สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๕


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๕


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การศึกษาทั้งหมด เราศึกเรื่องสิ่งที่มีจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ไม่ใช่เราคิดเอง เราเข้าใจเอง เรานึกว่ามีเหตุมีผล มีสภาพเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะพ้นจากสิ่งที่มีจริง ๓ อย่างที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้ คือจะไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป เหตุผลก็ต้องเป็นจิตหรือเจตสิกนั่นเอง ทีนี้สงสัยเรื่องอะไรคะ

    ผู้ฟัง ที่ถามเกี่ยวกับคำว่า สมาธิ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตหรือเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เป็นตัวเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เป็นอะไรคะ ถ้าไม่ใช่ตัวเรา

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมประเภทไหน

    ผู้ฟัง ปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ คือสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรม นั้นได้เลย ใครจะเรียกหรือไม่เรียก สภาพธรรมนั้นก็เป็นอย่างนั้น ภาษาไทยใช้คำว่าสนุกไม่ใช่ภาษาบาลี เพลิดเพลิน ไม่ใช่ภาษาบาลี เป็นลักษณะของความพอใจอย่างยิ่ง มีจริงๆ ใช่ไหมคะ ความพอใจอย่างยิ่ง มีจริงๆ เป็นเจตสิก หรือเป็นจิต หรือเป็นรูป

    ผู้ฟัง เป็นความพอใจเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น เริ่มรู้จักสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ว่าแท้ที่จริงก็คือเป็นธรรมที่เกิด ต้องเกิด แล้วมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ๆ แล้วสิ่งใดที่เกิดต้องดับ ไม่มีใครยับยั้งได้เลย ถ้าเรากำลังโกรธ ขณะที่โกรธไม่ใช่ขณะที่เห็น เป็นนามธรรมทั้ง ๒ อย่าง แต่ว่านามธรรมต่างชนิด

    เพราะฉะนั้น เราจะศึกษาได้ว่า จิตที่ต่างกันเป็น ๘๙ ชนิด หรือ ๑๒๑ ประเภทก็ตามแต่ โดยพิเศษ ก็เพราะเหตุว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วยต่างกัน เจตสิกที่เป็นอกุศลเกิดเมื่อไร จิตนั้นเป็นอกุศล เป็นกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะมีจิตหลายประเภททีเดียว ถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ชนิด ส่วนเจตสิกมี ๕๒ ชนิด ความโกรธเป็นเจตสิก หรือจิตคะ

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ ๑ แล้ว เอกัคคตาเจตสิก เมื่อกี้นี้ก็อีก ๑ นับไปนับมาก็ ๕๒ อย่าง ที่เคยเป็นเราทั้งหมด ก็คือเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีลักษณะปรากฏทั้งวัน โดยไม่รู้ว่า เป็นธรรม ทั้งวันเป็นธรรมทั้งหมดที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง คือจริงๆ ทุกอย่างในโลกนี้ก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นเมื่อไรคะ

    ผู้ฟัง เวลานี้

    ท่านอาจารย์ เวลานี้คืออย่างไร คือเกิดขึ้นจึงปรากฏ เมื่อเช้ารับประทานอะไร เห็นอะไร คิดอะไร ขณะนี้ไม่ใช่เมื่อเช้านี้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเราไม่ศึกษาโดยละเอียด เราคิดว่า เกิดแล้วก็ตาย เท่านั้นเอง หรือว่าจากสุขเป็นทุกข์ จากแข็งแรงเป็นป่วยไข้ เราคิดเพียงแค่นั้นว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลง แต่สภาพธรรมใดที่เกิด จากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมนั้นดับทันทีที่เกิด แล้วทำหน้าที่ของธรรมนั้นสั้นๆ นิดเดียวแล้วก็ดับ อย่างเห็น กับได้ยินไม่ใช่ขณะเดียวกัน พร้อมกันไม่ได้ เห็นต้องอาศัยตา จักขุปสาทอยู่กลางตา ได้ยินไกลจากตา มาอยู่ที่หู เพราะฉะนั้นจะเป็นขณะเดียวกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิต ๑ ขณะที่เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งเดียว เช่น จิตเห็น ไม่ได้ยิน ไม่ใช่คิดนึก เป็นคนละจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน

