สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๐
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๐
ผู้ฟัง ขณะที่เราศึกษาธรรม แล้วเราเข้าใจว่า เป็นธรรม คือเข้าใจธรรมตัวจริงว่าเป็นธรรม ขณะนั้นก็เป็นสัจจญาณ แล้วสัญญาที่เกิดร่วมด้วยในขณะที่เราเข้าใจก็เป็นสัญญาที่มั่นคง แล้วค่อยๆ มั่นคงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นกิจจญาณไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้
ผู้ฟัง ครับผม ทีนี้อยากถามว่า “สัปปายะ” มีความหมายอย่างไร แล้วมีส่วนอย่างไรเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานครับ
ท่านอาจารย์ สัปปายะหมายความถึงสะดวกสบาย เหมาะสม เพราะฉะนั้น ก็แยกกล่าวว่าจะหมายความถึงสัปปายะจริงๆ ในสัปปายสูตร ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การเกิดดับของสภาพธรรมเป็นสัปปายะ อุตุสัปปายะ อาหารสัปปายะ อะไรนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า เราจะพูดถึงแง่ไหน มุมไหน ตอนไหน อย่างอุตุสัปปายะ อย่างนี้ สำหรับอะไร ร่างกายแข็งแรง ใช่ไหม ร่างกายแข็งแรงแล้วจิตใจเป็นอย่างไร อาหารสัปปายะเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงโดยสถานที่ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของคำว่า เป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด จะกล่าวได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ในครัวเป็นสัปปายะหรือเปล่า
ผู้ฟัง พูดถึงสถานที่
ท่านอาจารย์ ในครัวเป็นสัปปายะหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้ากล่าวอย่างนี้ก็ต้องมีตัวอย่างว่า แม้แต่การทำอาหาร วิปัสสนาญาณก็เกิดได้
ท่านอาจารย์ อุบาสิกาท่านหนึ่งบรรลุเป็นอนาคามี ขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้หม้อแกงน้ำผักดอง นั่นสถานที่หรือเปล่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่ออะไร
ผู้ฟัง เพื่อรู้ความจริงขึ้น
ท่านอาจารย์ เพื่อละ แล้วขณะนั้นติดหรือเปล่า นี่คือความละเอียดของการจะเห็นโลภะ ทุกอย่างจะต้องมาถึงว่า ติดหรือเปล่า ติดหรือเปล่า แม้ว่าที่นั้นเป็นที่ทำให้เกิดปัญญา ติดหรือเปล่า อยู่ตรงนี้ หรือละ เป็นเรื่องที่ละเอียดไปตลอดทาง ถ้าไม่เห็นโลภะอย่างละเอียด ไม่ถึง อย่างไรก็ไม่ถึง เพราะไม่เห็นโลภะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่บรรลุ ท่านบรรลุได้หมดในทุกสถานที่ นั่นแสดงว่า ท่านไม่ติด มีข้อความจริงในพระสูตรที่กล่าวว่า เวลาที่อยู่ที่ใดแล้วปัญญาเกิด ก็ควรจะอยู่ที่นั้น ถ้าที่ใดไม่เหมาะสม ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ทั้งบุคคล ทั้งสถานที่ หรืออะไรก็ตามแต่ ก็จากไปเลย ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน แต่ต้องไม่ลืมว่า ติดหรือเปล่า ตรงนี้สำคัญที่สุด ไม่อย่างนั้นไปไม่รอด อย่างไรก็ไปไม่รอด โลภะเขาจะมีอิทธิพล มีกำลังมหาศาล ที่ว่าแม้ว่านิดเดียวเขาก็เอาไปแล้ว แค่มีปัญญาเกิดเพราะตรงนี้ จะอยู่ตรงนี้เพื่อให้ปัญญาเกิด เขาก็เอาไปแล้ว
ผู้ฟัง จะอยู่จะไป นี่ก็
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นเรื่องละ ยากแสนยากตรงที่ต้องเห็นโลภะ แล้วละโลภะ เพราะเราอยู่กับเขามานาน
ผู้ฟัง ทำอะไรไม่ได้สักอย่างหรือครับ
ท่านอาจารย์ อบรมเจริญปัญญาเห็นความจริง คือ อริยสัจ ถ้าโลภะเกิดแล้วไม่รู้ นั่นคือไม่ละสมุทัยแล้ว ไม่ใช่มีเพียงเท่านั้น แม้ไม่มีอะไรเลยในโลก เหลือแต่เพียงอย่างเดียวคือรูปใดก็ตาม ไม่ใช่ขา ไม่ใช่แขน เพียงแค่ร้อนหรือเย็นก็ติด ยังมีความเป็นเรา ถ้าปัญญาไม่ถึงระดับขั้นที่จะละ ก็ยังไม่ว้าเหว่ อย่างน้อยก็ยังมีเรา ส่วนของเราตรงนั้นอยู่ ไม่สามารถที่จะละได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องของการอบรมปัญญาที่คมพอที่สามารถที่จะละโลภะ โทสะได้ ถึงจะละอภิฌชา และโทมนัส มิฉะนั้นก็ตกใจ มิฉะนั้นก็กลัว มิฉะนั้นก็หวั่นไหว มิฉะนั้นก็อยาก เดี๋ยวมโนทวารก็จะปรากฏลักษณะของสภาพธรรม ก็แล้วแต่ เขาจะมาตลอดทาง เพื่อที่จะให้ละเครื่องกั้นเครื่องปิดบัง จนกว่าจะไม่ติดในสังขารธรรม ไม่ได้ต้องการสังขารธรรมจริงๆ ด้วยปัญญาที่คมเมื่อไร ก็หันไปสู่นิพพานแน่นอน
