สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๑๙
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๑๙
ผู้ฟัง เรื่องโลภะกับโทสะเกิดขึ้นตลอดเลย อยากจะเข้าใจว่าโลภะเป็นสภาพที่น่ารักแล้วก็มันติด แล้วมันมีโทษอย่างไร
คุณแจ๊ค มีใครไม่ชอบโลภะบ้างครับ อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว ได้เห็นดอกไม้สวยๆ มีใครไม่ชอบ มีใครไม่ติดข้องต้องการบ้าง ได้ลิ้มรสอาหารอร่อยๆ มีใครไม่ชอบบ้าง ความอยาก ความต้องการ ความติด อันนั้นเป็นโลภะไหมครับ ถ้าเกิดโลภะขั้นอ่อนๆ เราก็ไม่ค่อยเห็นโทษ ใช่ไหมครับ ไม่เห็นโทษ กลับชอบเสียด้วย ไม่เห็นโทษ แต่ถ้าเป็นโลภะที่หยาบๆ อย่างเช่นต้องการรักใครมากๆ หรืออยากได้อะไรมากๆ รู้สึกว่า มันกระวนกระวายไหมครับ เพราะว่าไม่ใช่สภาพที่เป็นกุศล สภาพธรรมนี้มีมลทิน เพราะฉะนั้น ไม่ค่อยต่างกับสภาพธรรมที่เป็นกุศล
เพราะฉะนั้น ถ้าเราศึกษาแล้วเข้าใจในลักษณะของโลภะจริงๆ เหมือนลิงติดกัง เหมือนกับว่าจับเราไปครอบ มันติดกระทะเหนียวแน่นเลย ไม่ยอมออกเลย ความติดก็มีหลายระดับ ถ้าเกิดว่า เราไม่ละเอียด เราไม่ตรงจริงๆ เราก็จะไม่เห็นโทษของโลภะ แล้วโลภะก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ เพราะถ้าเกิดติดข้องมากๆ จะนำมาซึ่งความผิดหวังบ้างไหมครับ อย่างพระอนาคามีท่านดับโทสะได้ เพราะว่าท่านมีปัญญาที่เข้าใจโทษของโลภะ ท่านต้องดับโลภะในขั้นกลางออกให้หมด ท่านถึงจะดับโทสะได้ โทสะ เราไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะลักษณะเขาหยาบกระด้าง ประทุษร้าย ไม่มีใครอยากให้โทสะเกิด แต่โลภะ รู้สึกว่าไม่ค่อยเห็นโทษเท่าไร อยากให้เกิดบ่อยๆ เกิดมาก็ไม่ค่อยเห็นโทษ
เพราะฉะนั้น ลักษณะของโลภะก็เป็นลักษณะที่ติด ที่ต้องการ ที่อยากได้ ลักษณะของโทสะ ไม่มีใครประสงค์เลย ไม่มีใครอยากที่จะมีโทสะ เพราะว่าไม่สบายใจ ขณะนั้นเป็นทุกข์เป็นร้อน ลักษณะของเขาต่างกัน เพราะฉะนั้น จะดับโทสะได้ก็ต้องดับโลภะได้ก่อน แล้วการดับโลภะได้ก็ต้องเริ่มจากการเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม เป็นธาตุ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วค่อยๆ เห็นโทษของตัวทีละเล็กทีละน้อย คือว่าต้องรู้ด้วยปัญญา ท่านอาจารย์เสริม
ท่านอาจารย์ เรื่องจริง คือ ทุกคนมีโลภะ แล้วทีนี้พอรู้ว่าโลภะเป็นอกุศล บางคนก็อาจจะคิดว่า แล้วจะทำอย่างไรกับโลภะ คล้ายๆ กับว่า พอรู้ว่าเป็นอกุศลก็ไม่อยากจะมี นี่เป็นความคิดที่ไม่ต้องการโลภะ ไม่อยากให้มีโลภะ เพราะเห็นว่าโลภะเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ความเป็นตัวตนก็จะมี ๒ อย่าง คือ เมื่อรู้ว่า โลภะไม่ดี ความรักตัวไม่อยากจะให้มีสิ่งที่ไม่ดี ก็ทำให้พากเพียรที่จะทำอะไรก็ไม่ทราบที่จะไม่ให้มีโลภะ บางคนก็อาจจะไม่เติมน้ำตาลในอาหาร ไม่อะไรต่ออะไรตั้งหลายอย่าง เพราะคิดว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วก็จะมีโลภะมากๆ ก็ทำตัวให้เดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เพราะไม่อยากให้ตัวเองมีโลภะ นั่นก็มีการปฏิบัติอย่างนี้มีไหมคะ บางคนก็ฝืน เคยชอบทุเรียน ก็ไม่ทาน เพราะว่าเดี๋ยวก็จะเป็นโลภะที่กินทุเรียน รับประทานทุเรียน ก็เป็นเรื่องของความที่บีบบังคับ พยายามที่จะไม่ให้มีโลภะ ถูกหรือผิด คิดดู