    ผู้ฟัง แต่อย่างเวลาเราดูทีวี ในภาพโชว์แบบนี้ปุ๊บ แล้วเสียงเราก็ได้ยินในช่วงเวลาเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ คนทั่วไปไม่รู้จักจิต และเจตสิกตามความเป็นจริง ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรม ไม่รู้ว่าเป็นธรรม แต่เมื่อเกิดขึ้นก็คิดว่า เป็นเรา แต่ถ้ามีปัญญาจริงๆ ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ ตรงไหนเป็นเรา เพียงเกิดขึ้น มีลักษณะอย่างนั้นแล้วก็ดับไป ความโกรธเกิดขึ้นเปลี่ยนลักษณะไม่ได้ ต้องขุ่นเคือง ต้องหยาบกระด้าง ลักษณะของโทสะเป็นอย่างนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มีจริงๆ เมื่อเกิดขึ้นปรากฏ ถ้าไม่เกิดขึ้น อยู่ที่ไหน ปรากฏหรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างนั้นอยู่ที่ไหน ไม่เกิด ถ้าไม่เกิดก็คือไม่มี แต่เมื่อใดเกิดขึ้นเมื่อนั้นมีชั่วขณะที่เกิดแล้วปรากฏ นี่คือสัจจธรรม ทุกขลักษณะ ทุกขอริยสัจจะ ลักษณะไม่เที่ยง เป็นของธรรมดาของทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ไม่มีเราเลย ใช่ไหมคะ จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก รูปเป็นรูป เพราะฉะนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง แต่ที่ยกตัวอย่างว่าทีวี เหมือนกับว่า ท่านอาจารย์เพิ่งบอกว่า การได้เห็น กับได้ยินเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเร็วมาก เพราะเร็วแสนเร็วจนเหมือนไม่ดับเลย เหมือนไฟ เหมือนสว่างตลอดเวลา หรือแสงเทียนขณะนี้ก็เหมือนสว่างตลอดเวลา แต่ต้องมีไส้เทียนแต่ละชิ้น ส่วนย่อยๆ ที่จะทำให้แสงเทียนนี้เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ใช่คะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แต่ละอันไม่ใช่อันเดียวกัน

    ผู้ฟัง เหมือนกับว่าเห็นกับได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ต้องคนละขณะ คนตาบอดไม่เห็น ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น เห็นกับได้ยินเสียงจะเป็นขณะพร้อมกันไม่ได้ เพราะว่าเห็นต้องอาศัยตาอยู่ตรงนี้ แล้วก็ได้ยินอาศัยหูเกิดขึ้นอยู่ตรงนี้ แล้วได้ยินก็ได้ยินเฉพาะเสียง จะเห็นด้วยไม่ได้ แล้วเห็นก็เห็นแต่สิ่งที่ปรากฏจะได้ยินด้วยไม่ได้ ถ้าพูดถึงรูป เวลานี้เหมือนเป็นแท่งทึบ รูปที่กายทั่วทั้งตัว เหมือนเป็นก้อนเป็นแท่งทึบ แต่ความจริงมีอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียดยิบ แล้วก็เกิดดับทุกกลุ่มเล็กๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจมีมาก แต่เมื่อรวมกันแล้วทั้งรูปทั้งก้อนโดยไม่เห็นว่า มีอากาศธาตุแทรกคั่น ก็คิดว่าเป็นเราทั้งตัว แต่ถ้ารู้ว่า เป็นอ่อนหรือแข็ง ซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ เหมือนกองฝุ่น หรือกองผง มันจะเป็นอะไรได้ นอกจากเป็นจริงอย่างนั้น แข็งก็คือแข็ง อากาศธาตุซึ่งแทรกคั่นก็คืออากาศธาตุฉันใด จิตที่ได้ยินก็ต่างขณะกับจิตเห็นฉันนั้น จะพร้อมกันไม่ได้เลย เป็นความรวดเร็วอย่างยิ่งของจิตซึ่งเกิดแล้วดับ


    หมายเลข 9398
    20 ส.ค. 2567