สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๗๘


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๗๘


    ผู้ฟัง สัญญาจำทุกอย่าง แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจในเรื่องลักษณะของสภาพธรรมแล้ว ถึงแม้ว่าจะตายไป แล้วไปปฏิสนธิใหม่ ความจำในเรื่องลักษณะของสภาพธรรมก็ยังสามารถจำลักษณะของสภาพธรรมได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากว่าเป็นความจำในเรื่องมีน้องมีพี่ ที่คุณหมอเป็นน้องเป็นพี่ คนนั้นคนนี้ ที่ภาษาที่ใช้พูดก็เป็นภาษาไทย พอเกิดใหม่ก็ไม่รู้ว่า ชาติไหนพูดอะไรบ้าง มันคนละเรื่องกันหรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ นั่นเป็นเรื่องราว นั่นเป็นชื่อ ไม่เหมือนสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือนสภาพธรรมที่เป็นจริง แล้วเป็นเรื่องราวที่เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เขาทำกิจการงานหน้าที่ ลักษณะอย่างนั้นหรือครับท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เห็นอะไรก็จำอันนั้น คิดถึงอันนั้น

    ผู้ฟัง แต่ลักษณะของสภาพธรรมมันเกิดจากความเข้าใจที่ประกอบ ด้วยปัญญาเจตสิก ถ้าจะพูดในลักษณะชื่อ หรือลักษณะของที่เราได้ศึกษามา ใช่ไหมครับท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็สภาพธรรมที่มีจริง ถ้าเราเข้าใจแล้ว ใครจะพูดว่าอย่างไร จะเปลี่ยนความเข้าใจของเราได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ ขอบพระคุณครับ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ ปัญญานี้เราก็ศึกษาคือว่า ปัญญาถ้ามีการระลึกรู้ถึงลักษณะของสภาพธรรมในชาตินี้ ในชาติต่อไปปัญญานั้นก็สะสมต่อไป แล้วทำไมธรรมชาติอย่างอื่น อย่างเช่น ความจำหรือว่าวิตก ทำไมถึงไม่สะสม

    ท่านอาจารย์ สะสมค่ะ

    ผู้ฟัง อย่างเช่นที่บอกว่า การรู้เรื่องราว รู้เพียงชาติเดียว ชาติต่อไปก็หมดไป อย่างนั้นทำไมถึงหมด

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่อง แต่สัญญา ความจำก็สะสม จำเก่ง จำไม่เก่ง ถ้าเป็นคนที่คิดในทางไม่ดี เขาก็สะสมความคิดไม่ดี

    ผู้ฟัง หมายถึงธรรมสะสม แต่ว่าเรื่องราวไม่ได้สะสม

    ท่านอาจารย์ สะสมก็แย่สิคะ เพราะว่าเป็นจิตที่คิดเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็หมายความว่า ถ้าศึกษาธรรมแล้วมีปัญญาในขั้นการคิด การฟังเกิดขึ้น ปัญญานั้นก็สะสมเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต่างสิคะ ไม่มีท่านพระสารีบุตร ไม่มีใครๆ ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่สะสมปัญญา

    ผู้ฟัง ตรงนี้ที่ผมถาม เพื่อจะสะสาง คือ เคยได้ยินมา ๒ อย่าง อย่างเช่นการเจริญปัญญาขั้นสติปัฏฐานเท่านั้นที่เป็นการสะสม ผมเคยได้ยินมาอย่างนี้ แล้วก็บอกว่าถ้ารู้เพียงแต่เรื่องราว เข้าใจเพียงแต่เรื่องราวเท่านั้นก็ไม่สะสม ชาติต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร

    ท่านอาจารย์ สะสมอะไร ต้องรู้ว่าสะสม

    ผู้ฟัง สะสมความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สะสมเรื่องราว

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นัตถิ ปัญญา สมา อาภา ไม่มีแสงอะไรเปรียบได้กับปัญญา นั่นแสดงว่าปัญญาคือแสงที่ปรากฏทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ แสงอะไรคะ

    ผู้ฟัง แสงสว่าง

    ท่านอาจารย์ แสงสว่างอย่างไหน เวลามืด สมมติว่ามืดสนิทจริงๆ กลัวไหมคะ แต่ถ้าปรากฏว่า ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะว่ามืดจริงๆ จึงไม่เหลือ อันนั้นน่ากลัวไหมคะ

