สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๘๖
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๘๖
ผู้ฟัง พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์นี้ หรือปรมัตถธรรมสังเขปนี้ สรุปลงแล้วมันไปหยุดอยู่ตรงไหน เป็นยอดของปรมัตถธรรมสังเขป
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้จักพระอภิธรรม ก็ไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ฟัง ผมไม่รู้จักพระพุทธเจ้า แม่นบ่อ
ท่านอาจารย์ บางคนเขาบอกว่าเขารู้จักพระธรรม เขารู้ธรรม แต่เขาไม่รู้พระอภิธรรม พูดถูกหรือพูดผิด
ผู้ฟัง บ่อถูก
ผู้ฟัง คำถามเขาถามท่านอาจารย์เป็นภาษาลาวว่า สรุปอยู่ที่ไหน
ท่านอาจารย์ สรุปอยู่ที่ขณะนี้ ถ้าไม่มีขณะนี้ก็ไม่มีอะไรปรากฏ แต่เมื่อขณะนี้มี ขณะนี้คืออะไร นี่คือปัญญา แต่ถ้าขณะนี้มี ไม่รู้ว่าคืออะไร ก็คืออวิชชา เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แน่นอน ธรรมทั้งหมดก็คือเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ แม้ว่าขณะเมื่อกี้นี้ ซึ่งเป็นเดี๋ยวนี้แล้วก็หมดไป ขณะใหม่ก็กำลังเป็นเดี๋ยวนี้ แล้วก็กำลังหมดไปอีก ทุกขณะเป็นอย่างนี้ ตรงกับอนิจจัง ทุกขัง ทนไม่ได้ที่จะยั่งยืน สภาพที่ไม่ยั่งยืน จะเป็นสุขได้อย่างไร แสนสั้นชั่วนิดเดียว เพียงเกิดมาทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วก็ดับ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไมใช่ของใคร มีอะไรเป็นของเราบ้าง จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง
ผู้ฟัง ถามท่านอาจารย์ถึงเรื่องสติปัฏฐาน ให้ความกระจ่างมากขึ้นอีก ผมก็มีความสนใจสติปัฏฐานมาก เพราะเข้าใจว่าสติปัฏฐานเป็นหัวใจ เป็นแก่นสารของพระธรรมจริงๆ เลย ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เราก็ใช้คำกันหลายคำเหมือนกัน อย่างเช่น มรรคมีองค์ ๘ มัชฌิมาปฏิปทา เป็นเอกายนมรรค แล้วก็ขณะที่สติปัฏฐานเกิด แล้วก็ไม่พัก ไม่เพียร ไม่จม ไม่ลอย ก็เป็นเอกายนมรรค เราก็ใช้ศัพท์เยอะมาก เป็นมัชฌิมาปฏิปทา อะไรต่างๆ นาๆ ก็ขอท่านอาจารย์ช่วยให้ความกระจ่างเพิ่มเติม
ท่านอาจารย์ ทีนี้ที่เราฟังมาว่า อริยสัจ ๔ ลึกซึ้ง มรรคนี้จะลึกซึ้งอย่างไร ลองคิดดู คือคิดดูเหมือนธรรมดามากเลย เวลาที่คนอ่านพระไตรปิฎก สติปัฏฐาน แล้วก็กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าไม่ได้เข้าใจจริงๆ บางคนจะคิดไปหลายเรื่อง คือ คิดว่าจะต้องทำ จะต้องเพียร อาตาปี สัมปชาโน สติมา เพียงได้ยินเท่านี้ก็เริ่มแล้ว ความเพียรเผากิเลส แล้วก็ สัมปชัญญะ ปัญญา สติ มีสติ ก็พยายามที่จะทำ แต่ความยากของสติปัฏฐานหรือความลึกซึ้งอยู่ที่ความเป็นปกติ เพราะว่าสภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับเร็วมาก ทุกขณะ มีปัจจัยเกิดพร้อม เวลานี้กำลังเป็นสภาพธรรมที่มีเพราะเกิด เพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง สืบต่อกันอย่างเร็วมาก เป็นปกติ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจผิดนิดเดียว ความเป็นตัวตนหรือความต้องการจะทำ
