สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๗๐


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๗๐


    ผู้ฟัง เรื่องธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรม คำว่า “อบรมเจริญสติปัฏฐาน” ความเข้าใจเรื่องปรมัตถธรรมที่เราได้ศึกษามามั่นคงพอสมควรก็จะปรุงแต่งให้เราระลึกอยู่เสมอว่า ทั้งหลายเป็นเพียงสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับ เพียงแต่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า เราไม่สามารถที่จะให้ทาน เป็นกุศลได้ตลอดเวลา หรือว่าจะรักษาศีลได้ตลอดเวลา ถ้าหากว่าเราเพียรที่จะให้ทาน รักษาศีล ฟังจากท่านอาจารย์แล้ว พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงแสดงให้พวกเราไปทำอย่างนั้น แต่ให้รู้ว่าในขณะใด จิตที่ไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ก็มีภาวนาให้เราระลึกศึกษาได้ว่า ขณะนี้มีสภาพธรรม กำลังปรากฏ ผมว่าเราก็มาถึงจุดสำคัญจุดหนึ่ง ศึกษามามาก อบรมมามาก พอมาอบรมเจริญเรื่องสติปัฏฐานแล้ว ผมว่าเข้าใจยาก ท่านอาจารย์ ทำอะไรไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ คุณประทีปทำไม่ได้ เพราะว่าเป็นหน้าที่ของจิต เจตสิก ขณะนี้คุณประทีปไม่ได้ต้องการเห็น หรือได้ยิน แต่มีปัจจัยที่จะให้เห็น มีปัจจัยที่จะให้ได้ยิน มีปัจจัยที่จะให้คิด มีปัจจัยที่จะให้วิถีจิตเกิด

    ผู้ฟัง หรือแม้แต่ว่าผมคิดว่า อยู่ว่างๆ ผมก็คิดไปในทางที่จะให้ทานใครบ้าง หรือรักษาศีลบ้าง ก็ไม่เป็นประโยชน์หรือครับท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ทำไมคะ

    ผู้ฟัง เพราะว่าดีกว่าที่ผมจะไปนั่งดูทีวีหรือไป…

    ท่านอาจารย์ ก็แค่คิด จะตักตวงกุศลโดยการคิดหรือไง ไม่ต้องไปทำอะไร ความจริงเป็นอย่างไรก็คือมีปัจจัยที่จะเกิดให้เป็นอย่างนี้แล้วสติก็ระลึก ไม่ใช่ต้องไปนั่งคิดเรื่องจะให้ทานหรืออะไร ถ้าจะให้ก็ให้ จะคิดจะให้ ขณะนั้นก็คือสภาพของนามธรรมที่คิด

    ผู้ฟัง คือบางครั้งขณะที่คิดจะทำ ก็รู้ว่าอันนี้เป็นความคิดอันหนึ่ง เป็นความจริง ก็ได้แต่คิดระลึกถึงอย่างนี้ตลอดเวลาครับ ก็ไม่แน่ใจเลยว่า เข้าใจหรือเดินมาถูกทางไหมที่กระผมได้ศึกษามาครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องฟังให้ทราบเรื่องสติปัฏฐาน คือขณะที่สัมมาสติเกิด ไม่ใช่เรา ให้รู้ว่าขณะนั้นไม่ได้หลงลืม เพราะมีลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมปรากฏ

    คงไม่ต้องถามตัวเองว่า ขณะนี้มีแข็งปรากฏไหม แล้วแต่ว่าขณะนั้นอะไรปรากฏ เราไม่ต้องถามเลยว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏไหม เพราะว่ากำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติจะระลึก ซึ่งต่อไปข้างหน้า เวลาที่มีความเข้าใจเรื่องลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น เราก็ไม่หวัง แต่จะปรากฏโดยความเป็นอนัตตา คือมีการระลึกได้ ที่ใช้คำว่า “สติ” เป็นสภาพที่ระลึกได้ เวลาที่เป็นสติปัฏฐานระลึกได้ที่ธรรมที่กำลังปรากฏ ระลึกได้ที่ลักษณะนั้น อย่างแข็ง เวลาที่กายวิญญาณเกิด นี่โดยตำราก่อน รู้ลักษณะซึ่งแข็ง ซึ่งทุกคนก็รู้ เวลานี้ทุกคนรู้หมด กายวิญญาณมี มีกายปสาท เพราะฉะนั้น ก็รู้ลักษณะที่แข็ง แต่ว่ารู้ทันทีก็เป็นเรื่องไปหมดเลย เป็นคนโน้น เป็นคนนี้ เป็นสตรอเบอร์รี่ เป็นพรม เป็นอะไร แต่เวลาที่รู้ สติปัฏฐานระลึกลักษณะ