นั่นไม่ใช่หนทางที่จะไม่ให้เกิดโลภะ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง แต่ว่าก็มีคนที่พอเข้าใจว่า เป็นโลภะ โลภะไม่ดี ก็พยายามจะทำทุกทางที่จะไม่ให้โลภะเกิด โดยที่ว่าฝืนอัธยาศัย ไม่ใช่เป็นไปตามการสะสม ส่วนอีกบุคคลหนึ่ง โลภะนี้จะดับอย่างไรก็ไม่รู้ เกิดขึ้นก็เป็นอนัตตา ได้ยินได้ฟังมาว่า ทุกคนมีโลภะ แล้วก็เห็นจริงๆ ว่า ตัวเองก็มีโลภะเยอะๆ จะทำอย่างไรก็ดับโลภะไม่ได้ ก็เลยไม่ต้องทำอะไร ก็มี
เพราะฉะนั้น ก็มีบุคคลอยู่ ๒ บุคคลที่ปฏิบัติผิด เพราะเหตุว่าคนหนึ่งก็พยายามที่จะระงับยับยั้งทุกทางด้วยความเป็นเรา ส่วนอีกบุคคลหนึ่ง เมื่อโลภะดับไม่ได้ก็ปล่อยไปเลย เราก็มีโลภะของเราไปทุกวันๆ แต่ตามความเป็นจริงสิ่งหนึ่งซึ่งต้องมีความแน่ใจ มั่นคง เข้าใจขึ้นก็คือว่า ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ อันนี้จริงไหมคะ เพราะอะไรคะ โลภะเกิดแล้ว จะไปบังคับสิ่งที่เกิดแล้วไม่ให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วจึงได้ปรากฏ ถ้าไม่เกิดจะไม่ปรากฏเลยว่า มีโลภะ
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่รู้สึกหรือเข้าใจว่า มีความติดข้อง มีความต้องการ แล้วก็รู้ว่า ขณะนั้นภาษาบาลีใช้คำที่จะเรียกสภาพธรรมนั้นว่า “โลภะ” ก็เกิดขึ้นทำกิจการงานของโลภะ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราที่จะดับโลภะ บางคนก็ว่าปล่อยให้เป็นโลภะไป ไม่ได้ปล่อย ใครปล่อยก็ไม่ได้ แต่โลภะจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยของโลภะ ถ้าเกิดเห็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วจะให้โลภะเกิดได้ไหมคะ ทุกคนก็ส่ายหน้าว่า ไม่ได้แน่นอน เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่หน้าที่ของโลภะ ที่เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ดีแล้วจะพอใจ ก็เป็นหน้าที่ของโทสะ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ว่าสภาพธรรมทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเพราะปัจจัย ไม่ใช่เราปล่อย และไม่ใช่เราบังคับ แต่ต้องเป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้นให้มั่นคงขึ้นว่า เป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตา แต่ว่าถ้าพูดสั้นๆ ว่า เป็นธรรม เป็นอนัตตา ก็ไม่จริงกับปัญญาของเราที่เพียงพูดตาม เพียงแค่ฟังแล้วพูดตามว่า บังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา ก็ไม่พอ แต่เมื่อพูดอย่างไร ต้องอบรมปัญญาให้ถึงคำที่เราพูดด้วยปัญญาของเราเอง เช่น ทุกอย่างเป็นธรรม