สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๙๗


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๙๗


    ผู้ฟัง พระผู้มีพระภาคเจ้าที่เราพูดกันบ่อยๆ หมายความว่าอย่างไรคะ

    อ.อรรณพ พระพุทธเจ้าทรงมีพระนามมากมาย ที่เราเรียกท่านว่า พระผู้มีพระภาค ภาคะ แปลว่า ส่วนหรือผู้ที่จำแนกธรรม พระผู้จำแนกธรรม ไม่มีใครที่จะสามารถที่จะตรัสรู้แล้วก็จำแนกธรรม ปรมัตถธรรม ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แล้วก็จำแนกโดยความเป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะ สัจจะ ละเอียดมากมาย นั่นคือพระมหากรุณาคุณของพระองค์

    ผู้ฟัง ก็คงจำแนกญายธรรม เพื่อให้เวไนยสัตว์

    อ.อรรณพ ได้รู้ตาม

    ผู้ฟัง ได้เข้าใจ

    อ.อรรณพ พระผู้มีพระภาคคือผู้ทรงจำแนกธรรม จำแนกธรรมเพื่อให้เห็นในความไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วเพื่ออบรมเจริญปัญญา บรรลุ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ยังไม่เข้าใจเลยว่าจะทำอย่างไร เรายังจะทำให้มันมีพื้นฐาน ที่จับจุดเรื่องปรมัตถ์ แล้วก็รู้ตามเรื่องราวเหมือนเดิมว่า ไม่มีตัวตน แต่ว่าก็ไม่รู้ว่าเป็นความรู้สึกที่ถูกหรือเปล่า หรือควรจะพิจารณาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถามว่าปรมัตถธรรมควรจะมาพิจารณาอย่างไร ก็ยังเป็นตัวตนที่ต้องพิจารณาอยู่ดี ผมคิดว่าเรื่องการศึกษาธรรม ปรมัตถธรรม เราก็ทราบอยู่แล้วว่ามีเท่าไร ตามที่เราเรียนมา แต่ธรรมนั้นเป็นเพียงแต่คำอธิบายเพื่อให้เรารู้ถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง แล้วก็ความไม่มีตัวตน หรือความมีตัวตน ขณะนี้ความมีตัวตนมันมีอยู่แล้ว เราไม่ต้องกังวลว่า มันจะมีตัวตน เพราะว่าตราบใดที่เรายังไม่สามารถละคลายความยึดถือในนามรูปว่า เป็นตัวตน ซึ่งเป็นพระโสดาบันได้ ความเป็นตัวตนนั้นเรามีแน่นอน แต่ให้เราเข้าใจว่า ขณะนั้นธรรมที่เราเรียนมามันมีอยู่ในชีวิตประจำวันคือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราหมั่นใคร่ครวญสิ่งที่เราเรียนมาว่า อันนั้นชีวิตประจำวันมีอะไรบ้าง แล้วก็เมื่อเรามีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว มีหนทางที่จะปฏิบัติ ความละเอียดของธรรมที่เราศึกษาไปเรื่อยๆ มันก็จะทำให้เรามีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะว่าหนทางที่เราเริ่มต้น มันถูก มันตรงแล้ว ยิ่งต่อไปข้างหน้า มันก็ยิ่งมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ถ้าตอนเริ่มต้นเราไม่ตรงแล้ว ตอนปลายๆ ก็จะยิ่งจะมีความสับสน แล้วตอนแรก ถ้าเราตรงแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความมั่นใจพื้นฐานที่มั่นคงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ ก็ไม่สามารถที่จะละกิเลส หรือละความเห็นผิดที่ละสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น พื้นฐานที่มั่นคงจริงๆ ยังไม่ต้องไปนึกถึงมหาสติปัฏฐานสูตร หรือว่าบรรพต่างๆ แต่ต้องมีความมั่นคงว่า สภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ แล้วไม่เคยรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นโดยประการใดๆ ก็ตาม การที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เราได้ ก็ต่อเมื่อสติระลึก แล้วก็รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ นี่ขั้นต้น แล้วต่อมาการที่ทรงแสดงสติปัฏฐาน เป็น ๔ บรรพ เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าศึกษารวมทั้งหมดแล้วไม่เว้นอะไรเลยทั้งสิ้น ก็ตรงกับที่ว่า สภาพธรรมใดก็ตามที่มีจริงที่ปรากฏ แล้วปัญญาไม่เกิดขึ้น สติปัฏฐานไม่เกิดขึ้นไม่รู้ ก็ไม่ใช่หนทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น จุดสำคัญ คือ สิ่งที่มีที่ปรากฏเป็นเครื่องเตือนว่า ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ แล้วก็สติระลึกหรือเปล่า ปัญญารู้หรือเปล่า แล้วเมื่อเวลาที่มาอ่านสติปัฏฐาน แยกเป็น ๔ บรรพ จะรู้เลยว่า ในหมวดที่แสดงแยกออกมา เพราะตามการยึดถือ เช่นการยึดถือกาย เรายึดแน่ๆ มีใครบ้างที่เป็นแต่เพียงรูปเท่านั้นที่เกิดตรงนี้ แต่ยึดถือว่าเป็นเรา คิดดู เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย จะเป็นตรงไหนก็ได้ ลมหายใจของเราหรือของคนอื่น แต่ในความที่เคยยึดถือ ตั้งต้นตั้งแต่ความที่เคยยึดถือจนกระทั่งกว่าจะดับความยึดถือได้