เพราะฉะนั้น ความลึกซึ้งของข้อปฏิบัติ หรือหนทางนี้ก็คือว่า เป็นปกติ ทีนี้ความเป็นปกติ บางคนก็บอกว่า เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส วันหนึ่งๆ จะพูดทำไมเรื่องธรรมดา เพราะว่าสำหรับคนที่ไม่รู้เป็นธรรมดาจริงๆ เพราะว่ามีอยู่เป็นปกติ แต่สิ่งที่มีปกติ ความลึกซึ้งที่เป็นธรรม ที่เป็นอนัตตา ที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ละขณะของธรรม ไมใช่ธรรมดา ต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะหยั่งถึงความเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง
ทีนี้ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปติดตามตัวพยัญชนะ เพราะว่าถ้าติดตามตัวพยัญชนะ เรามีความเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า อันนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่มีความเข้าใจเลย เราติดตามไปด้วยความไม่เข้าใจตลอด แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ทุกอย่างเป็นปกติเดี๋ยวนี้ทุกบรรพ ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งนั้น ถ้าขณะนี้มีสภาพธรรมที่ปรากฏใน ๖ ทาง ก็เป็นปกติอย่างนี้แหละ
เพราะฉะนั้น การฟังที่จะละความต้องการที่เป็นกถา หรือคำพูดที่จะขัดเกลาความไม่รู้ และความต้องการก็คือว่า ต้องฟังอย่างดี แล้วก็ยังไตร่ตรอง แล้วยังรู้ว่า นี่เป็นหนทางที่มีจริงๆ แต่หนทางบางคนต้องการเร็วมาก แค่นี้นิดเดียว แล้วก็เมื่อไรจะรู้อริยสัจจธรรม แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเราสะสมความไม่รู้มานานเท่าไร ขั้นฟังก็แทบเป็นแทบตายเหมือนกัน สำหรับบางคนที่จะรู้ว่า ปรมัตถธรรม แล้วก็มีอายตนะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฟังเป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมด แต่ว่าตามความเป็นจริงสภาพธรรมเป็นอย่างไร ทรงแสดงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ อย่างอายตนะ ก็จะไม่พ้นจากสภาพธรรมที่กำลังมี อายตนะ ขันธ์ ธาตุ อริยสัจจะ ก็ไม่พ้นสภาพธรรมที่กำลังมี ทำไมถึงมีนิวรณ์เข้ามาด้วย ก็เป็นปกติ เพราะว่านิวรณ์รวมอกุศลจิตทุกประเภท ไม่ขาดเลยสักประเภทเดียว ซึ่งมีเป็นปกติ แต่แม้อย่างนั้นเราก็ไม่รู้ความเป็นนิวรณ์ว่า แท้ที่จริงถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด อะไรเกิด กามฉันทนิวรณ์ เป็นปกติ แล้วถ้าไม่ใช่กามฉันทนิวรณ์ กำลังขุ่นเคือง ก็เป็นพยาปาทนิวรณ์ คือ เป็นเรื่องที่มีแล้วก็ทรงแสดงใช้คำเพื่อที่จะให้เราเห็นความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ยิ่งขึ้นว่า ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น หนทางไม่ใช่อื่นไกลเลย เพียงแต่ว่าเมื่อมีปัญญาเข้าใจสภาพธรรม ตามที่ได้ฟัง ก็จะเป็นปัจจัยให้แม้ขณะนี้หรือขณะไหนก็ตาม สติปัฏฐานจะเกิด ไม่ใช่เราทำ เวลาเกิด เราก็รู้เหมือนอย่างอื่น เพราะเหมือนเห็นเดี๋ยวนี้ เหมือนได้ยินเดี๋ยวนี้ ถ้าเรามีความเข้าใจมั่นคง ว่าเกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้สติปัฏฐานที่เกิดขณะไหนก็ตามก็เพราะเหตุปัจจัย เป็นปกติ เป็นธรรมดา แต่น้อยมาก คือ ชั่วขณะ เพราะว่าเหมือนเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เห็นก็ชั่วขณะ แต่เห็นมีปัจจัยที่จะเกิดบ่อย ความไม่รู้ และความต้องการก็มีปัจจัยที่จะเกิดบ่อย แต่สติปัฏฐานมีปัจจัยแค่ไหนที่จะเกิด จะบ่อยได้ไหมเมื่อเริ่ม