สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๑๘


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๑๘


    ผู้ฟัง ปฏิบัติต่ออุปาทาน ปฏิบัติอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า อุปาทานอยู่ที่ไหน เมื่อไร แล้วถึงจะละได้ เช่น คำว่ากามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม คือสิ่งที่น่าพอใจ กาม เป็นสิ่งที่น่าพอใจ สิ่งที่น่าพอใจในชีวิตของเราจะพ้นจากสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ไหมคะ ดอกกุหลาบ ดอกลาเวนเดอร์ หรืออะไรๆ ก็ตามแต่ เป็นสิ่งที่น่าพอใจเมื่อเห็น

    เพราะฉะนั้น กามุปาทานก็คือความยินดีพอใจในกาม คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยึดมั่น อุปาทาน แปลว่ายึดมั่น ไม่ใช่เพียงแต่พอใจ แต่ยังพ้นไปไม่ได้เลย นี่คือความหมายของอุปาทาน เรายึดมั่นในสิ่งที่เราเห็น จนกระทั่งถึงบัดนี้ นานแค่ไหน แล้วก็ต้องการเห็นต่อไปในสิ่งที่เราชอบ

    เพราะฉะนั้น เราอยู่ในความติดข้อง ความยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าวันไหนได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ เป็นอย่างไรคะ โสมนัสมีความสุข แสดงถึงความยึดมั่น เพราะฉะนั้น ก็ยากแสนยากที่จะละความยึดมั่น ต้องเป็นถึงพระอนาคามีบุคคล พระโสดาบันยังละความติดข้อง ความยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสไม่ได้ แต่ว่าต้องอบรมเจริญปัญญาถึงระดับพระอนาคามีบุคคล เพราะเหตุว่าเราติดมานานมาก สิ่งที่เราติดมานานๆ จะให้หมดไปทันทีไม่ได้ แม้ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ประจักษ์แจ้งในการเกิดขึ้นของสภาพธรรม สามารถที่จะดับความเห็นผิด เพราะว่ารู้ถูกว่า เป็นธรรม แล้วรู้ถูกต้องในการเกิดดับ แล้วก็ประจักษ์แจ้งอริยสัจ เป็นพระโสดาบัน ไม่มีความสงสัยในธรรมหมดความสงสัยในนิพพานในอริยสัจทั้ง ๔ แต่ด้วยความเป็นผู้ตรงก็รู้ว่า ยังละความยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รู้ทางกายไม่ได้ เพราะเหตุว่าสะสมมานานแสนนาน

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเมื่อละความเห็นผิดแล้ว ก็ยังจะต้องเห็นโทษของการติดข้อง ความยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่สำหรับปุถุชน คือ คนที่ยังไม่รู้ บอกสักเท่าไรถึงโทษของกาม ทรงแสดงไว้มากมาย ก็คือปัญญาของผู้รู้ที่ท่านเห็นโทษจริงๆ แต่ผู้ที่ยังไม่ถึงปัญญาระดับนั้น ถึงจะบอกโทษของกาม พรรณนาว่าเหมือนความฝัน เหมือนสิ่งที่ได้มาในความฝัน ตื่นขึ้นมาก็หายไป เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่มีอะไรเลยซึ่งยังคงอยู่ จะพูดพรรณนาสักเท่าไร ละได้ไหมคะ กามุปาทาน ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องจริง ต้องค่อยๆ อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก นี่คือกามุปาทาน สำหรับอุปาทานอื่นก็เป็นเรื่องของความเห็นผิด ซึ่งพระโสดาบันดับ แต่สำหรับกามุปาทานต้องพระอนาคามีบุคคล

    ผู้ฟัง อาจารย์อธิบายให้ฟัง คือว่าทำความพอใจ เมื่อเวลาอารมณ์เกิดทางหู ทางตา ทางใดก็แล้วแต่ทางทวาร ๕ นี้ พยายามทำลายความยินดีในทวารทั้ง ๕ อย่าให้เกิด ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ เราพยายาม หรือว่าปัญญารู้หนทางที่จะรู้สภาพธรรมนั้น แล้วจึงละได้

    ผู้ฟัง ใช้ปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าเป็นเรา เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือว่า มีตัวตน แต่ถ้าเป็นปัญญาก็คือว่า เมื่อเข้าใจแล้วว่าหนทางมีหนทางเดียว ทรงแสดงไว้ว่าการที่จะละกิเลส ก็มีหนทางเดียว คือ สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็อบรมจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น เมื่อปัญญาอบรมเจริญแล้วก็สามารถที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นก็สามารถที่จะละคลายจนกระทั่งถึงโลกุตตรจิต ก็ดับได้เป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง ... คนเดียว คือกัน บ มันจะ บ ซื่อ เมื่อก่อนก็ซื่อไว้