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะแสดงส่วนทุกส่วน บรรพต่างๆ ตามการที่เคยยึดถือทั้งหมด เพราะว่าไม่เคยรู้ว่า เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ก็เคยยึดถือว่า เป็นกาย ตั้งแต่ลมหายใจ หรือว่าอริยาบถ หรือว่าสัมปชัญญบรรพ หรือว่าปฏิกูล ก็แล้วแต่ คือส่วนต่างๆ ของกายทั้งหมดอยู่ในบรรพนั้น ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก อย่างพอเห็นโครงกระดูก เราคิดถึงกายหรือเปล่า โครงกระดูกไม่ใช่มีด ไม่ใช่ดอกไม้ ไม่ใช่อะไร แต่ยึดถือว่าเป็นกาย เพราะฉะนั้น เมื่อมีการยึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่สามารถที่จะละสักกายทิฏฐิได้ เพราะว่ายังเป็นสิ่งนั้นอยู่ในความเป็นคนหรือว่าส่วนของคน กระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนกระทั่งเป็นผง ก็แสดงไว้หมดตลอด ครบถ้วน

    เพราะฉะนั้น ทรงแสดงธรรมครบถ้วนทุกอย่าง แต่แยกเป็นบรรพต่างๆ ตามการที่เคยยึดถือ เพราะฉะนั้น กายมีทุกอย่าง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นที่ประชุมอันเดียว เพราะฉะนั้น จึงมีเอกพจน์ว่า เห็นกายในกาย กายอันนี้อันเดียว พอถึงเวทนาที่เป็นความรู้สึก ความรู้สึกก็มีหลากหลายที่เกิดขึ้น ก็ยึดถือความรู้สึกนั้นๆ ว่า เป็นเรา ก็จะต้องระลึกรู้แม้ความรู้สึก ใครก็ตามที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่รู้ลักษณะของความรู้สึกว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คนนั้นจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ได้ไหมคะ

    เพราะฉะนั้น เห็นกายคือรูปขันธ์ พอเป็นเวทนาก็เป็นเวทนาขันธ์ ต้องรู้เพราะว่ามีในขณะนี้

    เมื่อกี้นี้คุณแดนก็ถามเรื่องของความรู้สึกว่า ความรู้สึกมีอะไรบ้าง เมื่อเขาตอบว่า มีโสมนัส โทมนัส อุเบกขา ก็เลยถามเขา ว่าขณะนี้เดี๋ยวนี้มีเวทนาอะไร เขาอาจจะตอบเวทนาอื่นได้ แต่อุเบกขาเวทนา ตอบไม่ได้ เช่นกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ใครจะรู้ว่าเป็นอุเบกขา เพราะว่าขณะใดก็ตามที่ความรู้สึกนั้นบอกไม่ได้ ก็คืออุเบกขา มันเหมือนหาไม่เจอ ทั้งๆ ที่มันมี แต่สุขรู้ ทุกข์รู้ โสมนัส โทมนัสรู้ แต่ตัวอุเบกขาไม่รู้

