สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๒๔
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๒๔
ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณา ไม่ใช่กรุณาแต่เฉพาะคนที่ลำบาก ตกทุกข์ได้ยาก แต่ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตามที่ไม่มีปัญญา ความเห็นถูก ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องเกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีก เราเกิดมานานเท่าไร แล้วถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ต้องเกิดต่อไปอีกเท่านั้น ฟังดูเหมือนเราอยู่มาได้อย่างไร แสนโกฏิกัปป์ ทีละ ๑ ขณะ ทีละ๑ขณะ ทีละ๑ขณะ ชาติหนึ่งหมดไป พอจุติจิต สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น ก็เกิดต่ออีก
เพราะฉะนั้น เห็นชาติก่อนกับเห็นชาตินี้ก็ใกล้กันมาก สำหรับภพภูมิที่สามารถที่จะเห็นได้ทันทีที่เกิด หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วก็ภวังคจิต เป็นไปในบางภูมิไม่ต้องอยู่ในครรภ์ ก็สามารถที่จะมีจิตเห็นพวกนี้เกิดได้ตามสมควร ก็นับว่าไม่ห่างกันไกลกับชาติก่อน ชาติก่อนก็อย่างนี้ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ได้อาหารอร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง มีเพื่อนดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เหมือนอย่างนี้ทุกอย่าง เราก็ผ่านมาแต่ละภพแต่ละชาติ แล้วก็ถ้าไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อยู่ต่อไปอีก ใครนับชาติได้ว่า จะอยู่อีกนานหรือไม่นาน แต่อย่างไรก็ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีทางออกจากสังสารวัฏฏ์ แล้วเราอยู่แบบทีละ ๑ ขณะ ไม่รู้ตัวเลย อยู่ไปเรื่อยๆ ทีละ ๑ ขณะ ๑ ขณะ เหมือนแสนโกฏิกัปป์ ฟังดูนานมาก แต่ก็มาสู่ขณะนี้ ทีละ ๑ ขณะ ทีละ ๑ ขณะ เกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ แล้วการสะสมก็ทำให้มีอุปนิสัยต่างกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต้องเป็นวิหารของพรหม เครื่องอยู่ของพรหม พรหมคือใคร คือผู้ประเสริฐ เวลามีเมตตาเกิดขึ้น ต้องรู้ว่า ขณะนั้นมีความเป็นมิตรอย่างจริงใจ เพราะเหตุว่ามิตร จะไม่แม้แต่แข่งดีกับผู้ที่เราเป็นมิตรด้วย ถ้ามีการแข่งดีเกิดขึ้น เป็นมิตรหรือเปล่า ไม่เป็น
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เมตตาคือความเป็นมิตร พร้อมที่จะเกื้อกูลด้วยความจริงใจ กรุณาก็คือการที่เห็นบุคคลอื่นอยู่ในสภาพที่ควรจะสงเคราะห์ ช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความทุกข์ ก็มีความเห็นใจ มีความเข้าใจ แล้วก็ช่วยโดยที่ไม่เกิดทุกข์หรือโทมนัส เพราะว่าโดยมากพอเราเห็นคนตกอยู่ในสภาพที่น่าสงสาร เขาปวดเจ็บมาก บางคนก็จิตใจไม่แช่มชื่น แล้วก็เศร้าหมอง แต่ขณะที่จิตใจไม่แช่มชื่น เศร้าหมอง ขณะนั้นไม่ใช่กรุณา แต่เป็นโทมนัส
เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เราที่เข้าใจธรรมพ้นจากอกุศลได้โดยการสะสม แล้วก็รู้ว่าจริงๆ แล้ว ก็คือใจของเราที่จะเป็นกรุณา ขณะนั้นต้องไม่เศร้าหมอง แต่เวลาที่เศร้าหมองเกิดขึ้นก็รู้ว่า ศัตรูใกล้ของกรุณาก็คือโทมนัส แทนที่จะเป็นกุศลก็เป็นอกุศล แต่ไม่ห่างกันเลย ใกล้ชิดกันมาก นี่คือกรุณา
มุทิตาก็คือยินดีเมื่อบุคคลอื่นมีความสุข อุเบกขาก็เป็นผู้ที่เป็นกลาง ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์อย่างไร ทุกคนเกิดมาก็เป็นไปตามกรรม
มีเรื่องที่จะทำให้เราหวั่นไหวมากมาย แต่ถ้าเราสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกว่า เป็นธรรม ถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นไม่ว่าจะกับใคร กับบุคคลใกล้ชิด หรือว่าคนห่างไกลก็ตามแต่ ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำมา ถ้าไม่ใช่กรรมที่ได้กระทำแล้ว ผลก็จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับใคร ทางฝ่ายที่เป็นทุกข์ เราก็รู้ว่าเป็นผลของกรรมที่ได้ทำมา เตือนให้ระลึกถึงกรรมทันที จะไม่หวั่นไหว แต่ถ้าไม่ระลึกถึงกรรม เราก็หวั่นไหว ถ้าได้ลาภ ได้ยศ ก็เตือนให้ระลึกถึงกรรมอีก ก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรมที่ได้ทำมา ไม่มีใครสามารถที่จะทำอะไรได้ นอกจากเป็นกรรมของแต่ละบุคคลที่ได้ทำแล้ว กรรมนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ มีจริงไหมคะ เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า ถ้ามีจริง
ผู้ฟัง เป็นปรมัตถธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรมอะไร ทั้งหมดที่มีจริงในชีวิตเป็นปรมัตถธรรม แล้วถ้าจะศึกษาธรรมก็คือไตร่ตรอง คิด จนกระทั่งรู้ว่าเป็นธรรมอะไร ก็มีแค่ ๔ ปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานไม่ใช่แน่ ก็จะเหลือ ๓ รูปก็ไม่ใช่ รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น กรรมต้องไม่ใช่สภาพรู้แน่นอน ก็มี ๒ อย่าง จิตหรือเจตสิก