การนั่งสมาธิ เป็นการพาไปถึงการเห็นจริงไหม


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๑๐


    ผู้ฟัง ถ้าเราบอกว่าการนั่งสมาธิ เป็นการพาไปถึงการเห็นจริง

    ท่านอาจารย์ เห็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เมื่อไรที่จิตเราสงบ เราก็ไม่โกรธ ไม่หลง ดีใจ อันนั้นจะเรียกว่าเป็นปัญญาได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ยังเลย เมื่อกี้เพียงแค่ทำให้จิตเราสงบก่อน สงบนี่คืออะไร สงบเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม

    ผู้ฟัง นามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต หรือเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก ถ้าใช้คำว่า “สงบ” หมายความว่าสงบจากอะไร

    ผู้ฟัง สงบจากความคิด ซึ่งเราคิด แล้วทำให้จิตเราไม่สุข

    ท่านอาจารย์ กล่าวว่าสงบจากอกุศลได้ไหมคะ คำว่าสงบ ไม่ใช่สงบเฉยๆ นั่งเฉยๆ อยู่ในป่า อยู่ในห้อง อยู่คนเดียว อย่างนั้นไม่ใช่สงบ ต้องเป็นจิตที่สงบ แต่ว่าต้องรู้ว่า สงบจากอะไร สงบเฉยๆ ไม่ได้ ต้องสงบจากอะไร

    ผู้ฟัง สงบจากการคิด

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องไปสงบจากการคิด คิดมันเป็นอย่างไรถึงต้องไปสงบ

    ผู้ฟัง สงบความรู้สึกที่เราโกรธ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แปลว่าขณะนั้น ถ้าพูดถึงสงบ คือสงบจากความโกรธ แล้วสงบจากอะไรอีก นอกจากความโกรธ อกุศลใหญ่ๆ มี ๓ ทราบไหมคะ อะไรบ้าง ได้ยินคำว่า โลภะ ไหมคะ

    ผู้ฟัง โลภ

    ท่านอาจารย์ โทสะ

    ผู้ฟัง โกรธ

    ท่านอาจารย์ โมหะ

    ผู้ฟัง หลง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องสงบจาก ๓ อย่าง ไม่ใช่สงบจากโทสะอย่างเดียว ต้องสงบจากทั้งโลภะ โทสะ โมหะด้วย แล้วขณะที่กำลังอยากนั่ง สงบจากอะไร

    ผู้ฟัง อยากนั่ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อยากก็ไม่นั่ง เพราะฉะนั้น ที่นั่งเพราะอยาก เพราะฉะนั้น ขณะที่อยากนั่งสงบจากอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าอยากก็จะนั่ง

    ท่านอาจารย์ ใช่ ขณะที่อยากนั่ง

    ผู้ฟัง ความอยากก็คือความโลภ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น สงบหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ทำให้เราสงบ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าศึกษาเข้าใจก็คือตัวปัญญา สภาพธรรมที่เป็นตัวปัญญา ความเห็นถูกเกิดขึ้น แล้วก็จะนำไปสู่ความเห็นถูกยิ่งขึ้น จากการพิจารณาไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นของเราเอง คนอื่นให้เราไม่ได้เลย ปัญญา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนอกุศลของเรา ความไม่รู้ของเรา ให้เป็นกุศลได้ ให้เป็นปัญญาได้ แต่ทรงแสดงเหตุ และผลของสภาพธรรมทั้งหมดให้กระจ่างชัด ให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาเกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูกของตัวเอง ในชาติหนึ่งๆ สิ่งที่มีค่าประเสริฐสุด คือ ความเห็นถูกต้อง เพราะว่าเราไม่ได้มีความเห็นถูก ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ใครจะคิด ใครจะเข้าใจว่า ขณะนี้ไม่มีอะไรนอกจากสภาพที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูปเท่านั้น เกิดมาก็คือจิต เจตสิก รูปเกิด ถ้าจิต เจตสิก รูปไม่เกิด ก็ไม่มีใครเกิด ไม่มีอะไรเกิดทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร มีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็เป็นเราไปตลอด อยู่ในโลกของความไม่รู้ไป จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม แล้วก็ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นปัญญาของเราเอง

    ผู้ฟัง แต่คนทุกคนไม่ได้มีปัญญาเหมือนกันหรืออันเดียวกัน หรือแม้แต่จิต

    ท่านอาจารย์ แต่ปัญญาเป็นปัญญา ปัญญาก็คือ เป็นความเห็นถูกต้อง ไม่ใช่ของใคร ปัญญาเกิด แล้วก็ดับด้วย ทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งเกิดเพราะปัจจัย แล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง แล้วอย่างนี้อาจารย์จะทำอย่างไรให้คนทุกคนมีจิตขณะซึ่งต่างกันอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ โลกนี้แม้แต่เพียงรูป เราก็เห็นว่ามีทั้งที่ลุ่ม มีทั้งที่ดอน มีทะเล มีมหาสมุทร เอาไปถมให้มันเรียบเท่ากันหมด สำเร็จไหม

