สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๓๐
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๓๐
ผู้ฟัง จะให้ขยายเรื่องศีล ๕ หน่อยคะ เพราะว่าประเพณีของเรา เวลาที่ไปวัด เราสมาทานขอศีล ๕ จากพระคุณเจ้า แล้วก็บางคนก็ว่า เราไม่จำเป็น เพราะว่าเรามีอยู่แล้ว ศีล ๕ เราไม่ไปทำอะไรให้ใคร เราก็มีศีล ๕ อยู่แล้ว แล้วเราก็คิดว่า สำหรับตัวคิดเอง คิดว่าในระหว่างศีล ๕ นั้น องค์เดียวก็ยังไม่ได้เลย อยากให้ช่วยขยายให้หน่อยค่ะ ให้ทุกท่านได้เข้าใจด้วย
ท่านอาจารย์ คำว่า “สมาทาน” หมายความว่าถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ เพราะฉะนั้น พระภิกษุท่านก็คงเตือนให้รู้ว่า สิ่งที่ควรจะประพฤติปฏิบัติมีอะไรบ้างสำหรับคฤหัสถ์ คนที่ฟังแล้ว ฟังแล้วถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติหรือเปล่า หรือว่าพอท่านบอกให้กล่าว หรือว่าท่านกล่าวเราก็กล่าวตามท่านไป แต่ว่าไม่มีเจตนา ความตั้งใจจริงที่จะประพฤติปฏิบัติตามเลยก็ได้ เพราะว่าบางคนพอรับศีลเสร็จแล้วก็ดื่มเหล้า พอกล่าวจบก็กระทำทุจริตทางวาจาก็ได้ ก็เป็นเรื่องที่ว่า เป็นเรื่องความจริงใจที่ว่า ผู้นั้น เห็นประโยชน์ของศีล จึงได้ถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ไม่เกี่ยวกับว่าใครจะต้องมาให้เราหรือเปล่า หรือเวลาที่พระท่านกล่าวแล้วเราว่าตาม ก็คงจะเป็นการเตือนของท่าน ให้ระลึกถึงประโยชน์ของการรักษาศีล แต่ว่าอยู่ที่ผู้ฟัง ผู้ฟังจะถือว่าเป็นสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ และจะประพฤติปฏิบัติหรือไม่ ก็แล้วแต่บุคคลนั้น แล้วความจริงขณะที่กล่าว ก็เป็นเพียงเจตนาศีล มีความตั้งใจในขณะนั้น แต่ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ ศีลหายไปหรือเปล่าคะ หรือว่าด่างพร้อย หรืออะไรก็แล้วแต่
เพราะฉะนั้น ก็เป็นชั่วกาลหนึ่งๆ ที่มีความเลื่อมใส มีความศรัทธาเกิดเมื่อไร ก็มีความคิดที่จะสมาทานถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องมีการกล่าววาจาใดๆ เลยก็ได้ ถ้าเราเกิดเห็นอะไรซึ่งทำให้เรามีความคิด ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ต่อไปนี้เราจะไม่ทำอย่างนั้น อย่างบางคนก็อาจจะมีญาติ ผู้เป็นที่รักจากไป ก็รู้ว่าเป็นสิ่งซึ่งโศกเศร้า ฉันใด ถ้าเราทำให้คนอื่นเดือดร้อน เขาก็ต้องเป็นทุกข์โศกเศร้าฉันนั้น ถ้าเกิดกุศลจิตไตร่ตรอง ตรึกตรองคิดเอาว่า ทางที่ดีแล้วก็อย่าไปทำให้ใครเดือดร้อนเลย คนที่เคยฆ่ายุง ต่อไปนี้จะไม่ฆ่าสัตว์ ก็ได้ ขณะนั้นก็เป็นการสมาทานศีล ถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของตัวเอง คำว่า “สมาทาน” ถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของเราเอง