สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๓๗
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๓๗
ท่านอาจารย์ ทีนี้ถ้าพูดถึงความสงบ ก่อนอื่นก็ควรจะรู้ว่า ต้องเป็นกุศลจิต กุศลจิตทุกชนิดสงบ เพียงแต่สงบมากสงบน้อยต่างกัน อย่างเวลาที่เราจะให้ทาน เราคิดถึงใคร
ผู้ฟัง คิดถึงผู้มีพระคุณ
ท่านอาจารย์ คำตอบอื่นมีไหมคะ เวลาให้ทานเราคิดถึงใคร
ผู้ฟัง จริงๆ ก็คือคิดถึงตัวเอง แต่ไม่รู้ เพราะว่าอยากทำดีเพื่อที่จะได้ดี
ท่านอาจารย์ ที่จริงเป็นของธรรมดาๆ คุณอ้อยตอบใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ก็ยังคิดว่าตัวเองให้ทาน ก็ยังเป็นตัวเราเองให้ทาน
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเราลืม เส้นผมที่บังภูเขา เวลาที่เราให้ทาน เราก็ต้องคิดถึงคนให้ คิดถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากเรา ไม่ใช่คิดถึงประโยชน์ของเรา นี่คะ เพราะฉะนั้น แม้แต่กุศลก็ต้องเข้าใจจริงๆ กุศลไม่ใช่อกุศล ถ้าคิดถึงเรา ตัวเอง จะเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ถ้าเราคิดถึงคนอื่น คิดถึงประโยชน์สุขที่เขาจะได้รับจากเรา มีการให้เกิดขึ้น ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขา ขณะนั้นก็เป็นทาน ทานก็เป็นกุศล เพราะขณะนั้นเราไม่ได้คิดถึงตัวเรา แต่คิดถึงคนอื่น ที่เขาจะมีความสุข กุศลทุกชนิดสงบ ขณะนั้นสงบจากโลภะ ความติดข้อง ถ้าของไหนที่เราชอบมากๆ เราให้ได้ไหมคะ นี่มันก็เป็นเรื่องจริงในชีวิตเลย คือให้มีหลายอย่าง ให้แล้วเสียดายก็ยังมี กำลังให้ไม่อยากจะให้ก็มี มันเป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้น เราจะรู้สภาพจิตของเราที่ละเอียดขึ้นว่า ขณะไหนเป็นกุศลจริงๆ มากน้อยแค่ไหน คนอื่นบอกไมได้เลย แต่ให้ทราบว่า กุศลทุกชนิดสงบจากอกุศล สงบจากโลภะ สงบจากโทสะ ถ้าเราโกรธคนที่เราจะให้ จะให้ไหมคะ ตั้งใจว่าจะให้ ก็ไมให้อีกแล้ว อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ขณะใดให้ได้เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น จะมากจะน้อย จะอย่างไรก็ตามแต่ขณะนั้นก็เป็นความสงบของจิต เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีอกุศลใดๆ ในขณะที่กำลังให้
เพราะฉะนั้น เราจะรู้ว่า สงบก็คือกุศล เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จิตของเราจะเป็นกุศลอย่างไรบ้าง ทานนี้เราคงไม่ได้ให้ตั้งแต่เช้าถึงเย็นแน่เลย ใช่ไหมคะ แล้วศีลล่ะคะ กายวาจา ความหมายของศีล คือ ปกติ ถ้าเป็นข้อความทั่วๆ ไป หมายความว่า ปกติของกายวาจา ถ้าเป็นจิตขณะใดที่เป็นอกุศล กายวาจาเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศลศีล แต่เวลาที่พูดถึงการขัดเกลา การอบรมเจริญ เราจะไม่เอาอันนี้เข้ามาเกี่ยวข้องเลย อกุศลศีลไม่ต้องพูดถึงเลย ก็จะพูดถึงแต่เฉพาะกุศลศีล อย่างในหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า วิสุทธิมรรค ซึ่งท่านพระพุทธโฆษาจารย์รจนา มรรค คือ หนทางวิสุทธิ เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นหนทางที่วิสุทธิจากอกุศล เพราะฉะนั้น จะไม่พูดถึงอกุศลศีล เพราะฉะนั้น ก็ไม่ค่อยเจอในที่ต่างๆ แต่จะมีในพระไตรปิฎก คือ อกุศลศีล และกุศลศีล
เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่เวลาที่เราพูดถึงศีล เราก็จะหมายความถึงกุศลศีล สำหรับศีลก็เป็นเรื่องของกายวาจา แต่ว่ากายวาจาที่มีต่อคนอื่นในทางที่ไม่เป็นทุจริต ไม่ทำให้เขาเดือดร้อน นั่นคือความหมายของศีลทั่วๆ ไป แต่ว่าก็ต้องไม่มีคนอื่นที่มาทำให้เราต้องมีกายทุจริต วจีทุจริต วันหนึ่งๆ ก็เป็นโอกาสของกุศลอีกขั้นหนึ่ง คือ ความสงบซึ่งเป็นความสงบในชีวิตประจำวัน เป็นการอบรมเจริญกุศลที่เป็นไปในความสงบที่ไม่ใช่ทาน และศีล จะมีอะไรบ้างที่เราจะสงบได้ โดยที่ไม่ใช่ทาน และศีลในวันหนึ่งๆ
นี่คือสมถภาวนาหรือสมถกรรมฐาน ต้องมีอารมณ์ซึ่งจิตสงบ เพราะมีปัญญารู้ว่า ขณะนั้นอารมณ์อย่างนั้น แล้วก็ปัญญาที่รู้ความจริงอย่างนั้นแม้ในขั้นของสมถะ ความสงบก็มีได้ มีไหมคะ ลองคิดดู เวลาที่ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล กุศลจิตของเรามีหรือเปล่า ลักษณะนั้นเป็นไปอย่างไรถึงจะเรียกว่าเป็นกุศลจิต คงจะไม่มีแต่อกุศลจิตตลอด เวลาที่ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล พอจะมีไหมคะ คือเวลาที่เราเรียน เรามักจะไปเอาชื่อในตำรามา แล้วก็ไปพยายามหาว่ามันคืออะไร ตรงไหน แต่ถ้าไม่เราไม่เอาชื่อในตำรา แต่ชีวิตจริงของเรา ทานเราก็มี ศีลเราก็มี ถึงแม้ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล จิตของเราสงบเป็นกุศล มีขณะไหนบ้าง ลองคิด ถ้าคิดออกมันก็คือสมถกรรมฐานนั่นเอง คืออารมณ์ของสมถะ