สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๘
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๐๘
ผู้ฟัง การนั่งสมาธิเพื่ออะไร
ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ ใครนั่งต้องถามคนนั่ง ถามคนอื่นไม่ได้ ใครนั่งต้องถามคนนั่ง ว่านั่งเพื่ออะไร
ผู้ฟัง นั่งเพื่ออะไร อย่างที่เคยเรียนมา นั่งเพื่อให้เรามีจิตมุ่งมั่นไม่ฟุ้งซ่าน คือ เวลาทำอะไรจะได้มี Focus
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิ ธรรมต้องตรง
ผู้ฟัง ทำไมสิ่งนั้นจะต้องเป็นมิจฉา หรือว่าสัมมา
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าสมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท เกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ ถ้าเกิดกับกุศลเป็นสัมมา ถ้าเกิดกับอกุศลเป็นมิจฉา
ผู้ฟัง มีไหมว่า ในบางทีที่เราทำอะไร ไม่จำเป็นจะต้องแยกว่า ดีหรือไม่ดี
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเพราะเราไม่รู้ต่างหาก แต่สภาพธรรมที่ดี ใครจะเปลี่ยนให้เป็นไม่ดีไม่ได้ แล้วสภาพธรรมที่ไม่ดี ใครจะเปลี่ยนให้เป็นสภาพธรรมดีก็ไม่ได้ แต่เพราะเราไม่รู้ เราจึงคิดว่าสิ่งที่ไม่ดีนี่ดี แต่ถ้ารู้ก็ตรง สิ่งที่ไม่ดีคือไม่ดี สิ่งที่ดีคือดี นั่นคือมีความรู้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ การศึกษาทั้งหมด วิชาทางโลกก็ต้องการให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่เรียน ไม่ใช่เข้าใจผิดๆ ทำผิดๆ
เพราะฉะนั้น ทางธรรม การศึกษาธรรมก็คือให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง นี่คือประโยชน์สูงสุด ถ้าไม่สามารถที่จะเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จะศึกษาทำไม เพื่ออะไร ไม่มีประโยชน์ ศึกษาแล้วก็ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ศึกษา ไม่ว่าอะไรทั้งหมดเพื่อให้รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง แม้แต่ศึกษาธรรมก็ต้องตรงต่อธรรม เมื่อธรรมเป็นอย่างนี้ ศึกษาให้เข้าใจความจริงอย่างนี้ว่า เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เรายึดถือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยความไม่รู้ว่า เป็นของเรา หรือเป็นเรา แต่ความจริงรูปก็คือรูป ไม่ใช่ของใคร จิตก็เป็นจิต ไม่ใช่ของใคร เจตสิกก็เป็นเจตสิก ไม่ใช่ของใคร
ผู้ฟัง แล้วอย่างนี้คนเราในโลกนี้แบ่งกันด้วยอะไร ว่าใครเป็นใคร
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป จะมีคนไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่มีจิต ไม่มีคน แต่ถ้าเจตสิก
ท่านอาจารย์ เจตสิกต้องเกิดกับจิต ที่ไหนมีจิต ที่นั่นต้องมีเจตสิก จิตจะเกิดเดี่ยวๆ ตามลำพังไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เกิดไม่ได้เลย คนที่ไม่รู้ก็คิดว่า เกิดขึ้นมาเอง แต่จากการตรัสรู้ รู้ว่าทุกสิ่งที่เกิด ถึงแม้นามธรรมเป็นสภาพที่ไม่ใช่รูปธรรมเลยด้วยประการทั้งปวง ไม่มีรูปร่าง แต่ก็ทรงตรัสรู้ในสภาพซึ่งไม่มีรูปร่างเลย เป็นเพียงธาตุรู้ ว่ามีอะไรเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตก็เกิดไม่ได้
ผู้ฟัง อะไรที่ทำให้เกิดเจตสิก
ท่านอาจารย์ จิต เจตสิกเกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เกิดที่เดียวกับจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕
ผู้ฟัง จิตทำให้เกิดเจตสิก
ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยให้เกิด เรียกว่า สหชาตปัจจัย หมายความว่าปราศจากกันไม่ได้ ต้องเกิดพร้อมกัน
ผู้ฟัง แล้ว ๒ สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะอะไรคะ
ท่านอาจารย์ เป็นสหชาตปัจจัย คือ เกิดพร้อมกัน ชาต แปลว่า เกิด เพราะสิ่งนั้นมีสิ่งนี้จึงมี ถ้าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี โดยอัตถิปัจจัย เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง สภาพธรรมที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะหลายปัจจัย
ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเจตสิก อีกทีได้ไหม
ท่านอาจารย์ ความขุ่นใจ เอกัคคตา ความตั้งมั่น
ผู้ฟัง แล้วอะไรที่ทำให้เกิดความขุ่นใจคะ
ท่านอาจารย์ เมื่อไม่ได้สิ่งที่พอใจ ถ้าไม่มีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็จะไม่มีโทสะ
ผู้ฟัง ถ้าเกิดไม่มีเหตุ ก็จะไม่มีผล แต่ถ้าเราไม่สนใจกับเหตุนั้น ผลก็จะไม่เกิดกับจิตเรา
ท่านอาจารย์ เราพูดถึงเราไม่สนใจ แต่ไม่มีเรา มีจิต มีเจตสิก มีรูป
ผู้ฟัง ถ้าจิตไม่สนใจกับเหตุการณ์ หรืออะไรที่เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ มีใครจะยับยั้งจิตไม่ให้เกิดได้บ้าง เพราะฉะนั้น ต้องมีจิตเสมอ จะไม่ให้จิต เจตสิกเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิต เจตสิกต้องเกิด เราจะไม่จะอย่างนั้น จะอย่างนี้ เราจะไม่ อะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ทำอะไรจิตเจตสิกไมได้ ต้องเกิด ตามเหตุตามปัจจัย
ผู้ฟัง ทางที่ดีหรือทางที่ไม่ดี
ท่านอาจารย์ แล้วแต่การสสะสม แม้แต่ความคิด ทุกคนในที่นี้ ขณะนี้ คิดไม่เหมือนกันเลย ตามการสะสม จะไปบังคับให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง จะบอกให้คิดอย่างเดียวกันก็ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่เคยรู้ล่วงหน้าเลยว่า อะไรจะเกิดต่อจากขณะนี้ ขณะนี้เห็น แต่ต่อไปจะได้ยินหรือจะคิดนึก เราก็รู้ไม่ได้ แล้วแม้แต่ความคิดนึก จะคิดนึกเรื่องอะไรก็ยังรู้ไม่ได้อีก อยู่ดีๆ ก็เกิดคิดขึ้นมา เราอาจจะคิดว่า ทำไมเราคิดอย่างนี้ แต่ความจริงทุกขณะที่คิด เราไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าก่อนว่า เราจะคิดอย่างนี้ แต่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้คิดอย่างไรเกิดขึ้นก็คิดอย่างนั้น จนกว่าจะหายสงสัย เพราะธรรมเป็นเรื่องจริง ความจริงต้องสามารถพิสูจน์ได้ พิจารณาไตร่ตรองได้จนถึงที่สุด ความจริงจะไม่เปลี่ยนเลย