สีลัพพตปรามาสเป็นทิฏฐิ ความเห็นผิด


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๒


    คุณศุกล พูดถึงสีลัพพตปรามาส คือฟังดูก็ไม่มีอะไรที่สำคัญมาก แต่จริงๆ แล้วความลึกซึ้งของคำว่า สีลัพพต หมายความว่าข้อปฏิบัติที่ผิดจากมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามถ้าหากว่าไม่ใช่เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน นอกนั้นเป็นสีลัพพตปรามาส ใช่หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงสีลัพพตปรามาสเป็นไปอย่างไรบ้าง เพราะปัจจุบันนี้ มันดูไม่ค่อยจะ

    ท่านอาจารย์ เป็นไปด้วยโลภะ สีลัพพตปรามาสเป็นทิฏฐิ ความเห็นผิด หนทางผิดก็เข้าใจว่าหนทางถูก

    คุณศุกล ถ้าอย่างนั้นผมเปลี่ยนคำถามใหม่ ถ้าสมมติว่าในทางพระพุทธศาสนา แต่ก็มีความคิดว่าต้องทำขึ้นมา ทำนั่นทำนี่ เพื่อให้ถึงจุดนั้น เป็นสีลัพพตปรามาสใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ก็แน่นอนอยู่แล้ว ถ้ามีการทำผิดก็ คือ สีลัพพตปรามาส

    คุณศุกล ทั้งๆ ที่พูดชื่อ เป็นในเรื่องของพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ แล้วผิดหรือเปล่า

    คุณศุกล ถ้าอย่างนั้นผิดก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ก็แน่นอน เวลาที่มิจฉาทิฏฐิเกิด ใครรู้

    คุณศุกล นี่เป็นเรื่องที่หนักมาก

    ท่านอาจารย์ อย่างถ้าบอกว่า อย่าพูด อย่าคิดว่า เป็นความเห็นผิด เดี๋ยวจะเป็นความเห็นผิดขึ้นมา ขณะนั้นเป็นความเห็นผิดหรือเปล่าที่พูดอย่างนั้น เห็นไหมคะ ก็ไม่รู้ สักกายทิฏฐิหรือเปล่า ก็ไม่รู้อีก เพราะฉะนั้น หนทางที่ผิดมันจะต้องมาจากยังมีความเป็นเรา จะพูดโดยวิธีไหนๆ ให้ทำอย่างไรๆ ก็ตาม มาจากความเป็นเรา มาจากความต้องการที่จะให้เป็นอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การรู้ความจริงว่า เป็นธรรม นั่นเบี่ยงเบนไปนิดหนึ่งก็ผิดแล้ว ไม่ตรงก็ไม่ใช่หนทาง

    ทุกคนก็รู้ อริยสัจ ๔ ลึกซึ้งทั้ง ๔ แล้วมรรคสัจจะไม่ลึกซึ้งหรือ ลึกซึ้งหมายความว่าอะไร เพียงแค่รู้ว่า นี่ประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๕ แค่นั้น ลึกซึ้งแค่นั้นเองหรือ นั่นไม่ลึกซึ้งเลย ลึกซึ้งเพราะหนทางต้องอบรมเจริญด้วยตัวเอง ด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญ ค่อยๆ รู้ความจริง ใน ๔ ในทุกข์ ในสมุทัยด้วย ถ้าไม่รู้สมุทัย จะละสมุทัยได้อย่างไร แล้วสมุทัย รู้ง่ายหรือรู้ยาก โลภะนี่ ไปที่ไหน ทำอะไรก็โลภะ ประพฤติอย่างนี้ ประพฤติอย่างนั้นก็โลภะ โดยไม่รู้ว่าเป็นโลภะ แล้วจะเอาโลภะนั้นออกได้อย่างไร

    คุณศุกล ในอดีตเห็นชัดว่า มีการปฏิบัติในลักษณะที่เป็นรูปแบบอย่างนั้นๆ ๆ เช่น มีการทรมานตน หรือว่าทำลักษณะเหมือนแพะ เหมือนโค เหมือนอะไรต่างๆ อันนี้ก็เห็นไปเลยว่า มันผิดไปจากสิ่งที่ปกติของมนุษย์ธรรมดา แต่ปัจจุบันที่กำลังมีเหตุการณ์ปรากฏอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ปัจจุบันเหมือนอดีตหรือเปล่า เหมือนอนาคตหรือเปล่า

