สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๗๗


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๗๗


    ผู้ฟัง การที่จะศึกษาธรรมเราศึกษาสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ แล้วก็การที่จะศึกษาเรื่องปริยัติให้ละเอียด บางครั้งก็ศึกษาไม่ได้ เพราะปัญญาเราไม่ถึงขั้นนั้น คำถามต่อไปก็คือว่า การศึกษาปริยัติที่จะศึกษาให้อย่างละเอียด ต้องศึกษาถึงขั้นไหนครับ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วศึกษาไม่มีวันจบเลยถ้าจะศึกษา แต่ทีนี้ข้อสำคัญก็คือว่า เราเข้าใจสิ่งที่เราศึกษาได้แค่ไหน เพราะว่าบางคนมีหนังสือเล่มหนึ่งก็อยากจะอ่านจบ แต่ว่ารู้เรื่องแค่ไหน จบจริงแต่ว่ารู้เรื่องแค่ไหน ถ้าเป็นปัจจัย ๒๔ ปัจจัยในพระไตรปิฎก อ่านให้จบอ่านได้ แต่ว่าความเข้าใจแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น ควรจะมุ่งไปที่ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าที่จะรู้ทั้งหมดในพระไตรปิฎกได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงจะชื่อว่า รู้ธรรม ไม่อย่างนั้นก็รู้แต่เรื่องราว หรือว่ารู้แต่ชื่อเท่านั้น

    ผู้ฟัง อาจารย์หมายถึงว่า เวลาศึกษา ควรจะศึกษาเพื่อให้เข้าใจในลักษณะของธรรม ตามที่ตัวเองเข้าใจได้เพียงเท่านั้น หรืออย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่คุณซีอ่านปรมัตถธรรมสังเขป คุณซีรู้เลยว่า ไม่สามารถที่จะรู้ ลักษณะของสภาพธรรมตามที่เข้าใจได้ทั้งหมด เช่น สัมปฏิจฉันทะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ตทาลัมพนะ หรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นคือความถูกต้อง หมายความว่าผู้ที่ศึกษา สามารถที่จะรู้กำลังของตัวเองว่า สามารถที่จะรู้ได้แค่ไหน เข้าใจได้ โดยเหตุผล เราอ่าน แต่ว่าการที่รู้ได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงอ่านแล้วจะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าต่อๆ ไป อย่างเวลาพูดถึงเรื่องของอายตนะ โดยชื่อก็ไม่ยาก พูดถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาท โดยชื่อก็ไม่ยากอีก แต่การที่จะสามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยลักษณะแม้เพียงขันธ์ โดยความเป็นขันธ์ จะรู้ได้อย่างไร ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่มีการประจักษ์ หรือรู้แจ้งสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏเกิดแล้วดับ เพราะว่านั่นคือความหมายของขันธ์

    แล้วขันธ์ก็คือว่า ถ้าพูดถึงรูป รูปก็มีหลากหลายมากมาย หลายอย่าง ที่จะรู้ว่าหลากหลายมากมายหลายอย่าง เมื่อสติระลึก หรือว่าเพียงแต่บอกว่า มีรูปเยอะแยะ เราก็เข้าใจเพียงเรื่องราว แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของรูปใดก็ตาม ก็จะสามารถเห็นความต่างของรูปจนกระทั่งสามารถที่แม้รูปเดียวกันก็เกิดขึ้นแล้วดับไป หรือว่ามีลักษณะหลากหลายที่ไม่เท่ากันทุกอย่าง ก็ตรงตามพระไตรปิฎก แต่ต้องด้วยปัญญาที่สามารถรู้จริงๆ โดยที่สติสัมปชัญญะเกิด จึงจะเป็นปัญญาของตัวเอง ไม่อย่างนั้นจะไม่เป็นปัญญาของตัวเองเลย เป็นแต่เพียงจำมา จำได้เท่าไรก็บอกไปเท่านั้น หรือจำได้เท่าไรก็คิดไปเท่านั้น แต่ไม่ใช่การประจักษ์หรือการรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่พระธรรมไม่ใช่เพียงแต่ให้ ฟัง เข้าใจ พูดตาม แต่ต้องเป็นปัญญาของผู้ฟัง ไตร่ตรองแล้วก็สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ ในวันหนึ่ง จะวันไหนก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาสั่งสอนพวกเรามา ผมเข้าใจว่าจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุด ก็คือเพื่อให้ระลึกศึกษาลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่ทีนี้ก็ที่มีความสงสัย ก็คือว่า อย่างเช่นอ่านหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป ก็เป็นหนังสือที่ละเอียดพอสมควร สำหรับบุคคลที่ยังไม่เคยศึกษามาก่อน ก็มีความสงสัยว่า ควรจะไปศึกษาอย่างอื่นก่อน หรืออย่างไร เพราะว่าในเรื่องวิถีจิต ในปรมัตถธรรมสังเขปนี้ก็สามารถเข้าใจตามเรื่องราวได้ แต่แม้แต่เข้าใจเรื่องของเหตุผลก็มีความลำบากแล้ว แต่จะให้เข้าใจอย่างละเอียด แม้แต่ความคิดก็ยาก เพราะฉะนั้น ควรจะไปศึกษาอย่างอื่นก่อน หรือว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อย่างอื่นหมายความว่าอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง เช่นการที่ท่านอาจารย์แสดงธรรมในรายการต่างๆ ในเทป ความจริงก็ไม่ได้แสดงละเอียด หรือว่ามากมายหลายหลากเท่ากับหนังสือเล่มนี้ อาจจะแสดงรูปธรรมเหมือนกัน แต่ว่าไม่มีเรื่องมากกว่า เท่ากัน แล้วก็อาจจะมีรายละเอียดมากกว่าตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราต้องทราบจุดประสงค์ว่า เราอ่านเพื่ออะไร ไม่ว่าจะอ่านเรื่องอะไรทั้งหมด เพื่อเข้าใจ ถ้าคุณซีสามารถจะเข้าใจธรรมได้โดยอ่านอะไร สิ่งนั้นมีประโยชน์