    ผู้ฟัง น่ากลัว

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ยังกลัวใช่ไหมคะ แต่ถ้ามีปัญญารู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร จะกลัวไหมคะ นั่นคือความหมายของแสงสว่าง ไม่มีอะไรสว่างเกินกว่าปัญญา แม้ในที่มืด ถ้าไม่มีปัญญา กลัวแน่ แน่ที่สุด ไม่มีอะไรเหลือเลย มีแต่ตัว ยึดถือสภาพที่มีอยู่นั้นว่า เป็นเรา ในความมืดสนิทซึ่งไม่มีอะไรเหลือเลย ก็ต้องตกใจ ต้องหวาดเสียว แต่ถ้ามีปัญญารู้ว่าขณะนั้นคืออะไร นั่นคือแสงสว่าง ความหมายของแสงสว่าง ไม่มีแสงอะไรเกินกว่าปัญญา

    ผู้ฟัง ในตำรามักจะเปรียบเทียบการเห็น เหมือนกับปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ เพราะว่าเห็นชัด อะไรจะชัดเท่าเห็น ทีนี้ที่เห็นว่าชัด เพียงแค่ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแสงสว่าง ชัด แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้น เห็นก็คือ เท่าที่จิตจะเห็นได้ก็คือ เพียงแค่สีสันวัณณะต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ถ้าเป็นปัญญาประจักษ์ เหมือนเห็นอย่างนี้ ความชัดเจนเหมือนอย่างนั้น ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย เพราะสิ่งนั้นกำลังปรากฏ อย่างนามธรรม ไม่มีรูปร่างเลย ไม่มีสี ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีอ่อน ไม่มีแข็งเลยทั้งสิ้น ออกไปหมดจากนามธรรม จะมาอยู่เป็นส่วนของนามธรรมไม่ได้เลย และนามธรรมจะมืดหรือสว่าง เพราะไม่มีแสง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีอะไรเลย ถ้าปัญญาเห็นถูก ขณะนั้นต้องรู้ว่า โลกคืออย่างนี้ โลกทางไหน ทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น การเห็น ปัญญาก็คือการเห็นทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ปัญญาคือความเห็นถูกต้องทุกทาง สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ปัญญาเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น คำว่า ปัสสนา หรือแม้แต่ว่า ทิฏฐะ ซึ่งแปลว่าเห็น ก็คือปัญญาที่ว่าทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจถูก เห็นถูก กำลังฟังขณะนี้ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ปัญญา เป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏ ธรรมจะผิดจากปกติธรรมดาขณะนี้ได้ไหมคะ ไม่ได้เลย แต่ขึ้นอยู่กับปัญญา เพราะว่าเราศึกษาว่า เวลาที่พูดถึงเฉพาะการเห็น ต้องชั่วขณะที่เห็นจริงๆ ทางอื่นไม่มี ทางหูไม่มี ทางใจขณะนั้นไม่ได้คิดนึก แสงสว่างสีสันวัณณะไม่มี ก็ลองคิดดูว่า ความจริงอย่างนี้หรือเปล่าที่เราเข้าใจ ทั้งๆ ที่เราพูดเรื่องจิตเห็นหรือการเห็น แต่เราก็มีการคิดนึก มีเสียง มีอะไรพร้อมหมด ก็ไม่ใช่ขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏตามความเป็นจริง

    นี่คือความต่างของขณะที่ยังไม่ถึงความสมบูรณ์ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็ต้องเป็นเหมือนอย่างนี้ แต่เวลาที่เป็นปัญญาที่ถึงความสมบูรณ์ เมื่อนั้นก็จะไม่สงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏกับนามธรรมทีละอย่าง ทิ้งอย่างอื่นหมดเลย ขณะนี้เป็นอย่างนั้น แต่เร็วมาก พอเราเห็นนิดหนึ่ง พอได้ยินเสียงแล้วก็กลับมาที่เห็นอีก ก็เหมือนกับเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ความเข้าใจระดับของการศึกษาขั้นฟังก็เป็นแบบหนึ่งที่จะต้องอบรมจนกว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดเป็นความจริงอย่างนั้น


    หมายเลข 9371
    21 ส.ค. 2567