    คุณศุกล เหมือนครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมถึงจะแยกล่ะคะ

    คุณศุกล ก็เพราะว่ามันมีความเห็นที่มีการคิดว่า ต้องทำอะไรขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ สมัยโน้นก็มี สมัยไหนก็มี ไม่ต้องคุณศุกลได้รับคำบอกเล่าจากใครหรอก เพียงแต่จะระลึก แค่นี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาส

    คุณศุกล จะระลึก ทำไมล่ะครับ

    ท่านอาจารย์ จะได้หรือคะ ใครจะได้ ตัวตนหรือคะ หรือไม่ใช่ตัวตนที่จะ เวลากำลังจะ ผิดหรือถูก ไม่ต้องเอ่ย ไม่ต้องพูด แต่กำลังจะ มีไหม บางคนเขากำหนด เช้า ก่อนนอน แล้วก็ยังเห็นชัด แต่ตอนไม่กำหนดแล้วกำลังจะ ถูกหรือผิด แล้วละเอียดหรือลึกซึ้งหรือเปล่า เพราะฉะนั้น สีลัพพตปรามาสดับด้วยโสดาปัตติมรรค ลองคิดดู

    อ.อรรณพ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ความเห็นผิดมันก็อาจจะเกิดแทรกได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เฉพาะความเห็นผิด สีลัพพตปรามาสทีเดียว ที่จะต้องเห็นว่า นี่คือสีลัพพตปรามาส ผิดทาง ต้องเห็นไปตลอด ผิดทางเพราะโลภะ จึงละโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด

    อ.อรรณพ แม้ว่าจะเจริญสติปัฏฐานแล้ว หรืออะไรก็ตาม แต่ถ้ายังมีความรู้สึกว่า คิดว่าถ้าทำอย่างนี้ เช่นฟังเทปหรืออ่านหนังสือมากหน่อยก็จะสติเกิด ที่ท่านอาจารย์ใช้คำว่าจะ อันนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส แล้วก็มีทิฏฐิเกิดแล้ว

    ท่านอาจารย์ นั่นยังก่อนทำด้วยซ้ำไป ก่อนสติจะเกิดด้วยซ้ำไป ลองคิดถึงอุทยัพพยญาณ วิปัสสนูปกิเลสยังเกิดได้ มาจากไหน

    อ.อรรณพ ก็ยังอุ่นใจอยู่ในสภาพของปัญญา และสติว่า สามารถที่จะรู้ในกุศลเหล่านี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องอบรมปัญญาถึงจะเจริญ ถึงจะสามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ ขณะนั้นคืออะไร เป็นหนทางหรือไม่ใช่หนทาง โลภะเขาไม่จากไปง่าย แล้วความลึกของสักกายทิฏฐิก็ลึกมาก ค่อยๆ คลายด้วยการอบรมเจริญปัญญาด้วยสติปัฏฐาน ทั้ง ๖ ทวาร คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ เหลือไม่ได้เลย ถ้าเหลือก็แสดงถึงความไม่รู้ ความสงสัย ซึ่งความสงสัยก็ดับได้ เมื่อเกิดโสดาปัตติมรรคจิต

    ผู้ฟัง ขอย้อนถามไปอีกหน่อยถึงเรื่องของแม้แต่การเจริญสติปัฏฐาน ก็ยังมีความเยื่อใยเช่นนี้อยู่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป

    ท่านอาจารย์ ศึกษาอะไร

    ผู้ฟัง ศึกษาสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ อบรมเจริญสติปัฏฐานต่อไป เพื่อปัญญาจะได้คมขึ้น ถึงความสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ไม่มีอนุสัยกิเลสเลย ลองคิดดู ถึงเป็นวิปัสสนาญาณ เยื่อใยจะค่อยๆ เล็กๆ ๆ ๆ จนกว่ามันจะดับได้หมด


    หมายเลข 9395
    20 ส.ค. 2567