สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๒๐


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๒๐


    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าขณะนี้มีแข็ง เฉพาะแข็งนั้นเป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจะรู้ได้ เราฟังธรรม เราพูดตามธรรมว่า ไม่มีเรา แต่พอมีแข็งปรากฏ เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงก็ยังเป็นเรา นี่คือความตรง ต้องตรงจนกระทั่งรู้หนทางว่า ทำอย่างไรแข็งตรงนั้นจึงจะปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ อบรมไป เพราะว่าสิ่งใดที่ได้ยินได้ฟังแล้ว พิสูจน์ก็จะรู้ว่าเป็นจริงอย่างที่ได้ยินได้ฟังทุกอย่าง แต่ต้องเป็นการพิสูจน์ คือ การรู้ของเราเอง การอบรมเจริญปัญญาของเราเอง เพราะฉะนั้น เราก็เป็นผู้ตรงว่า เราอยู่ระดับไหน ระดับความเข้าใจขั้นปริยัติ คือ ขั้นฟัง หรือว่าเริ่มที่จะมีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วสภาพธรรมแต่ละอย่างก็มีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ทันทีที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ความตรงยังต้องรู้ว่า รู้ลักษณะนั้นว่า เป็นธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมจริงๆ แล้วหรือยัง ก็เป็นเรื่องต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ถ้ามีการฟังแล้วยังไม่มีการระลึกได้เลยว่า เป็นธรรม ก็ต้องฟังจนกว่าไม่ว่าจะอยู่ขณะใด ที่ไหนก็มีการระลึกได้ อาจจะเป็นเรื่องก่อน แต่ภายหลังแม้ไม่ใช่เรื่อง ลักษณะของสภาพธรรมก็มีจริง แม้ในขณะนี้ก็สามารถระลึกได้

    เพราะฉะนั้น ปัญญาที่อบรมมาก็ต่างกัน บุคคลในครั้งพุทธกาล พระสาวกทั้งหลาย ท่านอบรมจนถึงพร้อมที่ท่านสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ในชาตินั้น เป็น เนยยะบุคคลบ้าง เป็นวิปัญจิตัญญูบุคคลบ้าง เป็นอุคติตัญญูบุคคลบ้าง แต่ว่าสำหรับเรามาถึงสมัยนี้ แล้วก็ตามความเป็นจริงอีก ถ้าไม่เคยมีบุญในอดีตที่ได้สะสมมาก็ไม่มีโอกาสจะได้ยินได้ฟังพระธรรมแน่นอน นอกจากนั้นถ้าเป็นผู้ที่สะสมศรัทธามาน้อย ฟังน้อยแล้วก็เบื่อ หรือว่าไม่สนใจ หรือว่าเห็นอย่างอื่นก็ยังสำคัญกว่า แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมปัญญามามากก็จะรู้ว่า ตลอดชีวิต ทุกสิ่งที่ได้มา ไม่ว่าจะเป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ เป็นความสุข ทุกอย่างชั่วคราว ไม่ถาวรเลย ติดตามไปถึงชาติต่อๆ ไปไม่ได้ แต่ว่าการสะสมปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เวลาที่ได้ฟังธรรมอีก ก็เข้าใจได้เร็ว แล้วสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ด้วย แต่ต้องอบรมไปเรื่อยๆ