    เพราะฉะนั้น พอแข็งปรากฏ มีการที่จะค่อยๆ เข้าใจ ความเข้าใจเป็นปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพแข็ง เป็นธรรมอย่างหนึ่ง บางคนตอนแรกๆ เขาก็จะพูดไปเลย แข็งเป็นรูป เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็แล้วแต่จะคิด แต่ขณะนั้นก็ต้องรู้ว่า ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่รู้ลักษณะที่แข็ง เวลาที่เราเห็นอะไร แล้วเรารู้ว่าเป็นสิ่งใด เราต้องอาศัยกาลเวลาพอสมควร เพราะว่าเราไม่เคยรู้เลย อย่างตอนเป็นเด็ก ก็ไม่เคยรู้เลยว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร จนกระทั่งเราค่อยๆ จำรูปร่าง สัณฐาน แล้วก็รู้ว่าเป็นอะไร ทีละเล็กทีละน้อย มากขึ้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพจริงๆ ของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น นอกจากรูปก็เป็นรูป นามก็เป็นนาม ก็เหมือนกับตอนที่เราเริ่มเป็นเด็กแล้วค่อยๆ รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สัมมาสติเกิด ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ รู้ว่ามี กำลังปรากฏ แต่ว่าตอนที่ระลึกแล้วปัญญาของเราไม่คมชัดพอที่จะรู้ว่า ลักษณะของรูปเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แล้วลักษณะของนามธาตุ คือ สภาพรู้ ก็เป็นเฉพาะขณะที่นามชนิดนั้นเกิด จึงได้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แม้ว่าความจริงจะเป็นอย่างนี้ แต่กว่าปัญญาจะอบรมจนกระทั่งค่อยๆ รู้ว่าเป็นลักษณะนั้น ต้องใช้กาลเวลาที่ยาวนานมาก ซึ่งในพระไตรปิฎกอุปมาว่า เหมือนการจับด้ามมีด ต้องสึกแน่วันหนึ่ง แต่กำลังจับจะไม่รู้เลย ว่าขณะนั้นเริ่มที่จะสึก เพราะมองไม่เห็นเลย กี่วัน กี่เดือน กี่ปี เท่าเดิม บางคนก็กี่ชาติ กี่กัป จนกว่าจะเริ่มค่อยๆ รู้ว่า เวลาที่สัมมาสติเกิดระลึก จะรู้ลักษณะนั้นทันทีได้ว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องค่อยๆ เจริญ ค่อยๆ อบรม เมื่อมีความชำนาญ ก็เหมือนกับพอเราเห็นอะไรเราก็รู้ชื่อ รู้สัณฐานของสิ่งนั้นทันที ไม่ต้องมานั่งนึกว่า สีแดงๆ นี้เป็นอะไร แต่ว่าสามารถที่จะรู้ได้เพราะความจำอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดก็มีสัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมสติที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ว่าช้ายิ่งกว่าการที่จะอบรมการรู้เรื่องรู้ราว รู้ชื่อ อย่างเด็กๆ ที่เพิ่งรู้ เพราะว่าจะต้องใช้เวลาที่นานมาก จากความไม่รู้ในแสนโกฏิกัปป์ ใช้คำที่ยาวมากในอดีตที่ผ่านมา

    เพราะฉะนั้น การที่จะค่อยๆ รู้ สามารถที่จะรู้โดยที่เข้าใจได้ว่า ถ้าสัมมาสติไม่เกิด ไม่มีทางรู้ ทั้งๆ ที่เป็นธรรมก็เกิดแล้วดับแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่สัมมาสติเกิดจึงเป็นขณะที่ปัญญาจะค่อยๆ เจริญ โดยค่อยๆ เข้าใจ ครั้งแรกที่สติระลึก เข้าใจไม่ชัด หรือไม่เข้าใจ แต่รู้ว่า ขณะนั้นสติเกิด มีสภาพธรรมปรากฏซึ่งจะต้องศึกษา ศึกษาที่นี่ไม่มีเรื่องราวเข้ามาปะปนเลย เพราะว่าทันที่ทีนึกเป็นคำ ขณะนั้นจิตที่เกิดต่อไม่ได้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม แต่ว่ามีคำเป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้นก็จะค่อยๆ รู้ตรงกับที่เรียนว่า การที่จะนึกถึงคำ ต่างกับขณะที่กำลังรู้ ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ค่อยๆ ไปเรื่อยๆ เป็นการอบรมเจริญความรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษามาทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นการไปคิดว่ารู้ แต่ว่าไม่สามารถจะรู้ได้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่างคนที่จะไปสู่สำนักหนึ่งสำนักใด แล้วเพียรที่จะปฏิบัติ เขาไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเลย เพราะว่าไม่มีการอบรมเจริญความรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมโดยความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่สอดคล้องกัน เมื่อเรียนว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ไปเป็นอัตตาภิธรรม โดยที่ไม่รู้ความจริงแล้ว สภาพธรรมก็เป็นอย่างนี้แหละ แต่ว่าปัญญาเจตสิก ความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมนั้นต้องค่อยๆ เจริญขึ้น


    หมายเลข 9363
    21 ส.ค. 2567