สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๔


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๔


    ท่านอาจารย์ สมาธิจะเป็นสติไม่ได้ เป็นสภาพคนละอย่าง เพราะว่าสมาธิเกิดกับจิตทุกชนิด กุศลจิตก็มี เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นความตั้งมั่นในอารมณ์นั้น หรือว่าอกุศลเกิดขึ้นก็มีเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น

    เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภททุกดวง ส่วนสติไม่ใช่สมาธิ นี่เป็นสิ่งที่ต้องแยกกัน เปลี่ยนลักษณะของสมาธิให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้

    เจตสิก สภาพธรรมที่เกิดกับจิตมีถึง ๕๒ ชนิด แต่ละชนิดไม่ปนกันเลย ถ้าเป็นคำที่เราใช้คำว่า “สมาธิ” จะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ลักษณะนี้ไม่เปลี่ยน เจตสิกนี้จะมีลักษณะอย่างนี้ ส่วนเจตสิกอื่น เช่น สติ จะมีลักษณะนี้ไม่ได้ เป็นสภาพธรรมต่างชนิด

    ผู้ฟัง ลองยกตัวอย่างได้ไหมคะ อะไรที่ไม่ใช่เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบก่อนว่าสภาพธรรม มี ๒ อย่าง คือ ธรรมเป็นคำรวม เป็นคำที่หมายถึงสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็มีลักษณะเฉพาะตนๆ ต่างๆ กัน หลากหลาย

    เพราะฉะนั้น ธรรมจึงมีมาก แต่ถึงจะมากมายอย่างไรก็ตาม แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ มี ๒ อย่าง คือ ธรรมชนิดหนึ่ง ประเภทหนึ่ง ไม่ใช่สภาพที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เช่น เสียง ปรากฏเป็นลักษณะของเสียง แต่เสียงไม่รู้อะไร

    ผู้ฟัง นี่เราเรียกว่าธรรม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธรรมหมด แล้วธรรมมี ๒ อย่าง คือ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย มีอย่างเสียง ปรากฏทางหู แต่เสียงไม่ได้รู้อะไร แข็ง มี แข็งก็ไม่รู้อะไร ใครไปจับแข็ง แข็งก็ไม่รู้ แข็งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นฝ่ายรูปธรรม ในภาษาธรรม ส่วนธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง หรือธาตุ หรือสิ่งที่มีจริง ธรรมอีกอย่างเป็นสภาพรู้ ถ้าเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เราอาจจะไม่ชินกับคำว่า “รู้” คำนี้ เพราะส่วนมากเราเข้าใจว่า ถ้ารู้ ต้องรู้อะไรสักอย่าง รู้เรื่องรู้ราว หรือรู้ด้วยความฉลาด ด้วยความสามารถ แต่ความจริงลักษณะรู้เท่านั้น เพียงสามารถที่จะเห็นขณะนี้ คือรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นลักษณะอย่างนี้ จะเป็นอื่นไม่ได้ สามารถจะเห็น นั่นก็คือลักษณะของสภาพธรรมที่รู้จึงเห็น ถ้าไม่รู้ อย่างเป็นแข็ง ก็เห็นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น แม้แต่สภาพรู้ สิ่งที่สามารถรู้ เราก็ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ เข้าใจ เพราะว่าไม่ใช่รูปธรรมไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น แต่ว่าเป็นสภาพที่มีจริงๆ อย่างความคิด มีไหมคะ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม เพราะเป็นสภาพที่คิด รู้เรื่องที่คิด ถ้ารู้อะไรเมื่อไร อย่างไร ก็เป็นสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรมทั้งหมด

    ทีนี้นามธรรมมี ๒ อย่าง นามธรรมอย่างหนึ่ง เป็นจิต อีกอย่างหนึ่งเป็นเจตสิก แต่ว่าเจตสิกมีถึง ๕๒ ชนิด และต้องเกิดกับจิตเท่านั้น เจตสิกจะไม่เกิดกับรูปหรืออย่างอื่นเลย