    ผู้ฟัง ไม่สำเร็จ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจะไปให้คนอื่นมีความคิดความเห็นเหมือนกันทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ แล้วแต่การสะสม ถ้าไม่มีบุญที่ได้สะสมมา แล้วในอดีต จะไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ประการที่ ๑ เป็นโอกาสที่หายาก เป็นขณะที่หายาก เพราะว่าแม้ว่ามีการแสดงธรรม หรือมีพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยพระองค์เอง แต่บุคคลนั้นเกิดเป็นสัตว์ ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจ หรือว่าถ้าเกิดในสมัยซึ่งไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว หรือคำสอนอันตรธานไปหมด แล้ว มีแต่พระไตรปิฎก ซึ่งคนไม่เข้าใจ ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะว่าต้องเป็นการศึกษา ทุกอย่างที่จะเข้าใจ ไม่ใช่เพียงอ่าน ทุกคนอ่านออก กอ ไก่ สระอา ก็อ่านออก ใส่ไม้เอก ก็อ่านออก แต่พระไตรปิฎกที่มีแต่ละคำเป็นพุทธวจนะจากพระโอษฐ์ ต้องศึกษาละเอียดมาก ถึงสามารถที่จะเข้าใจ แม้คำที่ทรงแสดงเบื้องต้น คือ ธรรม เราเริ่มรู้ว่า เราจะพูดธรรม จะสนทนาธรรม จะศึกษาธรรม ก็คือศึกษาสิ่งที่มีจริงๆ ไม่มีใครมาหลอก ไม่มีใครมาสร้าง สิ่งที่มีจริง มีจริงทุกวัน เกิดขึ้นทุกวัน แล้วก็หมดไปทุกวันด้วย แล้วสิ่งที่มีจริงอันนี้ ผู้ที่ตรัสรู้เท่านั้น จึงสามารถที่จะทรงแสดงลักษณะความจริงของสิ่งนั้นได้

    เพราะฉะนั้น เรามีโอกาสได้ฟัง แล้วถ้ามีศรัทธาที่ได้สะสมมา แล้วในอดีต ความสนใจของเรา ทำไมเราไม่ไปฟังอย่างอื่น ทำไมเราไม่ไปศึกษาเรื่องอื่น แต่เราฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร เพื่อความเห็นที่ถูกต้อง เราไม่ต้องการอะไรจากพระธรรม จะเอาพระธรรมไปทำอะไร มีอยู่อย่างเดียวคือเพื่อให้เข้าใจถูก ไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่ออะไรเลย

    ผู้ฟัง เพื่อเข้าใจถูก แล้วก็เพื่อ

    ท่านอาจารย์ ละความเห็นผิด เพื่อให้รู้ความจริงว่า ไม่มีเรา เป็นธรรมทั้งหมด ทุกอย่าง มีอะไรที่มี แล้วก็ไม่ใช่ธรรมบ้าง เป็นธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ศึกษา แล้วเข้าใจขึ้นว่า เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง แล้วเมื่อเรารู้ว่า มันเป็นธรรมทั้งหมด แล้ว อะไรจะเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เรารักอะไรมากที่สุดคะ

    ผู้ฟัง รักตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แน่นอน จะรักอะไรยิ่งกว่าตัว

    ผู้ฟัง รักพ่อรักแม่

    ท่านอาจารย์ พ่อแม่ของใคร

    ผู้ฟัง พ่อแม่เรา

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะมีเรา ทั้งหมดจุดศูนย์กลางอยู่ที่เรา

    ผู้ฟัง ก็คือ แต่ไม่มีเรา

    ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ เพราะมีความไม่รู้มาตั้งแต่เกิด เป็นธรรม แต่ยึดถือธรรมว่าเป็นเราทั้งหมด จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม แล้วเข้าใจขึ้น เมื่อมีความรักตัวเองมากที่สุด ทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง แสวงหาทุกอย่างเพื่อความพอใจของตัวเอง ถ้าเป็นในทางสุจริต ก็ พอใช้ได้ แต่ถ้าเป็นในทางทุจริต เป็นอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง ก็ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ถ้าเราห้ามยับยั้งความรักตัวไม่ได้ แล้วก็แสวงหาสิ่งที่ถ้าไม่ได้โดยสุจริต เราถึงกับทำทุจริต คนที่ทำทุจริต เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะความรักตัว ทั้งๆ ที่ไม่มีตัว แต่ถ้ารู้ความจริงขึ้นว่า ไม่มีเรา ความรักตัวเราก็จะน้อยลง เพราะไม่มี ชีวิตของเราก็จะเบาบางจากอกุศล

