สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๑๑


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๑๑


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์ ขอให้ท่านอาจารย์อธิบาย ความหมายของคำว่า “ธรรม” ที่ลึกซึ้ง และลุ่มลึก ที่แสนจะเข้าใจได้ยากแสนยาก เราก็เรียนธรรมกันมานานแล้ว แล้วก็อยากทราบความหมายของไตรลักษณ์ด้วย ที่ลึกซึ้ง

    ท่านอาจารย์ การที่จะรู้จักธรรมละเอียดขึ้น ก็โดยการที่ได้ฟังมากขึ้นแล้วก็อบรมความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพระไตรปิฎก ๓ ปิฎก ๔๕ พรรษา ที่ได้ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจธรรม ก็คือไม่หยุดที่จะติดตามที่จะฟัง ที่จะไตร่ตรองให้เข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมก็คือทุกขณะในชีวิตไม่พ้นธรรมเลย ไม่ว่าจะหลับหรือตื่น อย่างวันหนึ่งๆ เราเคยคุยกันเรื่องอะไรก็ตามแต่ เรื่องความรู้สึกของเราอาจจะมีเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้น ทั้งหมดเป็นธรรมอย่างละเอียด ซึ่งย่อลงไปเกิดขึ้นในเสี้ยววินาที ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ความทุกข์ ความไม่พอใจ หรือว่าความสบายใจอย่างในขณะนี้ ก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นธรรมที่ปรากฏได้ ๖ ทาง คือ ทางตาขณะนี้ที่กำลังเห็น เราอาจจะไม่เคยคิดเลยว่า เป็นธรรม แล้วเราก็ไปหาธรรม ไม่รู้ว่าไปหาที่ไหน แต่ในขณะที่กำลังเห็นนี้เอง ก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงความละเอียดไว้มากในเรื่องของแม้ขณะที่เห็นว่า ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ แล้วการเห็นแต่ละครั้งต้องมีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ชั่วขณะนิดเดียวที่เห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม การฟังธรรมก็คือฟังเรื่องที่มีจริงในชีวิตของแต่ละคน ซึ่งปรากฏกับแต่ละคน ตามปัจจัยของแต่ละคน ซึ่งแลกเปลี่ยนกันไม่ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ การศึกษาธรรม เรื่องราวของธรรมที่ละเอียดมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จะทำให้เมื่อสติเกิด จะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะที่ละเอียดมากขึ้นตามไป เหมือนอย่างปริยัติที่ละเอียดขึ้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คือเวลาที่เราฟังธรรม เรารู้ได้เลยว่า ความรู้เราขั้นฟัง เริ่มได้ยิน เริ่มพิจารณา เริ่มคิด เริ่มไตร่ตรองว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังจริงแค่ไหน อย่างบอกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ก็เชื่อได้ขั้นฟัง แต่ว่าเมื่อไรจะรู้จริงๆ ว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งมีแล้วก็ไม่มี จากไม่มีก็มี แล้วก็หามีไม่ ก็เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาทุกขณะ เพราะฉะนั้น ก็คือว่าเข้าใจตัวเอง เข้าใจทุกอย่าง แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏภายนอก เราก็รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะศึกษาให้ละเอียดๆ แล้วก็เพื่อความเข้าใจมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่หวังว่า เพื่อสติเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะได้ฟังธรรม มีใครหมดความหวังบ้างคะ หวังทั้งวัน แล้วไม่หยุดด้วย พอได้อะไรมาสมหวังก็หวังต่อไปอีก ถึงสิ่งที่ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีเต็มเหมือนมหาสมุทรซึ่งถมเท่าไรก็ไม่เต็ม เพราะฉะนั้น ความหวังของแต่ละคนไม่หมดไปได้เลย แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็เริ่มมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ต้องไปหวังว่า เราจะไม่อยากเห็นสิ่งสวยๆ ไม่อยากได้ฟังเสียงเพราะๆ อันนั้นผิด เพราะว่ามีความเป็นเราเกิดขึ้น ซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก ว่าเราอยากจะมีแต่กุศล ไม่ให้มีอกุศลเลย

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของอกุศล โดยเฉพาะโลภะ เป็นสิ่งที่ละเอียดแล้วก็เห็นยาก เพราะว่าอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด พอเกิดมา พอรู้สึกตัวก็ติดข้องแล้ว เห็นแล้วก็อยากจะเห็น อย่างที่นี่ เราอยากจะกลับมาอีกไหมคะ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราได้ฟังธรรม ไม่ใช่ว่าเราจะหมดความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน ความพอใจ เป็นปกติทุกอย่าง แต่เราจะละความเห็นผิดซึ่งไม่เคยรู้จักธรรม แล้วก็ไม่เคยเข้าใจธรรมเลย

