สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๙๘


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๙๘


    ผู้ฟัง อาจารย์ครับ ก็จะเรียนถามอาจารย์ต่อไป เราก็เห็นความสำคัญของสติปัฏฐาน เพราะว่าเป็นหัวใจ เป็นแก่นสารของพระธรรม อันนี้เหตุปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด คือ การเริ่มต้นที่เป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง เพราะหลายๆ ท่านก็เข้าใจว่า พระธรรมนี้มีประโยชน์ สติปัฏฐานคือจุดมุ่งหมาย แต่การศึกษาก็อยากจะศึกษาให้ถูกต้อง ศึกษาปริยัติให้ถูกต้อง หรือเข้าใจสัจจญาณที่ถูกต้อง ฟังท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์บอกว่า ค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่เราได้เรียน ไม่ว่าจะอ่านก็อ่านด้วยความเข้าใจ ไม่ว่าจะฟังก็ฟังด้วยความเข้าใจ ท่านอาจารย์ขยายเพิ่มเติมมากกว่านี้อีกครับ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นความละเอียดของธรรม เพราะว่าบางคนเผิน อ่านแล้วเหมือนเข้าใจหมดเลย แล้วจริงๆ เข้าใจหรือเปล่า แม้แต่คำว่า “ธรรม” ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เป็นพระโสดาบัน เพราะว่าเวลาเรียน เราเข้าใจความหมายว่าเป็นธรรม แต่เดี๋ยวนี้เป็นหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ได้ยินตั้งแต่คำแรก ปัญญาต้องอบรมจนประจักษ์ด้วยตัวเอง แม้แต่ความหมายของคำว่าธรรม เราไม่เผินเลย ต้องตรงตั้งแต่เบื้องต้น คือทั้งสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ หรือปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องตรง เป็นผู้ที่รอบคอบ ไม่ประมาท และเป็นคนที่ละเอียด และเป็นคนตรงต่อความจริงว่า พูดว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่เป็นหรือยัง ปัญญานั้นได้ถึงคำจริงที่ได้กล่าวออกไป ทุกอย่างเป็นธรรมหรือเปล่า หรือเป็นแต่เพียงฟังเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ปัญญาก็มีหลายระดับ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น จะรู้จริงๆ ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิด แล้วก็อบรมจนกระทั่งปัญญาสามารถที่จะเข้าใจอรรถของพยัญชนะที่ทรงแสดง ในความหมายของธาตุ ในความหมายของอายตนะ เป็นต้น

    ผู้ฟัง แล้วที่ว่าสัญญา สัญญาที่มั่นคงเป็นเหตุใกล้ของสติปัฏฐาน สัญญานั้นก็ต้องเริ่มจากการที่เราค่อยๆ เข้าใจในสภาพธรรมเป็นต้นไป จนกว่าความเข้าใจนั้นจะเจริญขึ้น สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยสมบูรณ์พร้อมที่ให้สติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราพูดเรื่องสติปัฏฐาน เรารู้ว่าเป็นเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม เริ่มตั้งแต่การเข้าใจขั้นการฟัง พอพูดถึงสัญญาที่มั่นคง ถึงเขาไม่บอกก็สามารถจะรู้ได้ว่า สัญญาที่มั่นคงอันนี้ไม่ใช่สัญญาอื่น นี่คือผู้นั้นเข้าใจจากการฟัง แต่ถ้ามีคำถามว่า สัญญามั่นคงในอะไร ก็แปลว่าคนนั้นฟังมาตั้งแต่ต้นแล้วไม่เข้าใจเลย แต่ถ้าเข้าใจสัญญามีเยอะ แต่สัญญาที่มั่นคงตรงนี้ในเรื่องสติปัฏฐาน ก็ต้องเป็นสัญญาที่มั่นคงในการที่จะเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และจะต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ความจริง เพื่อรู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่มี จนกระทั่งเป็นความรู้ของตัวเองที่สามารถที่จะเห็นว่า เป็นธรรมจริงๆ

    เพราะฉะนั้น สัญญาที่มั่นคงจะถามว่าสัญญาอะไรไม่ได้ ถ้าถามว่าสัญญาอะไรก็คือไม่เข้าใจ แต่ถ้ารู้ว่า มีสัญญาที่มั่นคงเป็นปัจจัย ก็รู้ว่าจะเป็นสัญญาอื่นได้อย่างไร นอกจากสัญญาที่เกิดจากการฟังธรรม แล้วก็เข้าใจธรรม ฟังเรื่องนามธรรมรูปธรรม เข้าใจเรื่องนามธรรมรูปธรรม ถึงจะเป็นสัญญาที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม นี่คือสัญญาที่มั่นคง ถ้ามีการรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม สติระลึก ไม่ใช่เพียงคิดว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟัง คิดว่าขณะนี้เป็นธรรม กับขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ แล้วสติระลึกลักษณะของธรรม ก็เป็นสัญญาที่มั่นคงที่ต่างระดับขั้น


    หมายเลข 9391
    21 ส.ค. 2567