    ผู้ฟัง ก็คือทำให้ไม่มีความโลภ โกรธ หลง

    ท่านอาจารย์ เบาบาง แต่ยังไม่ได้ดับ จนกว่าปัญญาจะเจริญถึงขั้นที่สามารถดับได้ ไม่เกิดอีกเลย

    ต่อไปจะทราบว่า จิตที่เกิดมาต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดที่ใช้คำว่า ๔ ชาติ หรือ ชา – ติ คือ เกิดเป็นกุศล มีไหมคะ จิตที่เกิดเป็นกุศล เปลี่ยนอกุศลนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้ไหมคะ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตเกิดเป็นกุศลชาติ ๑ เพราะฉะนั้น ชาติของจิต ไม่ใช่ชาติจีน ชาติไทย ไม่ใช่ชาติอเมริกัน หรืออะไรเลย แต่เป็นชาติของจิต เมื่อเกิด แล้วต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ คือ เกิดเป็นกุศล หรือว่าเกิดเป็นอกุศล ซึ่งเป็นเหตุ เมื่อเหตุมีผลก็คือว่าทำให้เกิดจิตที่เป็นวิบาก วิบากที่นี้หมายความถึงเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำ ซึ่งจิตนั้นซึ่งเกิดสืบต่อได้กระทำไว้ สะสมมา พร้อมถึงกาลที่จะให้เกิดผลชนิดไหน ทางไหน ก็เกิดผลชนิดนั้นทางนั้น ก็เกิดผลเป็นจิตเห็นบ้าง จิตได้ยินบ้าง จิตได้กลิ่นบ้าง จิตลิ้มรสบ้าง จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายบ้าง มี ๕ ทางที่จิตจะเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำ แล้ว คือ เมื่อไรเห็นสิ่งที่ดี จิตนั้นเป็นผล เป็นวิบากจิต ถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก เลือกไม่ได้ ได้ยินก็เหมือนกัน ไม่มีใครอยากได้ยินเสียงซึ่งไม่น่าฟัง แต่ถึงกาลที่กรรมพร้อมจะให้ได้ยินเสียงที่ไม่น่าฟัง นอนหลับอยู่ก็ยังตื่นขึ้นมาได้ยินได้ เมื่อถึงกาลที่กรรมนั้นจะให้ผล ทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรม เกิดขึ้นได้ยิน

    เพราะฉะนั้น เราสามารถที่จะเข้าใจชัดเจนถึงคำว่า กรรม และผลของกรรม ว่าต้องเป็นจิต และเจตสิก เราก็มีความรู้ความเข้าใจสิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเรามากขึ้น

    นี่ก็ ๓ ชาติ แล้วใช่ไหมคะ เป็นกุศล ๑ จะเปลี่ยนให้เป็นอกุศล หรือเป็นวิบากก็ไม่ได้ เมื่อเกิดเป็นกุศลก็ต้องเป็นกุศล แล้วก็ดับไป อกุศลอีก ๑ ส่วนวิบากก็เป็นผลของกุศล และอกุศล แล้วอีก ๑ ก็คือกิริยาจิต ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ส่วนใหญ่เป็นจิตของพระอรหันต์

    ผู้ฟัง อันนี้ที่หนุ่ยอยากรู้เหมือนกันว่ามันมีไหม คือ ตรงกลาง

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เราจะใช้คำว่าตรงกลางก็ไม่ถูก แต่หมายความว่า

    ผู้ฟัง ก็คือไม่ได้รับรู้อะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ กิริยาจิตหมายความถึงจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก เป็นจิตทีมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นทำกิจเฉพาะที่เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่เป็นกุศลจิต ไม่ใช่เป็นวิบากจิต ก็เป็นเรื่องที่ตัวเราทั้งหมดเลย เรามีครบ แต่ว่าเราไม่เคยรู้ เมื่อไม่รู้ก็ยึดถือว่าเป็นเรา แล้วก็เป็นของเราด้วย เพราะฉะนั้น อกุศลเราเยอะไหมคะ เป็นประโยชน์มากที่ทราบ เพราะเหตุว่ามีทางที่จะทำให้อกุศลค่อยๆ ลดลงได้ สิ่งนั้นก็คือปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา แล้วไม่มีทางอื่นเลย แต่ปัญญาต้องเป็นความเห็นที่ถูกต้อง อบรมได้ เจริญได้ แต่ต้องตรงต่อสภาพธรรม จึงจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง


    หมายเลข 9403
    20 ส.ค. 2567