    ท่านอาจารย์ ถ้าอ่านประวัติของผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพุทธสาวก จะเห็นได้ว่าท่านสะสมความเป็นพหูสูตร ความเป็นผู้ฟังมาก แสนกัปก็มี เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงชาติเดียวที่ท่านฟัง ก่อนที่ท่านจะเริ่มความที่สะสมปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เหมือนพวกเราไม่มีต่างกันเลย มีความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม ได้ฟังพระธรรม ไม่ใช่จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว หลายๆ พระองค์ ตามที่ท่านกล่าวไว้ว่า ในสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าวิปัสสี ทรงพระนามว่าสิทธัตถะ ทรงพระนามว่ากัสสป ก็มากมาย แล้วปัญญาถึงจะค่อยๆ อบรมจนกระทั่งถึงกาลที่สมบูรณ์ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าย้อนถอยไปถึงชีวิตของท่านเหล่านั้นในกัปๆ ก็เหมือนผู้ที่กำลังฟังแล้วก็เริ่มสะสมความเป็นพหูสูตร ความเป็นผู้ฟังมาก แต่ความเป็นผู้ฟังมากไม่ใช่เพียงจำนวนครั้ง หรือว่าจำนวนเวลาที่ฟัง แต่ปัญญาที่เกิดจากการฟังแต่ละครั้งเพิ่มขึ้นเข้าใจขึ้น สะสมขึ้น โดยไม่เป็นผู้ที่ท้อถอย เพราะเหตุว่าขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง เวลาที่เรามีความเพียรที่อยากจะได้อะไร แต่ก่อนที่จะได้ฟังธรรม ทำไมเราเพียรได้ แต่เพียรที่จะให้ฟังธรรมให้เข้าใจ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีกำลังปรากฏ ถึงฟังอย่างไรๆ ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่า เห็นเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ก็ทนทานต่อการพิสูจน์ ที่จะรู้ว่า สิ่งที่ไม่ใช่เราแล้ว จริงๆ เป็นอย่างไร ถ้าไม่เกิดขึ้นปรากฏไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่มีจริง เพราะเกิดขึ้น ปัญญาที่ได้อบรมแล้วสามารถประจักษ์การเกิดแล้วก็รู้ว่า สภาพธรรมที่เกิด เกิดเพราะปัจจัย ไม่มีใครสร้างเลย เพราะขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อะไรเลยทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น เมื่อธรรมเกิดขึ้นก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครบันดาลทั้งสิ้น ต้องเป็นขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ปัญญารู้การเกิดขึ้นของธรรมนั้น แล้วก็รู้การดับไปสภาพธรรมนั้นด้วย สภาพธรรมเป็นจริงอย่างนี้ ผู้ฟังทุกคนเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า การฟังมากพอหรือยังที่จะเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ถ้ายังไม่มากพอ ฟังอีก อ่านอีก สนทนาอีก จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น เป็นของที่ถูกต้องที่เพียงฟังครั้งแรกๆ จะให้มีความเข้าใจเท่ากับท่านที่อบรมมาถึงแสนกัป พอฟังก็เข้าใจได้ทันที อย่างท่านพระสารีบุตร ไม่ต้องเสียเวลามากเลย เพียงฟังก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าเราเป็นอย่างนี้ทุกชาติๆ สะสมอบรมไป ก็จะถึงวันนั้น แต่ต้องคิดถึงตามความเป็นจริงว่า ขณะที่ฟังเริ่มเข้าใจจากสิ่งที่ได้ฟังมากหรือน้อย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าบางคนฟังครั้งแรกก็รู้สึกว่า พอเข้าใจลางๆ แต่ว่าพอฟังอีก เหมือนที่ฟังคราวก่อน ทำไมตรงนี้เหมือนไม่เคยได้ยินเลย แปลว่าเริ่มที่จะรู้ว่า มีความเข้าใจตรงนั้นเพิ่มขึ้นอีก

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่ได้ฟังในครึ่งชั่วโมง หรือในชั่วโมงหนึ่ง จะมีความเข้าใจมากน้อยเท่าไร ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ตรงรู้ว่า เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก หรือว่ายังสงสัยอยู่ตรงไหน ก็ฟังแล้วก็พิจารณาด้วย ไม่ใช่ปล่อยไปให้เป็นความสงสัย หรือความไม่รู้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ก็ยากแสนยากที่จะรู้ตรงตามความเป็นจริงได้


    หมายเลข 9411
    20 ส.ค. 2567