สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๘๐


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๘๐


    ผู้ฟัง ความเข้าใจในเรื่องการฟังแค่นี้ ผมรู้ว่ายังไม่พอเพียง จะต้องฟังธรรมต่อไป ท่านอาจารย์จะมีข้อแนะนำที่เหมาะสมอย่างไรบ้างครับ

    ท่านอาจารย์ ใครเป็นคนสำคัญ วันนี้ คุณประทีป

    ผู้ฟัง ตัวเราเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็คิดถึงแต่ตัวเรา ถ้าเราคิดถึงคนอื่น ลืมว่าเราเป็นคนสำคัญ เพราะความจริงก็ยิ่งไม่สำคัญเท่าไร กิเลสก็น้อยลงเท่านั้น แต่ถ้าเราเป็นคนสำคัญอยู่เสมอ กิเลสของเราก็เปลี่ยน แล้วก็เพิ่มขึ้นด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะคิดถึงคนอื่นในวันหนึ่งๆ มากกว่าคิดถึงเราเอง หรือเกือบจะไม่มีเวลาที่จะมาคิดถึงตัวเราเองเลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำไปเพื่อประโยชน์ของคนอื่น แม้เล็ก แม้น้อย แม้ใหญ่ เราก็จะมีความสบายใจ เบาใจด้วย แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ด้วยว่า เรามีกิเลสมาก เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เมื่อไรสติของเราจะมาก ปัญญาของเราจะเยอะ ก็เป็นเรื่องเราที่นั่งคิดแล้วปวดหัวอยู่ตลอดเวลา เพราะว่ามันไม่เป็นอย่างที่เราคิด

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ได้มานั่งคิดว่า เราเป็นอย่างไร เมื่อไรเราจะเป็นอย่างไร เราก็ฟังธรรม แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจธรรม แล้วก็ทำความดีไปทุกๆ วัน เราก็คงจะไม่มีปัญหา เพราะว่าถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ความเข้าใจนั้นเองก็จะทำหน้าที่ของเขาเอง ปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา โลภะก็ทำหน้าที่ของโลภะ วันไหนที่คิดถึงตัวเองน้อยลง มีแต่คนอื่นที่เราจะทำประโยชน์ให้ ก็จะทำให้ความสำคัญของเราค่อยๆ ลดลงไป แม้ว่ายังไม่หมด แต่เราก็จะลืมเรื่องของตัวเราไปเลย ไม่ต้องคิดว่าจะเหน็ด จะเหนื่อย จะทุกข์จะร้อนหรือจะอะไรเลย ทำอะไรให้คนอื่นได้ ก็ลืมเรื่องตัวเอง แล้วศึกษาเรื่องธรรม ก็เข้าใจธรรม ก็ไม่ต้องมานั่งคิดเรื่องตัวเองอีกว่า เราเข้าใจแค่ไหน หมดเรื่องที่จะคิดถึงตัวเองเมื่อไร เราก็เบาขึ้น

    ผู้ฟัง สมมติว่าต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตอนนั้นมันอยากได้มากที่สุด แต่พอสักพักหนึ่งหลังจากมีเวลาได้คิด บางทีเป็นวัน เป็นอาทิตย์ เป็นอะไรนี่ แล้วมาคิดขึ้นมาได้ แล้วจะทำอย่างไร ถึงว่า ให้รู้เร็วไปกว่านั้น

    ท่านอาจารย์ สิ่งหนึ่ง ถ้าเราทราบแน่นอนว่า ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น ทุกอย่างมีปัจจัยมีเหตุก็เกิด สิ่งที่เกิดแล้วเดี๋ยวนี้ที่ปรากฏ เพราะเกิดแล้วทั้งนั้นเลย ต่อให้เราจะไปพยายามทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ เพราะเกิดแล้วทั้งนั้นทุกขณะ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมทำให้รู้จักตัวเอง ค่อยๆ รู้จักตัวเองขึ้น แล้วค่อยๆ เห็นว่าสิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควร ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ตัวเรา มีเรา ซึ่งไม่ใช่ปัญญา พยายามที่จะให้ไปเป็นอย่างอื่น ทั้งหมดในทางฝ่ายดี แก้ด้วยปัญญา ถ้ามีปัญญาเป็นผู้นำ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก กายก็ถูก วาจาก็ถูก แต่ถ้าขณะใดที่กายผิด วาจาผิด รู้เลย เราเป็นอกุศล เพราะความเห็นที่ผิด คิดว่าเป็นเรา ซึ่งความจริงขอให้คิดดูจริงๆ ทุกอย่างในขณะนี้มี ไม่ใช่เราทำให้มีเลย เกิดแล้วทั้งนั้น จึงได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นก็จะคลายความเป็นเราหวังจะทำอย่างนั้น หวังจะทำอย่างนี้ แต่เวลาเกิดแล้วรู้ว่า ขณะนั้นเราสะสมมาที่จะเป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราสะสมใหม่ที่จะเป็นคนที่รอบคอบ และละเอียด แล้วก็ไม่ทำอะไรทันที เราก็จะเป็นบุคคลนั้นได้ ก็คือเข้าใจ ทั้งหมดนี้คือพอเข้าใจ ให้เป็นเรื่องของปัญญา ปัญญานี่ไม่มีอะไรที่จะดีหรือประเสริฐเท่า แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งค่อยๆ เจริญขึ้น อย่าหวังว่าจะเกิดมาก เกิดเร็ว แล้วก็เปลี่ยนจากวันนี้เป็นพรุ่งนี้ หน้ามือเป็นหลังมือ เป็นไปไม่ได้ แต่ค่อยๆ อบรมได้ แต่ข้อสำคัญที่สุดคนที่จะอบรมคือคนที่รู้จักตัวเอง ถ้าไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีทางเลย อย่างบางคนเขาก็อยู่เหมือนเขาไม่มีโลภะ ข้างคุณแอ๊ดก็คิดว่าเดี๋ยวโลภะ เดี๋ยวก็โลภะ ใหญ่ๆ เยอะๆ ด้วย แต่บางคนเขาอาจจะคิดว่าเหมือนไม่มีโลภะเลย แต่เขารู้จักตัวเองหรือเปล่า

    ข้อสำคัญที่สุดคือเห็นตัวเองตามความเป็นจริง บางคนโกรธ แต่ไม่แสดงเลย ฝึกหัดอบรมมาดีมาก กายวาจาสงบ แต่เขารู้ตัวเขาไหม ไม่มีใครจะรู้จักใครดีเกินกว่าตัวเอง แล้วการรู้เป็นเหตุที่จะทำให้อบรมได้ดีขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้อบรมเลย แต่ต้องเป็นปัญญาอย่างเดียวที่กล้าพอที่จะเปลี่ยน


    หมายเลข 9373
    21 ส.ค. 2567