สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๘๓


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๘๓


    ผู้ฟัง อาจารย์ครับ คำว่า “ปัญญา” เป็นคำที่ใช้กันบ่อย ใช้กันประจำ หลายๆ ท่านก็คงจะมีความเข้าใจที่แตกต่างกันในความหมายของปัญญา แต่ปัญญาที่แท้จริงเป็นมรดก เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราไว้ เราจะเอาหรือไม่เอาเท่านั้นเอง ขอท่านอาจารย์แสดงความหมายของอรรถของปัญญาด้วยครับ ในหลายๆ ระดับด้วยครับ

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม และปรมัตถธรรม ก็มี ๓ จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความต่างของจิต และเจตสิก และรูป รูปก็คือสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้นตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า หรือว่าภายในภายนอกก็ตาม รูปทั้งหมดไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย สำหรับจิตก็เป็นสภาพที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ที่กำลังเห็น มีแน่นอนเลย เห็น กำลังเห็น แล้วเราก็บอกว่าเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิกด้วย แต่ลักษณะของจิตไม่ได้ปรากฏความเป็นจิต คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ

    พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ในที่ต่างๆ สถานที่ต่างๆ ทั่วไปในชมพูทวีป ไม่พ้นจากเรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ มากมายมหาศาล ๔๕ พรรษา ก็เรื่องนี้แหละ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น ทำไมถึงมีแต่เรื่องอย่างนี้ เพราะถึงแม้ว่าจะพูดเรื่องจิต แล้วก็พูดเรื่องเห็น พูดเรื่องจิต แล้วก็พูดเรื่องได้ยิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้นั้นสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของจิตได้ทันที

    นี่เป็นเหตุที่ต้องทรงแสดงแล้วๆ เล่าๆ เรื่องของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็คงจะขอกล่าวทบทวนให้คิดอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าคงจะได้กล่าวไว้หลายที่แล้ว แต่สำหรับผู้ที่ได้ฟังวันนี้ อย่างที่ไม่เคยพบกันมาก่อนก็คงจะไม่ได้ยินได้ฟังที่ว่า ขณะนี้มีรูปไหมคะ รูปมีอะไรบ้างคะ สิ่งที่กำลังปรากฏ ๑ เสียง กลิ่นดอกไม้ก็มี รส ตอนนี้ไม่ทราบใครอมยา อมอะไรบ้างหรือเปล่า

    สิ่งที่กำลังสัมผัสทางกาย มี เราทราบว่า เป็นรูปต่างกับนามธรรม เพราะเหตุว่ารูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น พ้นจากรูปทั้งหมดเหล่านี้แล้ว ในวันหนึ่งๆ สิ่งที่มี ที่ปรากฏก็คือ จิต และเจตสิก เพราะว่าชีวิตประจำวัน รูปที่ปรากฏจะไม่พ้น ๗ รูป นี้เลย ๑ รูปทางตา ๑ รูปทางหู ๑ รูปทางจมูกคือกลิ่น ๑ รูปทางลิ้นคือรส ไม่ว่าจะเป็นรสใดๆ ก็ตาม และรูปทางกายก็มี ๓ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ซึ่งปรากฏทีละขณะไม่พร้อมกัน ๗ รูปในชีวิตประจำวันของเรา ไม่มีรูปอื่นที่จะมาปรากฏเลย คุณซีมีรูปอื่นปรากฏไหม นอกจาก ๗ ถ้ามี ต้องเป็นคนพิเศษเลย ต้องแปลกมากแล้วก็จะรู้ได้ทางไหน เพราะว่าปกติก็คือ ๗ รูปนี่ เอา ๗ รูปนี้ออกให้หมดเลย ไม่ให้เหลือ นั่นคือสภาพรู้มี ลองคิดถึงขณะซึ่งไม่มีรูปใดๆ เลยทั้งสิ้น มืดหรือสว่าง แน่นอน ธาตุรู้ มืดหรือสว่าง ธาตุรู้หอมไหมคะ เป็นไปไม่ได้เลย ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยสักอย่างเดียว แต่เป็นธาตุซึ่งเป็นนามธรรม ลองคิดถึงความเป็นนามธรรม ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย แต่รู้ สามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง และเมื่อในขณะนั้นไม่มีอะไรเลย ความเป็นใหญ่ของสภาพรู้จะปรากฏ แม้ไม่มีสิ่งใดเลย โลกทั้งโลกก็ไม่มี แล้วอะไรมี มนินทรีย์ คือ สภาพรู้มี ลักษณะนั้นเป็นใหญ่ ไม่มีขอบเขต ห้องนี้ยังมีรูปเป็นขอบเขต แต่ว่าเมื่อไม่มีรูปใดๆ เลยทั้งสิ้น โลกก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี เจตสิกขณะนั้นก็ไม่ปรากฏ ลักษณะของสภาพของธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่กำลังปรากฏ ต้องทางมโนทวาร ขณะนั้นก็ไม่มีความสงสัยในมโนทวาร

    ถ้าเราฟังอย่างนี้ เราก็จะเข้าใจความต่างของจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จิตจะไม่ทำหน้าที่อื่นเลย เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ขณะเห็นก็คือจิต ขณะได้ยิน เสียงก็ปรากฏกับจิต ขณะได้กลิ่น กลิ่นก็ปรากฏกับจิต

    เพราะฉะนั้น จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ว่าผู้ที่ตรัสรู้ก็ได้ทรงแสดงว่า แม้สภาพนามธรรมซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แล้วก็เกิดดับเร็วกว่ารูปอีก รูปขณะนี้ทุกรูปที่เป็นสภาวรูป มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จิตเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เมื่อจิตดับไปแล้ว ๑๗ ขณะ รูปนั้นจึงดับ แต่ขณะนี้เห็นกับได้ยิน เหมือนกันกับว่าพร้อมกัน ดูเหมือนพร้อมกัน แต่ห่างกันเกิน ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้น ความเล็กน้อย ความรวดเร็วของจิต ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม จิตที่เกิดในโลกมนุษย์ ในอรูปพรหม ในรูปพรหม หรือที่ไหนเท่ากันหมด จิตจะมีการเกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ใน ๑ ขณะของจิต ทรงแสดงอนุขณะ ขณะย่อย คือ ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่บ่ายหน้าไปสู่ความดับ ก็ไม่ใช่ขณะที่ดับ เป็นขณะที่ตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น ก็มี ๓ ขณะย่อย คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ ใครรู้ได้ นามธรรมเกิดดับอย่างเร็ว แล้วก็ยังมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไรในจิตแต่ละประเภท จิตแต่ละขณะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการที่ยิ่งศึกษา ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตา

    นี่คือประโยชน์สูงสุดให้เรามีความเข้าใจอย่างมั่นคง ที่จะทำให้เข้าถึงความเป็นอนัตตาโดยการประจักษ์แจ้ง จากการที่ฟังแล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็เห็นความละเอียด เห็นความลึกซึ้งของสภาพธรรม

    นี่ก็คือจิต ส่วนเจตสิกก็คือ วันหนึ่งๆ เราอาจจะคิดว่า เป็นเราที่โกรธ เราที่ชอบ เราที่ขยัน ทั้งหมดนั้นเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตแต่ละประเภท ก็เป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป เท่านั้นเอง กว่าจะรู้ แต่ถ้ารู้ก็คือต้องรู้ตรงอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น


    หมายเลข 9376
    21 ส.ค. 2567