัจ ถ้าไม่มีความมั่นคงจริงๆ สติปัฏฐาน คือ กิจญาณก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าสติปัฏฐานเป็นสติเจตสิก เป็นโสภณเจตสิก ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ด้วยความจงใจ ไม่ใช่ด้วยการต้องการ
เพราะฉะนั้น เจตนาไม่ใช่มรรคในมรรคมีองค์ ๘ เลย แต่เริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก เมื่อมีความเห็นถูกก็มีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม กว่าจะถึงอย่างนั้นวิปัสสนาญาณต้องเกิดตามลำดับขั้น วิปัสสนาญาณก็คือขณะที่ปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงก็ตรงกับที่เราศึกษา เช่น ทางตาเวลาที่จักขุทวารวิถีจิต เห็น รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จนกระทั่งรูปดับ แล้วก็มโนทวารวิถีจิตก็เกิดต่อ โดยมีภวังค์คั่น
เพราะฉะนั้น ขณะนี้เราเรียน แล้วเราก็รู้ว่า มีมโนทวารวิถีจิตคั่นแทรกจักขุทวารวิถี โสตทวารวิถี มาก มโนทวารหลายวิถี แต่ไม่เคยประจักษ์ลักษณะของมโนทวารวิถีเลย เหมือนกับทางปัญจทวารวิถีไม่เคยดับ แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ จะไม่มีความสงสัยในมโนทวารวิถี เพราะมโนทวารวิถีนี่เองที่ทำให้รูปทั้งหลายที่ปรากฏขณะนี้เหมือนต่อกัน ขาดจากกัน โดยมโนทวารวิถีเกิดคั่น
เพราะฉะนั้น ความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่มี เฉพาะในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ศึกษาอย่างไร ปัญญาก็รู้อย่างนั้นตามความเป็นจริง แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ ไม่ใช่ไม่รู้แล้วไปทำอย่างอื่น เพราะอยากจะรู้ แต่ไม่รู้ก็คือศึกษาต่อไป เพื่อที่จะเข้าใจขึ้นแล้ว แล้วเมื่อไรพร้อมที่สติปัฏฐานจะเกิด สติปัฏฐานก็เกิด แล้วสติปัฏฐานก็ดับ แล้วจะเกิดอีกเมื่อไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ก็ต้องอบรมไปจนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดบ่อยๆ เนืองๆ หรือถึงไม่บ่อย แต่เวลาที่เกิดก็รู้ว่า นั่นเป็นสติปัฏฐาน
อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านก็อบรมบารมีในอดีตมา แล้วเวลาที่ท่านยังไม่ได้ไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สติปัฏฐานของท่านไม่เกิดแน่นอน แต่เมื่อได้ฟังธรรม ท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความห่างกันมากของสติปัฏฐานที่ได้อบรม เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานที่อบรมเพื่อปัญญารู้ชัด ไม่ได้หวั่นไหว สติจะหมดหรือจะเกิดอีกเมื่อไร อย่างไร แต่เมื่อระลึกก็รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ได้อบรมแล้ว
เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการฟังจึงสามารถที่สติปัฏฐานจะเกิด สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ไม่รู้อะไร ค่อยๆ รู้ แต่ก็จะมีความสงสัย แล้วก็มีความไม่รู้คั่นมาก เพราะเหตุว่าอวิชชายังมีกำลังมาก
เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดหน่อยหนึ่ง ยังไม่ทันจะศึกษาให้ประจักษ์ หรือกระจ่างแจ้ง ก็หลงลืมสติต่อไปอีก
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของจิรกาลภาวนา เป็นเรื่องของการที่ต้องอดทน จะเข้าใจความหมายในโอวาทปาติโมกข์ที่ว่า ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอดทนอะไรก็ยังไม่เท่ากับอดทนที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าเป็นเรื่องของความรู้จริงๆ เป็นเรื่องของการเป็นผู้ที่ตรง ไม่ใช่เป็นผู้ที่หลอกตัวเอง โดยที่ไม่รู้ก็เข้าใจว่ารู้ หรือว่าอยากจะรู้ หรือคิดว่าเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ไม่ต้องไปกังวลเลย ว่า วิปัสสนาญาณ เพียงแต่ว่าขณะใดที่สัมมาสติเกิด ขณะนั้นก็รู้ว่าไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ แล้วก็ผู้นั้นจะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะรู้ว่า ตัวเองค่อยๆ รู้
เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณทุกญาณจะเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ความต่างของแต่ละขั้น ถ้าไม่มีการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมด้วยการละ ก็จะเป็นเครื่องกั้น ที่ไม่สามารถจะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมต่อไปได้ ผู้นั้นก็จะเห็นทุกขอริยสัจจะ คือ โลภะ อย่างที่เรากล่าวถึงวันก่อนว่า เว้นอะไรบ้าง แต่ความจริงเวลาที่สภาพธรรมปรากฏก็เป็นนามธรรมรูปธรรม แต่ผู้นั้นเห็นว่าจะต้องละอะไร คือละโลภะซึ่งเป็นสมุทัย ซึ่งเป็นเครื่องกั้นไม่ให้รู้แจ้งนิโรธสัจจะชนิดหนึ่ง