สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๒๓


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๒๓


    ผู้ฟัง อาจารย์กรุณาอธิบายเกี่ยวกับพรหมวิหาร ๔ ฟังดูเหมือนจะเหมือนๆ กันอยู่นะ

    ท่านอาจารย์ เมตตา มีจริงๆ หรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีจริงแล้ว ต้องเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เมตตาเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เมตตาเป็นอะไรล่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะพูดเรื่องอะไร ย้อนกลับมาเพื่อเราจะได้ไม่ลืม ไม่อย่างนั้นพอเราไปพูดเรื่องเมตตา เราก็ลืมเรื่องของปรมัตถธรรม เรื่องของขันธ์ แต่เราจะต้องตั้งต้นด้วยการรู้ว่า เป็นปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะได้ยินธรรมอะไร ปรมัตถธรรมอะไร อันนี้สำคัญมาก แล้วก็ให้รู้ว่า ขันธ์อะไรก็เป็นการเพิ่มเติมให้เราเข้าใจความต่างของปรมัตถธรรม ๓ ว่า จำแนกเป็นขันธ์ ๔ ขันธ์ สำหรับเจตสิกกับจิต เป็นนามขันธ์ ๔ รูปขันธ์ก็แยกไปต่างหาก ก็เป็นการทบทวนของเราเอง เพราะฉะนั้น ในที่นี้ขอทบทวนว่าเมื่อเมตตามีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นขันธ์อะไรอีก

    ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา แล้วต้องเป็นสังขารขันธ์ทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น เมตตาเป็นเจตสิก แล้วก็เป็นสังขารขันธ์ กรุณาล่ะคะ

    ผู้ฟัง กรุณาก็เป็นสังขารขันธ์เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เมตตา กรุณา มุทิตาล่ะคะ

    ผู้ฟัง มุทิตาก็เป็นสังขารขันธ์ ก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วก็อุเบกขาล่ะคะ ชื่ออุเบกขาเหมือนกับอุเบกขาเวทนา

    ผู้ฟัง เหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เลยไม่แน่ว่า อุเบกขาจะเป็นขันธ์อะไร แต่อุเบกขามีถึง ๑๐ อย่าง การศึกษาธรรมไม่ใช่เราไปรู้ชื่อทั้ง ๑๐ แล้วก็พยายามจำ แต่อะไรที่เราเข้าใจได้ วันนี้เข้าใจอะไรได้ เอาที่เข้าใจ ไม่ต้องครบ ๑๐ ก็ได้ แล้วต่อไปพอรู้อีก ก็เพิ่มขึ้นมาอีก เป็น ๑ เป็น ๒ เป็น ๓ จนกว่าจะครบ ๑๐ สะสมไป

    เพราะฉะนั้น “อุเบกขา” เป็นคำที่ใช้หมายความถึงเวทนาเจตสิกก็ได้ ความรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าจะให้ตรง ให้ชัด จะใช้คำว่า “อทุกขมสุขเวทนา” หมายความว่าไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอุเบกขาเวทนา ถ้าใช้คำว่าอุเบกขา ต้องใช้เวทนาด้วย จะได้หมายความว่า เป็นความรู้สึก เพราะว่าถ้าใช้คำว่าอุเบกขาคำเดียว หมายความถึงธรรมอื่นด้วย ถ้าพูดถึงอุเบกขาเวทนา เป็นขันธ์อะไรคะ

    ผู้ฟัง เป็นเวทนาขันธ์

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าพูดถึงอุเบกขาในพรหมวิหาร หรือว่าอุเบกขาที่เป็นพรหมวิหาร ไม่ใช่อุเบกขาเวทนา แต่เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ตัตรมัชฌัตตตา สภาพธรรมที่เป็นกลาง เพราะฉะนั้น เป็นสภาพธรรมที่ทำให้จิตตกไปในทางฝ่ายอกุศล ด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตทั้งหมด ตัตรมัชฌัตตตาเป็นขันธ์อะไรคะ ไม่ใช่อุเบกขาเวทนา แต่อุเบกขาในพรหมวิหาร ไม่ได้หมายความถึงเวทนา ความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหว

