สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๒๖


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๒๖


    ผู้ฟัง คนเรามันไม่สามารถแยกกาย และจิตออกจากกันได้ ถ้าถึงคราวเจ็บป่วยขึ้นมา เจ็บแรงๆ ขึ้นมา ก็มีอาการทุรนทุราย แล้วก็ร้องครวญคราง หมายความว่ายังยึด ยังถือ ยังปลง ยังวางไม่ได้ จะทำอย่างไรจะหาปมวางได้ ประพฤติปฏิบัติอย่างไร เอาข้อธรรมบทไหน หรือว่าจะทำวิธีใดจะปลงวางได้ ผมอยากถามท่านอาจารย์ ขออาจารย์จงอธิบายเพื่อกระผม และเพื่อเพื่อนๆ สหายธรรมทุกท่าน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครชอบความเจ็บปวด ใช่ไหมคะ แต่ก็พ้นจากความเจ็บปวดไม่ได้ อันนี้เป็นของที่แน่นอน แล้วก็ใครล่ะคะ เวลาที่เจ็บปวดแล้วจะไม่ทุรนทุราย ความรู้สึกไม่สบายใจ จะแสดงออกหลายอย่าง บางคนก็อาจจะไม่แสดงเลยก็ได้ แต่ถ้าเจ็บปวดมาก คนที่อาจจะมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยก็มี เพราะว่าบางคนไปฉีดยา หรือไปทำอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเจ็บปวดมาก บางคนทนไม่ได้เลย ต้องร้องโอ๊ย แต่บางคนก็ไม่อะไรผิดปกติ หรือจะมีก็เพียงเล็กน้อยก็ได้ หรือว่าถ้าความเจ็บปวดมันมีมากขึ้น ก็แล้วแต่การสะสมของอัธยาศัยของแต่ละบุคคลว่า จะมีปฏิกิริยาการแสดงออกอย่างไร

    ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่จะไม่เป็นทุกข์ต้องเป็นผู้ที่มีกิเลสเบาบางถึงขั้นพระอนาคามี ผู้ที่เป็นพระโสดาบันก็ยังมีการร้องไห้ อย่างวิสาขานิคามารดา หลานตาย โศกเศร้า ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า มีผมเปียก คงร้องไห้มากมาย แล้วก็ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่พระวิหารเชตวัน ก็ทรงแสดงว่า มาด้วยอาการที่ผิดปกติอย่างนี้เพราะมีอะไรเกิดขึ้น ก็พูดถึงเรื่องของหลานตาย ท่านเป็นพระโสดาบัน ความโศกเศร้าของท่านผิดปกติ แล้วก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ผิดปกติที่นี่ไม่ได้หมายความถึงผิดปกติอย่างมากมาย เพียงแต่ว่า ไม่เหมือนทุกวันที่ไม่มีความโศกเศร้าอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ความโศกเศร้าเป็นเรื่องธรรมดา ต้องมี แต่ว่าถ้าเราจะไม่ต้องการมีความรู้สึกโศกเศร้าอย่างนี้ หรือว่าอาการเจ็บปวดทรมานที่ถึงกับร้องอย่างนี้ ก็ต้องรู้ว่า ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ก็ต่อเมื่อหมดกิเลสถึงระดับขั้นที่จะไม่มีโทสะ ไม่มีความรู้สึกโทมนัส ไม่มีความเสียใจ ไม่ต้องร้องไห้อีกต่อไป ต้องเป็นไปตามเหตุ ตามความเป็นจริง เราต้องการผล แต่เหตุเราได้กระทำถึงอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าเราไม่ต้องการที่จะมีความเจ็บปวดทุรนทุรายถึงอย่างนั้นเพียงนั้น ที่จะต้องให้เกิดโทมนัส เราก็ต้องอบรมเจริญเหตุที่จะให้กิเลสหมดถึงระดับนั้น

