สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๑๕


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๑๕


    คุณอุไรวรรณ ท่านอาจารย์คะ ขณะนี้ได้ยินท่านอาจารย์กล่าวคำกล่าวที่ว่า รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร รู้อยู่อย่างนั้น ใช่ไหมคะ ขอความกรุณาอธิบายตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ใช้ว่า “รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร” ก็ได้ เราเปลี่ยนคำพูดได้ แต่ความเข้าใจต้องเหมือนเดิม ขณะนี้รู้อยู่อย่างไร ขอถามคุณเข็ม เพราะถ้าเราจะพูดถึงเห็นอย่างเดียว ขณะนี้เห็นอยู่อย่างไร ก็รู้อยู่อย่างนั้นหรือเปล่า ขณะนี้ทุกคนเห็น

    คุณอุไรวรรณ แต่ยังไม่รู้อยู่อย่างนั้นค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ต้องมีมากกว่านั้น คือปัญญา สามารถที่จะเห็นถูกต้องว่า ขณะนี้เห็นอย่างนี้แหละ แล้วปัญญารู้อย่างไรในเห็นที่กำลังเห็น ขณะนี้ มีเห็น ถ้าไม่มีปัญญาก็เห็น แต่ไม่มีรู้ ก็แค่เห็น แต่ถ้าเห็นอย่างนี้ ปกติอย่างนี้ แล้วรู้ คือรู้ความจริงของเห็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร เราก็อาจจะเปลี่ยนเป็น “รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร ในสิ่งที่กำลังรู้” เพราะว่าทางตากำลังเห็น รู้ความจริงของเห็นอยู่อย่างไร หรือไม่รู้เลย กำลังได้ยินมีจริงๆ เรายังไม่ต้องย้ายไปแต่ละทวาร ใช้คำเดียวก็ได้ รู้ทางหู คือ ได้ยินอยู่อย่างไร แล้วก็รู้ความจริงคือเห็นถูกต้องอย่างไรในขณะที่ได้ยิน เราจะรู้อะไร ถ้าไม่รู้เห็น รู้ได้ยิน รู้ได้กลิ่น รู้ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบกาย รู้คิดนึกที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะรู้อะไรก็ตาม แต่ความเห็นถูกในสิ่งนั้น เห็นว่าอย่างไรในสิ่งที่ปรากฏ

    คุณอุไรวรรณ เห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม จึงจะไม่มีเรา เพราะ จริงๆ แล้ว เราก็เริ่มต้นถูกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถบันดาลให้เกิดได้เลย อย่างแข็งที่กำลังปรากฏ เราไม่เคยคิด ทำไมมีแข็ง ถ้าเป็นร้อนหรือเย็น ทำไมมีร้อน ทำไมมีเย็น ถึงมีร้อนมีเย็น ทำไมถึงปรากฏ ถ้าไม่มีกายปสาทเป็นรูปที่สามารถกระทบ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็ปรากฏไม่ได้เลย เพราะว่าเย็นหรือร้อนอ่อนหรือแข็งที่โต๊ะ กระทบโต๊ะ โต๊ะไม่รู้ โต๊ะไม่มีปสาทรูปที่จะรับกระทบเป็นปัจจัยให้มีจิตที่รู้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็แสดงให้เห็นว่า มีสิ่งที่ปรากฏโดยที่ไม่เคยรู้ความจริงเลย เพราะฉะนั้น รู้ก็คือเห็นอยู่อย่างไร รู้อยู่อย่างไรในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ


    หมายเลข 9408
    20 ส.ค. 2567