    คงไม่ท้อถอยนะคะ ถ้าท้อถอยคงไม่อยู่ในห้องนี้ มีคนหนึ่งพอฟังธรรม เขาก็บอกว่า รู้แล้ว เขาก็ไปเที่ยว ตามสบายทุกอย่าง วันเสาร์ วันอาทิตย์ก็ไม่ได้ฟัง เพราะเหตุว่ารู้แล้ว เข้าใจว่า ตัวเองรู้แล้ว รู้หมด เพราะได้ยิน ก็ได้ยินซ้ำๆ ตา มีจริง เห็นมีจริง แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็มีจริง แล้วก็เป็นธรรมด้วย ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น เขาคิดว่าพอแล้ว เพราะถึงมาก็ได้ยินอย่างนี้อีก แต่ว่าภายหลังก็มีผู้ที่กล่าวให้ฟังว่า ถ้าขาดการฟังบ่อยๆ ใจของเขาก็จะนึกถึงเรื่องอื่น แต่ถ้ามีการฟังบ่อยๆ เพิ่มขึ้น เขาก็ยังมีโอกาสที่จะระลึกถึงธรรม แล้วก็ฟังธรรมด้วยความละเอียดยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงแค่มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ไม่ใช่เรา รูปไม่ใช่เรา เสียงไม่ใช่เรา นี้เป็นของธรรมดา วันเดียวจบ เพียงขั้นฟัง แต่จริงๆ ถ้าฟังอีกจะมีความลึกซึ้งของธรรมยิ่งขึ้น ควรแก่การพิจารณาที่จะทำให้เข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น โดยที่ว่า ไม่ได้หวังรอว่า เมื่อไรปัญญาจะถึงระดับขั้นที่ประจักษ์แจ้งความจริง แล้วก็หน่ายคลายความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส ในความเห็นต่างๆ จนกระทั่งดับได้เป็นสมุจเฉท นั่นเป็นเรื่องคิด นั่นเป็นเรื่องหวัง แต่เรื่องจริง คือ ระดับนี้ขณะนี้ ปัญญาของแต่ละคนอยู่ตรงไหน มีเท่าไร ถ้ารู้ว่า มีเท่านี้ จะมากจะน้อย ก็คือว่ายังไม่พอที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ การฟัง ไม่ใช่เรา ทุกคนได้ยินคำว่า “ขันธ์ ๕” ใช่ไหมคะ ขันธ์ ๕ ก็คือรูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ รู้เท่านี้พอไหมคะ แต่ถ้าฟังมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ธรรม สิ่งที่มีจริง มี ๔ อย่างซึ่งต่างกัน จิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็ได้ชื่อมาอีก ๔ ชื่อ นอกจากขันธ์ ๕ ก็ได้ชื่อของปรมัตถธรรม มาอีก ๔ ชื่อ พอไหมคะ ก็ไม่พออีก จนกว่าจะรู้ว่า จิตขณะนี้เป็นอย่างไร มีจริงๆ นั้นมีแน่ แต่ว่าลักษณะของจิตคงจะต้องลึกลับซับซ้อน เพราะเหตุว่าแม้ขณะนี้ที่เห็น โดยการศึกษาทราบว่าเป็นจิตโดยชื่อ เป็นจิตแน่นอน เพราะว่าเป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้ สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะคิดนึก ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ฟังเท่านี้อีก พอไหมคะ ก็ไม่พอ

    เพราะฉะนั้น คนที่รู้ว่าไม่พอๆ ๆ ๆ ก็จะฟังอีกๆ ๆ ๆ แล้วก็รู้ว่าธรรมลึกซึ้งขึ้นอีก จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจความต่างของขณะที่เป็นขั้นความเข้าใจจากการฟัง และเมื่อมีความเข้าใจจากการฟังก็จะรู้ว่า มีขณะที่ต่างกัน คือ ขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด สติที่นี้ไม่ใช่สติในขั้นของทาน หรือว่าสติในขั้นของศีล หรือในขั้นของความสงบของจิต เพราะเหตุว่าสติเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดกับขณะที่เป็นอกุศลเลย ถ้าใครบอกว่า ถือดีๆ อย่าให้หก นั่นคือสติ ถูกไหมคะ ไม่นะคะ เพราะขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต แต่ขณะใดที่เป็นไปในทาน ขณะใดที่เป็นไปในศีล ขณะใดที่เกิดความสงบของจิต หรือว่าการฟังในขณะนี้ ก็ต้องมีสติเกิดขึ้น แต่เราไม่รู้เลย กุศลจิตเกิดขณะนี้มีทั้งหิริ มีทั้งโอตตัปปะ มีทั้งศรัทธา มีทั้งอโลภะ มีทั้งอโทสะ มีกุศลหลายอย่างที่ต้องเกิดร่วมกับจิต ทำให้จิตในขณะนี้ ยังมีความสนใจที่จะเข้าใจธรรมต่อไป

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ความรู้ขั้นปริยัติทำให้เรารู้ว่า มีขณะที่ต่างกัน คือขณะที่หลงลืมสติที่เป็นสติปัฏฐานกับเวลาที่สติเกิด คือ ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน ถ้ารู้ ๒ อย่างนี้เมื่อไร ก็อบรมเจริญปัญญาขั้นต่อไปได้ แต่ถ้ายังไม่รู้ความต่างกันของ ๒ ขณะนี้ ก็ยังคงเป็นความรู้ขั้นฟังหรือขั้นปริยัติไปก่อน จนกว่าสังขารขันธ์ เมื่อกี้นี้เรามีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ คือ ขณะใดที่ไม่ใช่ความรู้สึกกับความจำ สภาพธรรมที่เป็นเจตสิกอื่นๆ เป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด


    หมายเลข 9413
    20 ส.ค. 2567