    ผู้ฟัง อกุศล หมายความว่า ตัตรมัชฌัตตตาไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิดค่ะ ไม่เกิดแน่ เวลาที่เราพูดถึงอะไร เราต้องรู้จักคำนั้นโดยความหมาย และโดยสภาพธรรมด้วย จะได้ไม่ปะปนกัน ไม่อย่างนั้นเราก็จะปะปน เมตตากับอุเบกขา แต่เมื่อพรหมวิหารมี ๔ ก็ต้อง ๔ คือ เมตตาไม่ใช่กรุณา ไม่ใช่มุทิตา ไม่ใช่อุเบกขา มุทิตาก็ไม่ใช่เมตตา ไม่ใช่กรุณา ไม่ใช่อุเบกขา อุเบกขาก็ต้องไม่ใช่เมตตา กรุณา มุทิตาด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า เป็นปรมัตถอะไรก่อน ก็เป็นเจตสิก เป็นขันธ์อะไร ก็รู้ว่า ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ใครจะบอกว่า ตัตรมัชฌัตตตาเป็นเวทนาขันธ์ไม่ได้ ต้องเป็นสังขารขันธ์ เพราะเหตุว่าตัตรมัชฌัตตตาไม่ใช่เวทนาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เป็นกลาง ไม่เป็นไปด้วยฉันทาคติ โมหาคติ ไม่เป็นไปในโลภะ ในโทสะซึ่งเป็นอกุศล เป็นกลาง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เมตตาเกิดขึ้น จะต้องมีโสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ ต่อไปจะทราบว่ามีอะไรบ้าง อโลภะก็ต้องมี อโทสะก็ต้องมี ศรัทธาก็ต้องมี สติก็ต้องมี หิริก็ต้องมี โอตตัปปะก็ต้องมี ขณะที่กำลังฟังธรรม มีหิริไหมคะ

    ผู้ฟัง ก็มีหลายอัน

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ ไปจนกว่าจะถึงเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

    หิริ แปลว่าสภาพของหิริ จริงๆ แล้วละอายสิ่งที่ไม่ดี หมายความว่า รังเกียจ ละอายในที่นี้ จะใช้คำอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่เข้าใกล้ เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้น ไกลจากอกุศล เพราะหิริ รังเกียจ ละอายที่จะเป็นอกุศล

    ขณะที่กำลังฟังธรรม มีหิริ แต่ไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเราละอาย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าถ้าสภาพธรรมที่เป็นหิริ เขาต้องเกิดทุกครั้งที่โสภณจิตหรือจิตฝ่ายดีเกิด โดยที่ว่าศรัทธาก็ต้องมี หิริก็ต้องมี โอตตัปปะก็ต้องมี นี่ชื่อทั้งหมด แต่ใครสามารถจะรู้ลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ใช่ไหมคะ ก็ต้องเป็นไม่ใช่ระดับขั้นของการฟัง เพราะว่าระดับขั้นของการฟัง แม้แต่จักขุวิญญาณ จิตเห็น ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ชนิด แล้วเราจะไปรู้ชนิดไหน แม้แต่ขณะที่กำลังเห็น ลักษณะของเห็นเป็นนามธรรมก็ยังไม่รู้ ทั้งๆ เห็นมีให้รู้ เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เกิดกับจิตเห็น จะไปรู้ได้ไหมถึงผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก อะไรก็ตามที่เกิดกับจิตเห็น สำหรับทางฝ่ายจิตที่ดี เป็นโสภณ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ แล้วก็ต้องมีตัตรมัชฌัตตตาเกิดร่วมด้วยทุกขณะ

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เมตตาเกิดก็จะต้องมีตัตรมัชฌัตตตาด้วย ไม่หวั่นไหว เป็นกลาง ไม่ลำเอียงด้วยโลภะ โทสะ ถ้าเราให้ของที่ดีกับลูกหลานหรือคนที่เรารัก เป็นเมตตาหรือเปล่า ต้องทราบความต่างของเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาก่อน

    เมตตา คือ ความเป็นมิตร พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกับสัตว์บุคคลเสมอกัน ถ้าไม่เสมอ เป็นเมตตาหรือเปล่า หรือว่าเป็นโลภะ

    ผู้ฟัง โลภะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ถ้ามีผู้ที่ถวายสิ่งที่ดีประณีตกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นโลภะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไรคะ

    ผู้ฟัง ก็เป็นเมตตานี้แหละ


    หมายเลข 9416
    20 ส.ค. 2567