    เพราะฉะนั้น ธรรมโดยเฉพาะปัญญาที่เกิดขึ้น เขาก็จะมีกำลังทำหน้าที่เฉพาะระดับของปัญญานั้นๆ สำหรับคนที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล เต็มไปด้วยความต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็มีความเห็นผิด ไม่เห็นถูกในสภาพธรรมด้วย แต่สำหรับพระอริยบุคคล อย่างพระโสดาบัน ท่านเพียงแต่ละความเห็นผิด ความที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ แต่ท่านก็ยังมีความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามการสะสมของท่าน ตามระดับของปัญญาที่เป็นเพียงพระโสดาบันบุคคล ไม่ใช่พระอรหันต์ ไม่ใช่พระสกทาคามี ไม่ใช่พระอนาคามี เพราะเหตุว่าปัญญาต้องเจริญตามลำดับ แล้วก็ต้องละกิเลสตามลำดับ ถ้ายังมีความเห็นว่าเป็นเรา อย่างไรๆ ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อเรา แต่ถ้ามีความเป็นเราน้อยลง เราก็จะทำทุกสิ่งทุกอย่างตามการสะสม แล้วก็กุศลจิตของเราจะเกิดมากขึ้น เพราะรู้แจ้งตามความเป็นจริงว่า ทุกขณะไม่ใช่เรา มีปัจจัยก็เกิด แล้วใครอยากให้อกุศลเกิดมากๆ ในเมื่อรู้ว่า ถึงแม้ไม่ใช่เรา แต่เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อเป็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นเหตุ ก็ต้องนำผลที่ไม่ดีมาให้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรมก็จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนจากการไม่รู้อะไรเลย เป็นรู้ความจริง แล้วปัญญานั้นจะทำให้นำไปสู่ทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น มีใครชอบอกุศลบ้าง

    ผู้ฟัง ไม่ชอบ แต่มันรู้สึก ไปได้

    ท่านอาจารย์ เราไม่ชอบอกุศลอะไร

    ผู้ฟัง เราไม่ชอบโทสะ เราไม่ชอบโง่ แต่ว่าเราชอบโลภะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็ยังคงชอบอกุศลอยู่นั่นเอง แต่เอาแค่ความเห็นผิด เราอยากมีไหม เราชอบโลภะก็จริง แต่เราไม่ต้องการที่จะเห็นผิด เพราะฉะนั้น เราจึงศึกษาธรรม ฟังธรรม เพื่อความเห็นถูก

    ผู้ฟัง อาจารย์ วันนี้พวกเรามาก็ได้รับอาหารดีๆ บรรยากาศดีๆ ทำให้หนูคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับว่า วิบากกับผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ชอบตอนที่อาหารดีๆ อากาศดีๆ พอตื่นมาปุ๊บ วิบากหรือเปล่า เห็นก็เป็นวิบาก แต่เราจะไม่รู้เลย เราจะคิดถึงวิบากเวลาที่มีสิ่งซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำกับเรา ไม่ว่าทางดีหรือทางไม่ดี ทางบวกหรือทางลบก็ตาม เริ่มเห็นว่า ขณะนั้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็หมดปัญหาของคำถามที่ว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา เพราะต้องเป็นเราแน่นอน เพราะกรรมใครทำมา สิ่งนั้นก็เกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุ คือ กรรมนั้นๆ ที่ได้กระทำแล้ว

    คุณกฤษณาต้องทำกุศลมาวันนี้ แน่นอน แต่เพียงแต่บอกไม่ได้เท่านั้นเองว่าเป็นผลของกรรมอะไร กุศลกรรมอะไร เพราะกรรมเป็นสิ่งที่ปกปิด ขณะที่เรากำลังสนทนาธรรมเป็นกุศล ทำไมเราถึงสนใจที่จะได้ยินได้ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา มีความเห็นถูกต้องขึ้น แต่เราไม่รู้ว่า ผลของกรรมอันนี้จะทำให้เกิดจิตซึ่งเป็นผลของกรรมซึ่งเป็นวิบากเมื่อไร ชาติไหน ในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อเป็นผลของกรรมที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่เรามีโอกาสได้ฟังเสียงซึ่งทำให้เราเข้าใจธรรม ก็แสดงว่า ในอดีตเราต้องเคยมีกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา ทำให้เรามีโอกาสได้ยินได้ฟังอีก ชาตินี้เป็นอย่างนี้เพราะอดีตกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาที่ได้กระทำแล้ว ผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา จะทำให้ข้างหน้าต่อไปก็มีโอกาสได้ยินได้ฟังเสียงที่ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม


    หมายเลข 9404
    20 ส.ค. 2567