    เพราะฉะนั้นลักษณะของความรู้สึกที่มีแต่ไม่ปรากฏ ไม่เหมือนโสมนัส โทมนัส สุข ทุกข์ ก็คืออุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น แม้แต่เวทนา ก็ไม่เคยรู้ เมื่อไม่เคยรู้ก็เป็นเรา หรือของเรา แล้วเมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏเพื่อให้รู้ ทุกอย่าง เวลาที่สติปัฏฐาน ระลึก หมายความว่ามีสภาพธรรมนั้นปรากฏเพื่อให้รู้ เพื่อให้รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง คือ เริ่มเข้าใจถูก แม้ว่ามันจะน้อยมาก แต่ตัวสภาพธรรมมีให้รู้ จนกว่าจะค่อยๆ ชิน ค่อยๆ รู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แม้แต่ความรู้สึก

    สำหรับจิตก็เช่นเดียวกัน จิตนี้ก็ลึกลับ พวกนามธรรมทั้งหลาย มีแต่รูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทุกชาติ ๗ รูป รูปอื่นก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ สติปัฏฐานระลึกเพื่อรู้ เพราะถ้าไม่รู้ก็ดับเลย สั้นมาก เกิดแล้วดับแล้วทั้งนั้น ถ้าสติเพียงไม่ระลึกก็คือสิ่งนั้นไม่มีแล้ว มีแล้วก็ไม่มี มีแล้วก็ไม่มี จากไม่มีแล้วก็มี แล้วก็หามีไม่ นี่ก็เป็นความจริงทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น แม้แต่จิตขณะนี้ก็ผ่านไปนับไม่ถ้วน ถ้าสติระลึกก็คือค่อยๆ เข้าใจว่าลักษณะนี้มี เป็นสภาพที่รู้ จึงสามารถขณะนี้ที่เห็น เราก็คงพูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปทุกชาติเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกว่าสติจะระลึก แล้วค่อยๆ เข้าใจว่า ลักษณะนี้มีแล้วก็เป็นสภาพธรรมที่สามารถที่จะรู้ จะเห็น จะคิด จะนึก อะไรก็แล้วแต่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ประมวลจิตทุกประเภท แล้วเราก็มาอ่านในจิตตานุปัสสนา เป็นโลภมูลจิต สราคจิต เดี๋ยวก็เป็นจิตที่ไม่ใช่สราคจิต วีตราคะ ได้แก่ กุศล วิบาก อะไรๆ พวกนี้ คือเป็นเรื่องของชื่อหรือการเรียน แต่ลักษณะจริงๆ ก็คือทุกอย่างที่มีที่ตัวทั้งหมด แล้วก็เมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่า เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องเข้าใจถูก เห็นถูกโดยสติเริ่มระลึกเมื่อไร ก็ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมนั้นว่าตรงตามที่ได้ศึกษา

    พอถึงบรรพสุดท้ายแล้วก็หมดทุกอย่าง แสดงโดยนัยต่างๆ แม้แต่ขันธ์ก็คือรูป กายก็เป็นรูป ใช่ไหมคะ แต่ก็อยู่ในประเภทของขันธ์

    ก็เป็นเรื่องที่ถ้าเรามีพื้นฐานที่มั่นคงที่เข้าใจ เวลาเราจะอ่านอะไรเราก็สามารถ เข้าใจได้ ไม่ไปคิดสงสัยว่า นี่เป็นอย่างไร บรรพนี้ อันนี้ นิวรณธรรม อะไรๆ ก็ทุกอย่างที่มี ถึงไม่เอ่ยออกมา แต่ถ้าจะประมวล ทรงประมวลโดยนัยนี้

    อย่างนิวรณ์ ใครไม่มีบ้าง นิวรณ์มี ๕ อันที่ ๑ คือ กามฉันทนิวรณ์ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แสนจะธรรมดา มีเป็นปกติ แต่ไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้น นี่อันดับหนึ่งของนิวรณ์ที่ทรงแสดงไว้ว่า สิ่งที่มีเป็นประจำวัน ถ้าสติเริ่มระลึก นั่นคือหนทางที่จะรู้สภาพธรรม ก็เป็นของธรรมดาๆ แต่ว่าถ้าจะอ่านให้เข้าใจก็คือต้องรู้พื้นฐานว่า ที่ประมวลมาก็เพราะเหตุว่าจะจำแนกให้เห็นว่า สิ่งที่มีทั้งหมด จำแนกออกมาเป็นส่วนๆ ได้แก่อะไร ประเภทไหนบ้าง กายได้แก่อะไร เท่าไร เวทนาเท่าไร จิตเท่าไร ธรรมรวมประเภทเป็นเท่าไร


    หมายเลข 9390
    21 ส.ค. 2567