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประชวรคือไม่สบายหรือเปล่า หรือตลอดพระชนม์ชีพแข็งแรงดี ไม่มีการป่วยไข้เลย หรือว่าทรงมีโรคภัยด้วย มีการป่วยไข้ด้วย มี ทำไมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วยังมี ไม่มีข้อยกเว้นเลย เพราะฉะนั้น เราต้องมีแน่นอน ไม่ทราบกลัวตายหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่กลัว แต่ก็เป็นบางครั้ง ไม่ใช่ไปตลอด บางครั้งผมก็ยังกลัว บางครั้งผมก็ไม่กลัว

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กลัว ไม่ตาย ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ตายเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กลัว ยังเป็นอยู่ บางครั้งก็กลัว บางครั้งก็ไม่กลัว บางครั้งที่กลัวก็ยังไม่ได้ตาย

    ผู้ฟัง ยังไม่ได้ตาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะตายตอนที่กำลังกลัว ได้ไหมคะ หรือจะตายตอนที่ไม่กลัว ได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ เมื่อไม่รู้จึงไม่กลัว เพราะเหตุว่าจะตายเมื่อไรก็ได้ เพราะว่ากำลังกลัว ตายก็ได้ กำลังเจ็บ ตายก็ได้ กำลังกลัว ไม่ตายก็ได้ กำลังเจ็บ ไม่ตายก็ได้

    เพราะฉะนั้น ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร ไม่มีใครรู้เลย เพราะฉะนั้น ก็กลัวทำไมในเมื่อไม่รู้ตัว เกิด ขณะเกิดก็ไม่รู้ตัว ขณะที่นอนหลับสนิท ก็ไม่รู้ตัว นอนหลับสนิทแล้วตายได้ไหมคะ ได้ จะกลัวไหมคะ ตอนนั้น เพราะว่าหลับสนิท ตอนเกิดไม่รู้ตัว ตอนหลับสนิทไม่รู้ตัว ขณะตายจริงๆ ๑ ขณะ ไม่รู้ตัวด้วย เพราะว่าความปวดเจ็บก็เคยปวดเจ็บ แต่ไม่ตาย เพราะฉะนั้น ก่อนจะตาย ถ้าปวดเจ็บก็กำลังปวดเจ็บ แล้วก็มีจุติจิต คือ ขณะสุดท้ายเกิดแล้วก็ดับไป สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เพราะจิตนั้นทำกิจพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่า ตอนไหน กำลังเห็นขณะนี้ ตายก็ได้ กำลังได้ยินขณะนี้ ตายก็ได้ กำลังคิดเป็นสุข ตายก็ได้ กำลังตกใจตายก็ได้ ล้วนแต่ว่าทั้งหมด ขณะที่กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่ใช่ขณะตาย ขณะตายเป็นจิต ๑ ขณะ เช่นเดียวกับขณะเกิดเป็นจิต ๑ ขณะ ขณะเท่ากัน มีอายุคือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตทุกขณะจะมีอายุเพียงเท่านั้น ขณะปฏิสนธิสั้นแสนสั้น นิดเดียว เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก แล้วก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่างสัณฐานลักษณะใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง ธาตุรู้ สภาพรู้ ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย เพราะฉะนั้น ในขณะนี้จิตเกิดขึ้นทำกิจการงานตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เคยหยุด แล้วแต่ว่าจิตนั้นทำกิจอะไร ถ้าเป็นจิตแรกที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนก็ ชื่อว่า ปฏิสันธิจิต ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า ปฏิสนธิ หมายความว่า สืบต่อจากชาติก่อน ขณะนั้นไม่รู้ตัว

