สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๓๖


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๓๖


    ท่านอาจารย์ ภาวนา หมายความว่าอบรมเจริญให้สิ่งที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ให้สิ่งที่มีแล้วมีมากขึ้นเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ความหมายเดียวกัน เพราะเหตุว่าตอนแรกๆ ขณะแรกๆ ที่ยังไม่เคยเกิดเลย อย่างสติปัฏฐาน เมื่อเกิดก็เริ่มเกิด แล้วอบรมให้มากขึ้น หรืออย่าง สมถภาวนาก็เหมือนกัน ตอนแรกจิตก็ยังไม่สงบ ก็ค่อยๆ อบรมให้สงบมากขึ้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครชวนไปนั่งกรรมฐาน ก็คงจะถามเขาว่า เป็นกรรมฐานแบบไหน เป็นสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน ใช่ไหมคะ ถ้าเกิดเป็นวิปัสสนากรรมฐาน ไม่จำเป็นจะต้องไปปฏิบัติสมถกรรมฐานก่อน เพราะว่าไม่จำเป็นต้องเป็นฌาน ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ทีนี้ถ้ามีใครชวนเราไปทำกรรมฐาน ไปปฏิบัติกรรมฐาน ไปเข้ากรรมฐานก็ตามแต่ ถามเขาว่ากรรมฐานคืออะไร ถ้าตอบให้เราไม่ได้ เราก็บอกว่า ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็ไม่ทำอะไรทั้งนั้นแหละ เพราะว่าถ้าไม่มีความเข้าใจ ทำไปก็ต้องผิด ต่อเมื่อไรอธิบายให้เราเข้าใจได้แจ่มแจ้ง เรามีความเข้าใจแล้ว เราก็จะพิจารณาว่า เราจะทำหรือไม่ทำ อย่างสมถภาวนาหรือสมถกรรมฐาน ทำไปเพื่ออะไร ถ้าจิตสงบแล้วไม่ได้ดับกิเลส ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม เราจะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะสอนเราได้ไหม หรือว่าจะให้เราทำอย่างไร เพราะเหตุว่าโดยมากคนที่ไม่ได้ศึกษาจริงๆ จับต้นชนปลายมานิดๆ หน่อยๆ ก็จะปน เขาไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากสมาธิ เขาก็บอกว่าเขาทำสมถะ หรือมิฉะนั้นเขาก็บอกว่า เขาทำวิปัสสนา แต่เขาไม่สามารถที่จะให้ความเข้าใจคนอื่นได้ว่าคืออะไร เพราะฉะนั้น ถ้าเขาเองยังไม่รู้ แล้วชวนเราไปทำสิ่งที่ไม่รู้ด้วยกัน ใครล่ะจะรู้ ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ ผมฟังเหมือนกับผมรู้เรื่องสมถกรรมฐาน ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้แล้วกระผมไปทำ จะทำอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ถูกต้องได้ไหมครับผม

    ท่านอาจารย์ ที่จริงอันนี้เป็นแต่เพียงคำอธิบายความหมายของกรรมฐาน ยังไม่ได้พูดถึงอารมณ์ของกรรมฐานแต่ละอย่าง อารมณ์ของสมถกรรมฐานได้แก่อะไรบ้าง อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานได้แก่อะไร เพราะถ้าไม่รู้ตรงนี้ เขาบอกเรา เราก็เชื่ออีก ทั้งๆ ที่เป็นอารมณ์ของสมถะ เขาก็บอกว่าเป็นวิปัสสนา เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ว่าอารมณ์ของสมถกรรมฐานมีอะไรบ้าง แล้วอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน คือ สติปัฏฐาน มีอะไรบ้าง ต้องเพิ่มเติมอีก แค่นี้นิดหน่อยไม่พอ คือความรู้ถ้าเป็นความรู้จริงต้องถึงที่สุดได้ คือสามารถที่จะให้ความแจ่มแจ้งเราตลอดตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด แต่ถ้าไปหยุดอยู่ที่หนึ่งที่ใดไม่ตลอด หรือให้ความรู้เราไม่ได้ตลอด อันนั้นก็ยังสับสน ต้องซักถามจนกระทั่งตลอดเลย อันนี้เพียงแต่ให้เข้าใจเรื่องของคำว่ากรรมฐานก่อน

    ผู้ฟัง เมื่อกี้กระผมฟังท่านอาจารย์อธิบายไว้ว่า ในสมัยนั้น พระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น เพราะฉะนั้น คำสั่งสอนในเรื่องสภาพธรรม หรือวิปัสสนาภาวนาไม่มี ในสมัยนั้นกุศลที่สูงที่สุดก็คือสมถกรรมฐาน ต่อเมื่อมีพระพุทธเจ้าอุบัติเกิดขึ้น นำพระธรรมคำสั่งสอนซึ่งเป็นสภาพธรรมล้วนๆ ไม่มีชื่อ มีแต่เพียงลักษณะที่เกิดขึ้น คำสอนนี้จึงเป็นคำสอนที่น่าสนใจ และสูงสุดที่สุด กระผมเข้าใจอย่างนี้ ถูกไหมครับ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่เข้าใจเขาก็บอกว่า วิปัสสนากรรมฐาน เราก็ตื่นเต้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่าปัญญาของใคร ถ้าเราได้ฟังอะไร แล้วปัญญาของเราไม่เกิด ก็ไม่มีประโยชน์ ใช่ไหมคะ จะว่าเป็นปัญญาของคนอื่น อย่างบางคนก็บอกว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่เราก็ไม่ได้รู้อย่างพระองค์ แสดงให้เราเข้าใจ เพื่อเป็นปัญญาของเราเอง เพราะฉะนั้น ทุกอย่างประโยชน์จริงๆ ก็คือปัญญา


    หมายเลข 9442
    21 ส.ค. 2567