สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๗
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๗
ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อประจักษ์แจ้งความจริง เมื่อสิ่งนี้เป็นความจริงต้องสามารถรู้ได้ เพราะว่าไม่ใช่รู้ได้เฉพาะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมด้วยพระมหากรุณา เพื่อที่จะให้คนอื่นศึกษา พิจารณาจนเป็นความเข้าใจของตัวเอง จนกระทั่งสามารถอบรมปัญญาถึงระดับขั้นที่ประจักษ์การเกิดดับ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ใช้คำว่าอริยสัจจธรรม ความจริง เมื่อใครรู้แล้วผู้นั้นก็เป็นพระอริยบุคคล คนที่ไม่รู้ก็เป็นปุถุชน
ผู้ฟัง คนที่รู้
ท่านอาจารย์ เป็นพระอริยบุคคลเมื่อสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ที่เราเรียนในหนังสือที่โรงเรียน ทุกขอริยสัจจะ ทุกขสมุทัยอริยสัจจะ ทุกขนิโรธอริยสัจจะ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจะ เราก็เรียนเรื่องชื่อ แต่ตัวจริงมี เป็นธรรม ทรงพระมหากรุณาแสดงโดยละเอียดยิบ จนกว่าเราจะมีความเห็นที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง
ผู้ฟัง จริงๆ ก็คือยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ อันนี้ดีมากเลย เพราะเราเริ่มรู้เมื่อไรว่า เราไม่เข้าใจ คือเราเริ่มจะศึกษาให้เข้าใจถูกขึ้น เพราะเราคงไม่ยินดีกับการที่เราไม่เข้าใจไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เห็น ก็ไม่เข้าใจ ได้ยินก็ไม่เข้าใจ คิดว่าศึกษาธรรม แต่ว่าถ้าไม่รู้ธรรมว่า เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เราก็ศึกษาเพียงเรื่องราว
ผู้ฟัง เท่าที่ท่านอาจารย์พูดมา เข้าใจเกือบทั้งหมด ยกเว้นเวลาท่านใช้ศัพท์
ท่านอาจารย์ แต่เวลานี้ก็เริ่มเข้าใจความหมายของจิต อันนั้นเจตสิก อันนั้น
ผู้ฟัง อันนั้นเข้าใจ ก็ยังไม่เข้าใจถึงต้นกำเนิดของคำถามว่า สมาธิ
ท่านอาจารย์ สมาธิเป็นเจตสิก เป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เกิดกับจิตทุกขณะ ใครบอกเรา
ผู้ฟัง ไม่มีใครบอก
ท่านอาจารย์ มีสิคะ
ผู้ฟัง ใครบอกเรา
ท่านอาจารย์ ผู้ตรัสรู้ สามารถที่จะทรงแสดงว่า จิต ๑ ขณะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร อะไรบ้างด้วย
ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ตรงไหน
ผู้ฟัง ตรงสมาธิ คือสมาธิเป็น
ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ เอกัคคตาเจตสิกเป็นสภาพเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง เพราะฉะนั้นเกิดกับจิตทุกขณะเลย เพราะว่าจิตทุกขณะที่เกิด จิตหนึ่งก็มีอารมณ์หนึ่ง จะมี ๒ อารมณ์ไม่ได้ แล้วถ้าลักษณะของความตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียวนานๆ ก็จะปรากฏความตั้งมั่น ที่เราใช้คำว่า สมาธิ เพราะฉะนั้น สมาธิก็คือเจตสิก ไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เรา สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกชนิด ไม่เว้นเลย เพราะฉะนั้น สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิกเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี ถ้าเกิดกับอกุศลจิต ก็ต้องเป็นอกุศลจิต ถ้าเกิดกับจิตที่ดี ถึงจะเป็นกุศลจิต
ผู้ฟัง การนั่งสมาธิเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือว่าเขานำสิ่งที่ดี แต่ไปเผยแพร่ในแง่ที่ไม่ดี ในแนวที่ไม่ดี ทำให้คนลุ่มหลง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญาที่จะเข้าใจ ในเมื่อปัญญาเข้าใจถูกต้องว่า ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกเป็นสมาธิก็ได้ เกิดกับจิตที่ดีก็มี เกิดกับจิตที่ไม่ดีก็มี จึงมีสมาธิ ๒ อย่าง คือ มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ ถูกต้องไหมคะ และเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะไหนเป็นมิจฉาสมาธิ ขณะไหนเป็นสัมมาสมาธิ คือ ต้องเป็นเรื่องการไตร่ตรองของเรา ตั้งแต่เรื่องธรรม นามธรรม รูปธรรม เรื่องจิต เจตสิก รูป เรื่องอนัตตา ไม่มีเจ้าของ ไม่เป็นของใคร บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย ทุกอย่าง
เพราะฉะนั้น เมื่อเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ก็ต้องมีสมาธิ ๒ อย่าง คือ สมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง กับสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง แล้วจะรู้ได้อย่างไร ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นมิจฉาสมาธิ ขณะไหนเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญารู้ไม่ได้เลย