    กำลังนอนหลับสนิท รู้ตัวไหมคะ ไม่รู้ ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมหนึ่ง เมื่อดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ทำให้จิตเกิดดับสืบต่อ ยังไม่ให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ในขณะที่เหมือนหลับสนิท เพราะว่าไม่รู้จักโลกนี้เลย ไม่รู้ว่าโลกที่ได้เกิดมามีลักษณะเป็นอย่างไร เพราะขณะนั้นยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น โลกนี้ไม่ปรากฏ การที่โลกนี้จะปรากฏได้ ต้องไม่ใช่ขณะที่เป็นภวังค์ ต้องเป็นในขณะที่กำลังเห็น ซึ่งไม่ใช่ภวังค์ กำลังได้ยิน ไม่ใช่ภวังค์ ขณะนี้โลกปรากฏ แต่คืนนี้ หรือขณะนี้บางคนที่อิ่มมากอาจจะเป็นภวังค์ก็ได้ เป็นภวังค์ขณะใด รูปหรือสิ่งใดๆ ไม่ปรากฏขณะนั้นเลย ชื่ออะไรก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นใครก็ไม่รู้ทั้งหมด มีสมบัติเท่าไรก็ไม่รู้ มีเพื่อนสนิทอย่างไร บุตรภรรยาไม่รู้หมด ในขณะที่หลับสนิท ฉันใด ไม่รู้ ปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้น แล้วก็เหมือนกับภวังค์ฉันนั้น แต่ว่าทำกิจต่างกัน คือ ภวังคจิต ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่ให้สิ้นชีวิต จนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้าย ไม่ได้ทำกิจภวังค์อีกต่อไป แต่เป็นจิตชนิดเดียวกัน เช่นเดียวกับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเป็นจิตประเภทไหน ภวังค์เป็นจิตประเภทนั้น จุติจิตก็เกิดขึ้นเป็นขณะสุดท้ายของชาตินั้น เป็นบุคคลนั้นชั่วขณะที่จุติจิตยังไม่ดับ พอจุติจิตดับก็สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง ขณะนั้นไม่รู้ ไม่ต้องกลัว เมื่อไรก็ได้ เพราะไม่รู้จริงๆ ตอนที่จุติ ไม่รู้จริงๆ ไม่ต้องกลัว ขณะเจ็บเป็นเจ็บ ยังไม่จุติก็ได้ แต่ตอนใกล้จะตาย เจ็บก็คือเจ็บ กำลังเจ็บ กำลังเป็นห่วง แต่ก็ไม่ใช่จุติ เพราะว่าจุติจะเกิดหลังจากนั้น ซึ่งขณะนั้นไม่รู้สึกตัว

    ก็เป็นปกติธรรมดา ก็ไม่ต้องกลัว เกิดมาแล้ว แล้วก็ตายไปแล้ว ก็เกิดมาใหม่ แล้วก็ตายไปอีก โดยที่ขณะเกิดไม่รู้ ขณะเป็นภวังค์ไม่รู้ ขณะเป็นจุติจิตไม่รู้

    ตอนนี้กลัวตายไหมคะ ยังกลัวอยู่ กำลังกลัวไม่ตายค่ะ ต้องไม่รู้เมื่อไรตายเมื่อนั้น เกิดใหม่ก็คือเป็นบุคคลใหม่แล้ว ลืมชาติก่อนโดยสิ้นเชิง เหมือนประตูที่ปิดสนิท ไม่สามารถมองผ่านประตูนั้นเข้าไปถึงอดีตที่ผ่านมาแล้วได้ว่า เคยเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไรมาบ้าง

    ขณะนี้ แน่นอนที่สุดคือต้องเป็นชาติก่อนของชาติหน้า จะไปถามใครว่า เอ๊ะ ชาติก่อนฉันทำอะไร ไม่ต้องถามเลย เพราะขณะนี้ เดี๋ยวนี้เอง เป็นชาติก่อนของชาติหน้า ชัดเจนว่ากำลังทำกรรมอะไร ที่ไหน แต่พอถึงชาติหน้าจริงๆ ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น รู้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ว่า ชาตินี้แหละเป็นชาติก่อนของชาติหน้า ทำกรรมอะไรไว้ เราก็รู้ ชาตินี้ มีกุศลกรรมอะไร มีอกุศลกรรมอะไร


    หมายเลข 9429
    20 ส.ค. 2567