สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๓


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๓


    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ววัตถุประสงค์ของการนั่งสมาธิ คืออะไร แล้วเพื่ออะไร คือเท่าที่เรียนว่า รู้สึกว่าการนั่งสมาธิ ไม่ได้บอกว่า เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี จริงๆ คือการที่ทำให้เรา จิตเรามั่น ไม่ฟุ้งซ่าน แล้วก็คิดแล้วทำอะไรอย่างมีสติ คือ ไม่ทราบว่าที่เข้าใจ ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในพระไตรปิฎก หรือที่คนอื่นได้ฟังกันแล้ว ก็ยังไม่ใช่ความรู้ของเราเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะทำให้ผู้ฟังไตร่ตรอง พิจารณาเหตุผล จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของตัวเอง นี่เป็นประโยชน์ เพราะว่าปัญญาของคนอื่นก็เป็นของคนอื่น จะเป็นของเราไม่ได้ จะเป็นของเราต่อเมื่อเราได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ เข้าใจได้ แล้วก็พิจารณาเหตุผลถูกต้อง กับสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่ตามความคาดคะเนของเรา ต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ขอถามอีกนิดหนึ่งว่า ที่บอกว่าจริงๆ อะไรคือจริงๆ และอะไรคือไม่จริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจะสอนเรื่องทุกอย่างที่มีในขณะนี้ตามความเป็นจริง เช่น สมาธิ หมายความถึงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งตั้งมั่นในอารมณ์ อันนี้พอเข้าใจได้ ใช่ไหมคะ สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เพราะฉะนั้น สมาธิเมื่อมีจริงก็เป็นธรรมที่มีลักษณะตั้งมั่นในอารมณ์ เราเคยตั้งมั่นในอารมณ์ไหม เวลาที่อ่านหนังสือแล้วก็ไม่ฟุ้งซ่าน แล้วก็จรดจ่อ ต้องการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จขณะนั้น อย่างเย็บผ้าก็ต้องประณีต ให้เห็นลักษณะของสมาธิ คือ ความตั้งมั่นในอารมณ์แต่ละขณะ

    ผู้ฟัง ก็คือ เรียกว่าสมาธิได้

    ท่านอาจารย์ นั่นคือลักษณะของสมาธิ เราจะเรียกหรือไม่เรียก เราเปลี่ยนลักษณะของสมาธิไม่ได้ เรากำลังศึกษาสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดงตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น สิ่งที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา สืบทอดมาเป็นพระไตรปิฎก แต่ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่สามารถจะเข้าใจได้สำหรับทุกคน เพราะว่ามีกับทุกคน

    เคยมีความตั้งมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะที่ทำอะไรไหมคะ

    ผู้ฟัง เป็นปกติค่ะ

    ท่านอาจารย์ เป็นปกติ คำนี้ถูกต้อง เพราะว่าสมาธิเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้น เป็นปกตินี่แน่นอน แต่ว่าสมาธิความตั้งมั่นจะน้อยหรือจะมาก จะปรากฏอาการของความตั้งมั่นนานๆ ที่เรามักจะเรียกตามความเข้าใจของเราว่า สมาธิ คำว่า ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง อารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้นานๆ ลักษณะของสมาธิคือความตั้งมั่นก็ปรากฏให้รู้ว่ากำลังมีสมาธิ หรือว่าขณะนี้ไม่มีสมาธิเลย อย่างคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่คือคำพูด ที่เรายังไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว สมาธิมีจริง แต่เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ในสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น จึงเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะจิตทุกขณะสามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงทีละอย่าง จะรู้พร้อมกัน ๒ อย่างไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตขณะหนึ่งเกิด ต้องมีสภาพธรรมอีกอย่าง คือ เจตสิก เกิดร่วมด้วย จิตเป็นสภาพที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ที่ปรากฏให้รู้ เช่น ทางตาขณะนี้กำลังเห็น นี่เป็นจิต แต่จิตต้องเกิดพร้อมเจตสิก และเจตสิกที่ต้องเกิดพร้อมจิตทุกขณะ คือ สมาธิ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า เอกัคคตาเจตสิก หมายความถึงการตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งๆ อันนี้พอเข้าใจลักษณะของสมาธิ เพราะฉะนั้น เคยทำสมาธิไหมคะ

    ผู้ฟัง ก็เคยตั้งแต่สมัยเรียน มีช่วงเวลาเพียงแค่นิดเดียวในการที่จะมีสติทำอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สติ สมาธิ

    ผู้ฟัง สมาธิ

    ท่านอาจารย์ ต้องไม่ปน ๒ อย่าง สติเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง สมาธิเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สติไปเป็นสมาธิ หรือสมาธิมาเป็นสติ ตอนนี้เข้าใจลักษณะของสมาธิแล้วใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง สมาธิในความหมาย ตอนนี้ ที่ตอนนี้หนูเข้าใจก็คือ การนั่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ สมาธิเป็นสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะเมื่อกี้บอกว่าเป็นปกติ มีเป็นปกติ ใช่ไหมคะ คำตอบนี้ถูก เพราะว่าปกติของจิตที่เกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกนี้ คือ เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ทุกขณะ ขณะเห็นก็ต้องมีเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในสิ่งที่ปรากฏ จึงเห็นสิ่งนี้สิ่งเดียว ตั้งมั่นในสิ่งนี้ คือเฉพาะในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ลักษณะของเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่มีระดับที่ต่างกัน อย่างความติดข้องเล็กๆ น้อยๆ ก็อย่างหนึ่ง พอความติดข้องมากขึ้น เพิ่มขึ้น กำลังทวีขึ้น ฉันใด ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกหรือสมาธิก็เหมือนกัน เวลาเกิดกับจิตทุกขณะก็สั้นๆ ไม่ปรากฏความตั้งมั่นยาวพอที่จะปรากฏลักษณะของความตั้งมั่นนานๆ ที่ใช้คำว่าสมาธิได้ เหมือนอย่างโลภะ ความต้องการ นิดๆ หน่อยๆ เล็กนิดเดียว น้อยนิดเดียว ก็เป็นความต้องการ พอมากๆ ก็ยังเป็นความต้องการอยู่นั่นแหละ แต่เพิ่มกำลังขึ้น


    หมายเลข 9396
    20 ส.ค. 2567