    ผู้ฟัง ช่วยอธิบายคำว่าเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต มีลักษณะเฉพาะของเจตสิกแต่ละอย่าง ซึ่งเจตสิกทั้งหมดจะมี ๕๒ ประเภท อย่างความโกรธมีจริง เป็นธรรมหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็น เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง นามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นเจตสิก ก็คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตาขณะนี้ หรือปรากฏทางหู เช่นเสียง เสียงปรากฏกับจิตที่ได้ยิน ถ้าจิตได้ยินไม่เกิดขึ้น เสียงจะปรากฏไม่ได้เลย เช่น คนที่กำลังนอนหลับสนิท ไม่ได้ยินอะไร แต่มีจิต เพราะฉะนั้น จิตได้ยินเป็น ๑ ในจำนวนของจิตทั้งหมด ซึ่งมีทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย หรือตามสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้ เราเรียกชื่อของจิตได้หลายอย่าง ตามสิ่งที่ปรากฏให้รู้ หรือว่าตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย อย่างเวลาโกรธก็ไม่เหมือนเวลาสนุกสนาน เพราะฉะนั้น เวลาที่สนุกสนาน จิตกำลังสนุกสนานในอะไร กำลังพอใจในอะไร เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นโทสะ ความไม่พอใจ จะเป็นโลภะ คือความพอใจก็เกิดกับจิตต่างขณะ ไม่ใช่ขณะเดียวกัน เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจเจตสิก เข้าใจจิต เข้าใจรูปธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเราจะพูดว่า เหตุ และผล

    ท่านอาจารย์ ต้องมีสภาพธรรม เหตุคืออะไร ไม่ใช่เหตุลอยๆ เพราะว่าความจริงทั้งหมด เมื่อเราแยกออกเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรมแล้ว ยังแยกนามธรรมเป็นจิตกับเจตสิก เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงแท้ในโลกนี้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่เรียกว่าอะไรเลยทั้งสิ้น หรือจะใช้ภาษาหนึ่งภาษาใดก็ตามแต่ เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนสภาพความจริงซึ่งเป็นธรรมให้เป็นอย่างอื่นไปได้ ธรรมคือธรรมหรือธาตุซึ่งมีจริง เพราะฉะนั้น เวลานี้เรารู้ว่าสิ่งที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อ ก็มี อย่างเห็น ต้องเรียกไหมว่าเห็น

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียกก็เห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียก นี่คือธรรมที่มีจริงๆ ใครจะเรียกหรือไม่เรียกก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง มีจริง แล้วใครก็เปลี่ยนลักษณะของธรรมนั้นไม่ได้ ถูกต้องไหมคะ

    เพราะฉะนั้น ธรรมที่มีจริง แล้วก็ใครเปลี่ยนสภาพธรรมนั้นไม่ได้ จะเรียกชื่อหรือไม่เรียกชื่อก็ไม่เป็นไร แต่ลักษณะของธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ลักษณะอย่างนี้ ธรรมนี้เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งซึ่งมีจริงๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องเป็นไปตามลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรม เท่าที่ทราบเวลานี้ มี ๓ แล้ว ใช่ไหมคะ มีรูป ๑ จิต ๑ แล้วก็เจตสิก ๑ ถูกต้องไหมคะ แล้วยังมีธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ไม่ได้ปรากฏ แต่ผู้ที่ตรัสรู้ประจักษ์แจ้ง สภาพธรรมนั้นคือนิพพาน ตรงกันข้ามกับจิต เจตสิก รูป เพราะว่าที่จะรู้ว่า มีจิต เจตสิก รูป ก็เมื่อจิตเจตสิกรูปเกิดปรากฏ อย่างเสียง ถ้าไม่เกิด จะปรากฏได้ไหมคะ ไม่ได้ ถ้าความโกรธไม่เกิดขึ้น ขณะนั้นจะมีโกรธไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏต้องเกิดจึงปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น นิพพานตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิด คือ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม มีจริง เพราะเหตุว่ามีผู้ตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเท่านั้นที่จะดับกิเลสได้หมดเป็นสมุจเฉท


    หมายเลข 9397
    20 ส.ค. 2567