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ที่บอกว่าถ้ามีสถานที่ ที่ท่านบอกว่าถ้ามีปัญญาเจริญขึ้นก็ควรจะอยู่ที่นั้น แต่ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าอยู่ที่นั่นแล้วติดก็ไม่ควรจะอยู่ที่นั่น หรืออย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ พระที่เป็นอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า แล้วก็พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาต ท่านตามเสด็จ เพราะว่าอุปัฏฐากในปีแรกๆ ไม่มีประจำ ๒๐ พรรษาแรกไม่มีประจำ เห็นสถานที่ที่น่าปฏิบัติมาก ขอไปปฏิบัติตรงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ถึง ๓ ครั้ง ถึงกับวางบาตรของพระพุทธเจ้า ความที่โลภะเกิดขึ้น แล้วก็ไปที่นั่นจริงๆ กลับมาโดยที่ไม่ได้อะไรเลย พระองค์สามารถที่จะรู้อัธยาศัย แล้วคนก็ยังไม่เชื่อ ขนาดเป็นพระติดตามไปเบื้องหลังแล้วก็ถือบาตรด้วย แล้วเราเป็นใคร ได้ฟังพระธรรมหรือเปล่า ได้เฝ้า ได้ติดตามอย่างนั้นหรือเปล่า แล้วโลภะของเรา ใครจะเอาออกได้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจจริงๆ ว่า เรื่องละเรื่องเดียว ถ้ามีความต้องการสักนิดหนึ่งก็ไปแล้ว ไปแล้ว ไปแล้ว ไปทั้งนั้นแหละ ไปตามโลภะโดยไม่รู้ตัวเลย
เพราะฉะนั้น เราจะมองเห็นการอบรมหรือการปฏิบัติของแต่ละคน เป็นไปด้วยโลภะ ก็รู้ว่าไม่ถึง อย่างไรก็ไม่ถึง เพราะว่าไม่ใช่ปัญญา
ผู้ฟัง ที่บอกเรื่องสถานที่ว่า ถ้าอยู่แล้ว สติไม่เกิด อกุศลเกิด นี่ก็หมายความว่าให้พร้อมที่จะออกจากสถานที่นั้นไปทันที ก็หมายความว่าเขาก็ไม่ได้คิดจะต้องไปหาที่อื่นที่มันจะทำให้สติเกิดก็ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ แต่เขาไปเพราะอะไรคะ
ผู้ฟัง ไปเพราะสถานที่อยู่นั้นๆ มันอาจจะทำให้เกิดความไม่สงบ
ท่านอาจารย์ ต้องการความสงบหรือต้องการอะไร
ผู้ฟัง นั่นสิครับ เพราะว่าเมื่อพูดถึงว่าเมื่ออยู่แล้วอกุศลเจริญ กุศลไม่เจริญ
ท่านอาจารย์ อกุศลอะไรเจริญ
ผู้ฟัง โทสะครับ
ท่านอาจารย์ ลองคิดให้ดี อกุศลอะไร
ผู้ฟัง โลภะ
ท่านอาจารย์ ความเห็นผิด อาจารย์มีเยอะ อยู่ตรงไหนที่ความเห็นถูกไม่มี ไม่เกิด มีแต่ความเห็นผิด จะอยู่ตรงนั้นไหม
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็หมายถึงความเห็นผิดอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ แล้วแต่ทุกอย่าง เพราะว่าเป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วส่วนใหญ่จริงๆ โลภะมีตลอด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โทสะก็มีตลอด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่เราลองพิจารณาว่าที่ไหนที่ไม่ควรอยู่
ผู้ฟัง ก็ที่ไหนที่มีผู้ที่มีคำแนะนำสั่งสอน แล้วเป็นกัลยาณมิตร
ท่านอาจารย์ ท่านหมายถึงอย่างนั้น
ผู้ฟัง กัลยาณมิตรที่ไม่ดีก็ไม่ควรอยู่ที่นั่น
ท่านอาจารย์ บางคนติดหมู่คณะ แล้วก็ติดบุคคลด้วย เขาไม่ยอมไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ถูก ไม่มีอะไรจะกันเราได้ นอกจากพระธรรมที่ทรงแสดงโดยละเอียดทุกประการ ให้รู้ว่า ถูกคืออย่างไร ต้องหนีหรือหลีกพ้นจากความไม่ถูกอย่างไร อย่างคนพาลในมงคลสูตรเริ่มต้นเลย อเสวนา จะ พาลานัง การไม่คบคนพาลเป็นมงคลสูงสุด คนพาลนำอะไรมาให้ที่เป็นประโยชน์บ้าง ถ้าเป็นคนที่เห็นผิดก็นำแต่ความผิดๆ ความเห็นผิดมาให้