สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๓๒


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๓๒


    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์แสดงมาทั้งหมดนี้ ก็รวมอริยสัจ ๔ ทั้งหมดเลย ทั้งทุกข อริยสัจจะ สมุทัยอริยสัจจะ นิโรธ แล้วก็มรรค มีองค์ ๘ ด้วย

    ท่านอาจารย์ ทีนี้ถ้ายกอริยสัจจะที่ ๓ นิโรธสัจจะออก เพราะเป็นนิพพาน ความเข้าใจในทุกขสัจจะ ในสมุทัยสัจจะ ในมรรคสัจจะ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ทรงแสดงไว้เลย ไม่ใช่ลึกซึ้งเฉพาะสัจจะที่ ๓ แต่ทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น ป้องกันเราจากความเห็นผิดโดยประการทั้งปวง จะคิดว่าง่าย จะคิดว่าทำ จะคิดว่าได้ผล หรืออะไรก็แล้วแต่ โลภะเขาอยู่ตรงไหน เห็นสมุทัยหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ผู้อบรมเจริญปัญญาที่จะไม่เห็นสมุทัย ก็คือผู้ที่ไม่ได้ละสมุทัย เพราะฉะนั้นผู้นั้นจะถึงไหม ก็เป็นเรื่องปัญญาของคนฟังต้องละเอียดแล้วก็ต้องอบรมด้วยตนเอง ต้องรู้เลยว่า โลภะมาแล้ว จะให้ทำอะไรก็คือขณะนั้นพาไป ถ้าเราหลงตามก็คือว่าสมุทัยก็ยังคงติดตามไปได้อีกเรื่อยๆ ทุกขั้นตอน เขาเก่งมาก ร้ายมาก ยากมาก แต่ต้องละ

    ผู้ฟัง การที่จะให้มีความเข้าใจสภาพของสมุทัย ซึ่งท่านอาจารย์ก็เน้นว่า เขาเก่งมากเหลือเกิน ไวมาก เก่งมาก บางทีเขาเกิด เราก็ไม่รู้ตัวเลย เพราะฉะนั้น การที่จะศึกษาให้รู้จักตัวนี้ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของทุกข์ ท่านอาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ก็คือเมื่อไรที่สติปัฏฐานเกิดเท่านั้น จึงเริ่มจะเข้าใจของสภาพธรรม ความอยากเกิดแทรกคั่นเมื่อไรก็คือตัวเขาเริ่มโผล่หน้ามาให้เห็น เพราะว่าปกติถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด เราตามเขาไป ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย ใช่ไหม แต่พอสติสัมปชัญญะเกิด โผล่มาเมื่อไร ก็พอจะเห็นว่า นี่

    ผู้ฟัง เป็นปัญญาถึงจะรู้ ไม่ว่าเขาจะเก่งกาจขนาดไหน เบาบางขนาดไหน ต้องเป็นปัญญาถึงจะรู้ได้ ถ้าเป็นตัวเรา เราก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางเลย เพราะโลภะกลัวอยู่อย่างเดียว นี่พูดแบบภาษาธรรมดา คือปัญญา แต่ไม่กลัวอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะว่าเขาชนะหมด เว้นปัญญาที่เขาแพ้ ที่ไหนมีปัญญา ที่นั่นไม่มีโลภะ ที่ไหนไม่มีโลภะ ที่นั่นถึงจะมีปัญญาได้ เพราะว่าเขาจะตามไปเรื่อยๆ


    หมายเลข 9435
    21 ส.ค. 2567