    ผู้ฟัง ก็แล้วแต่บุคคลจริงๆ ว่า สมควรที่จะอ่านหนังสือประเภทใด ฟังธรรมประเภทใดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนนั้นสามารเข้าใจตัวเองได้ว่า เพื่อความเข้าใจถูกในลักษณะของธรรม จริงๆ เพราะว่าบางคนชอบอ่านเยอะ จะเข้าใจ ไม่เข้าใจ ก็ขออ่านไป ให้จบเป็นหลายๆ เล่ม บางคนอาจจะมีฉันทะอย่างนั้น แต่ถ้าคุยกันหรือสนทนากัน เขาไม่เข้าใจสิ่งที่เขาอ่าน แต่ก็สามารถจะพูดได้ พูดได้ละเอียดด้วย เพราะว่าจำมาโดยละเอียด ก็สามารถที่จะพูดได้โดยละเอียด แต่ว่าเข้าใจหรือเปล่า นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกเข้าใจ ตรงนี้หมายถึงว่า เข้าใจโดยลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้เรื่องราวเข้าใจถึงอรรถ เพราะว่าพระสูตรลึกซึ้งโดยอรรถ พระวินัยลึกซึ้งโดยกิจ พระอภิธรรมลึกซึ้งโดยสภาวะ อย่างพระวินัยละเอียดมาก เรื่องกิจของสงฆ์ เรื่องกิจของพระภิกษุ จะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ แง่มุมต่างๆ โดยละเอียดมาก ซึ่งเป็นชีวิตที่ต่างกันของบรรพชิตกับคฤหัสถ์

    เพราะฉะนั้น กิจของพระภิกษุจะทำอะไรได้ ไม่ได้ เป็นอาบัติประการใด หนัก เบา อย่างไร มีข้อยกเว้นอย่างไร นี่ก็เป็นเรื่องกิจสำหรับพระวินัยบัญญัติ ละเอียดมาก แต่สำหรับพระสูตรลึกซึ้งโดยอรรถ แม้แต่เป็นคำนี้ อย่างคำว่า ญาณ หรือปัญญา ใช้สลับกันก็ได้ ใช้ต่างขั้นกันก็ได้ ในที่ต่างๆ อาจจะมีความหมายอื่นอีกก็ได้ เช่น เวลาที่เป็นปัญญาที่เกิดกับพระโสดาบันก็จะต่างกับปัญญาที่เกิดกับพระอรหันต์ แล้วเมื่อเป็นพระโสดาบัน ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง

    นี่ก็ล้วนเป็นเรื่องของความละเอียดลึกซึ้งโดยอรรถ แต่สำหรับพระอภิธรรมลึกซึ้งโดยสภาวะ ลักษณะของธรรมลึกซึ้ง ขณะนี้กำลังเกิดดับ ลึกซึ้งไหมคะ ไม่ใช่ไม่มี ถ้ามีก็ต้องเกิด เกิดแล้วดับทันที ทันที นี่คือเร็วมาก ทันทีที่เกิด ทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ อย่างจิต เจตสิก จะเล็กน้อยสักแค่ไหนถ้าเทียบกับสภาพที่ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย ไม่มีรูปร่างปรากฏ เขียว เหลืองไม่มีเลย กลิ่น รสใดๆ ไม่มีเลย เป็นนามธรรมล้วนๆ แล้วก็เกิดขึ้นเพียงนิดเดียว ชั่วขณะที่สั้นเท่าไร แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร โดยปัจจัยต่างๆ กันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ลึกซึ้งไหมคะ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์แสดงบอกว่า ลึกซึ้งโดยสภาวะ กับลึกซึ้งโดยอรรถ ต่างกันอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ ก็อรรถของพระสูตร พออ่านแล้ว ปฏิจจสมุปาท หมายความว่าอะไร แค่ไหน นั้นก็โดยอรรถ เพราะพระสูตรจะเป็นเรื่องราว ส่วนใหญ่ แต่ก็มีลักษณะของสภาพธรรมด้วย

    รวมความว่าเราเกิดมาได้ฟังพระธรรม เราก็เรียนให้เข้าใจสิ่งที่มีซึ่งเป็นธรรม เท่าที่จะกระทำได้ เพราะว่าถ้าเราเรียนเรื่องราวที่เป็นตัวหนังสือ ใครจะรู้ว่าชาติก่อน เราอาจจะได้ฟังเรื่องราว ไปอ่านมากี่เล่มก็ได้ จบพระสูตรไปกี่เล่ม พระอภิธรรมไปกี่เล่ม พอถึงชาตินี้เราก็ลืม แม้แต่ภาษา ชาติก่อนเราก็คงไม่ได้พูดภาษาไทย เราเกิดเป็นคนไทยหรือเปล่า ชาติก่อน เราไปพูดภาษาอะไรก็ได้ ภาษามคธ ภาษาบาลี อะไรๆ ก็แล้วแต่ เราก็เคยพูดมาแล้ว ไม่ต้องไปเรียนด้วยซ้ำไป ถ้าเกิดที่โน้น เราก็พูดได้แล้ว แต่ทำไมเดี๋ยวนี้เราลืม หมด ไม่เหลือ ถ้าเป็นเรื่องราว เป็นเรื่องคำ พวกนี้ ไม่มีเหลือเลย แต่ถ้าเป็นลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าชาติไหน ก็ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะใช้ภาษาอะไรทั้งสิ้น ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ใช้ได้หมด โดยที่เราไม่ไปติดที่คำ แต่ว่าเราสามารถที่จะใช้คำนั้นเป็นสื่อให้เข้าใจอรรถ สภาวะของสภาพที่กำลังปรากฏได้ อย่างคำว่า “ธรรม” ถ้าเรารู้จริงๆ ว่า คือ สิ่งที่มีจริงทุกขณะในชีวิตประจำวัน ทั้งวันเป็นลักษณะของสภาพธรรมทั้งนั้นที่ปรากฏ มีขณะไหนบ้างที่ไม่ใช่ธรรม แข็งที่กำลังปรากฏก็ธรรม เห็นก็ธรรม กลิ่น รส ที่เราผ่านมาเมื่อกี้ก็ธรรมทั้งหมด คิดนึกก็ธรรม เป็นกุศล อกุศลก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าไม่มีธรรมปรากฏ ทั้งวันเป็นธรรมที่เกิดปรากฏ แต่ว่าความทรงจำของเราไปจำเรื่องราวทั้งหมด แต่ว่าจริงๆ แล้วก็คือลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ว่า ชาติหนึ่งๆ ไม่ใช่เรื่องราว แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป พอได้ฟังอีก เราจะรู้ได้ทันที ขณะนี้เป็นสภาพธรรม แล้วถ้าปัญญาถึงความสมบูรณ์อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านก็ประจักษ์ความเกิดดับ สามารถเป็นพระโสดาบันได้ เพราะสภาพธรรมไม่เปลี่ยนเลย เพียงแต่ความรู้ความเข้าใจที่จะต้องเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องธรรมดาๆ มาก ถ้าเราคิดว่า เราได้ฟังแล้วเราเข้าใจ ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราเกิดความหวัง การต้องการจะได้ จะทำ นั่นคือผิดปกติ แล้วก็ไม่ได้ด้วย ไม่ใช่หนทาง เพราะตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมตามปกติอย่างนี้ได้ ตราบนั้นจะไม่สามารถละอะไรได้เลย ต้องสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ


    หมายเลข 9370
    21 ส.ค. 2567