สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๔๓
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๔๓
ผู้ฟัง ที่ผมฟังจากเทปของอาจารย์ไม่ทราบว่า จุดไหนที่สมควรที่จะพิจารณามากที่สุด
ท่านอาจารย์ สาวกผู้ฟังครั้งที่พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ปรินิพพาน เสด็จจาริกไปไหน ทั้งๆ ที่ได้พบกัน ได้เฝ้าเป็นประจำ เช้า สาย บ่าย เย็น ติดตามไปเพื่ออะไร เพื่อฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น การฟังจะขาดไม่ได้เลย จุดที่สำคัญที่สุดคือจุดฟัง จริงๆ แล้วที่ดิฉันกล่าวถึงทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นแนวทางเจริญวิปัสสนา ให้เข้าใจว่าวิปัสสนาไม่ใช่ปัญญาเพียงขั้นได้ยินได้ฟัง แต่ขณะนี้ได้ยินได้ฟังว่า เป็นนามธรรมกับรูปธรรม นี่คือได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ให้ใครคนหนึ่งคนใดไปแยก แต่ให้เข้าใจลักษณะที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงของนามธรรมกับรูปธรรม คือให้มีความเข้าใจ แล้วก็ไมใช่ว่าให้ใครไปให้สติระลึก แต่หมายความว่า เมื่อมีความเข้าใจในความเป็นอนัตตา ในความเป็นธรรม ก็จะมีการระลึกได้ เวลาที่เรายังไม่ได้ฟังธรรม เรามีเรื่องคิดเยอะ ใช่ไหมคะ ความคิดของเรามันเกิดขึ้นโดยเรารู้ตัวล่วงหน้าหรือเปล่า แม้แต่คิดทีละคำ ขณะนี้ใครจะคิดเรื่องอะไร รู้ล่วงหน้าหรือเปล่าว่าจะคิดเรื่องนั้น เป็นไปไม่ได้เลย
นี่คือธรรมที่เป็นอนัตตา แม้แต่ความคิด เพราะฉะนั้น ตอนที่เรายังไม่ได้ฟังพระธรรมเลย เราคิดเรื่องอื่นเยอะแยะ แต่พอฟังธรรม มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ความคิดเกิดขึ้น เป็นเรื่องของธรรม ถูกต้องไหมคะ ไม่เคยคิดคำว่า จิต เจตสิก รูป ก็เกิดคิดคำว่า จิต เจตสิก รูป แล้วเวลาได้ยินได้ฟังอะไร เราก็จะมีปัจจัยทำให้เกิดความคิดในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดก็เป็นความจริงขั้นคิด ความเข้าใจขั้นคิด มีการไตร่ตรองขั้นคิด แต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น การฟังของเรา เรารู้ว่าเพียงความเข้าใจขั้นที่เป็นปริยัติ รู้เรื่องราวของสภาพธรรม ยังไม่ใช่การรู้จักตัวธรรมเลย เช่นในขณะนี้มีนามธรรมไหมคะ มี รูปธรรมมีไหมคะ แล้วเรากำลังพูดเรื่องรูป ใช่ไหมคะ แล้วเรากำลังพูดเรื่องนาม แต่นามธรรมกับรูปธรรมเขาเกิดดับทำหน้าที่เรียบร้อยของเขาอยู่ตลอดเวลา ใครก็ไปบังคับ ไปเปลี่ยนแปลงไม่ให้นามธรรมชนิดนั้นเกิดไม่ให้ทำอย่างนี้อย่างนั้นก็ไม่ได้ นามธรรมมีปัจจัยชนิดไหนจะเกิดก็เกิด เช่นได้ยิน มีปัจจัยที่เกิดได้ยินขึ้น ก็ได้ยิน เห็นก็มีปัจจัยเกิดขึ้น ที่จะเห็นก็เห็น
เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ ว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น แม้แต่สติปัฏฐานหรือสติอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ขั้นที่กำลังฟังเข้าใจ ขณะฟังนี่ก็มีสติ แล้วก็มีเจตสิกอื่นๆ มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอะไรทุกอย่าง อโลภะ อโทสะ แต่ไม่มีการรู้ว่า สภาพนั้นๆ เป็นธรรม เพราะว่าสภาพนั้นๆ ไม่ได้ปรากฏ ขณะนี้ทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตา มี แล้วทางกาย สิ่งที่ปรากฏทางกาย มี สภาพนึกคิด มี เพราะว่าเกิดขึ้น สติปัฏฐาน ก็คือว่าเมื่อมีปัจจัยจึงเกิด ไม่ใช่เราทำ แต่ว่าความรู้ที่ได้ฟังมาว่า มีสภาพธรรม ๒ อย่าง ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกลักษณะที่เป็นรูปธรรมหรือลักษณะที่เป็นนามธรรม เพราะว่ามีความเข้าใจแล้วว่า ไม่มีอะไรอื่นเลย นอกจาก ๒ อย่างนี้ จะมีอย่างอื่นอีกไหมคะ นอกจากนามธรรมกับรูปธรรมที่มีจริงๆ ถ้าที่มีจริงๆ ก็ต้อง ๒ อย่างเท่านั้น คือ นามธรรมกับรูปธรรม
เพราะฉะนั้น สติที่เริ่มจะระลึก คือ สติปัฏฐาน พอระลึกแล้ว ไม่สามารถจะรู้ลักษณะที่เป็นรูปได้ทันที ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรมได้ทันทีเพราะว่าแค่สติเกิดแล้วก็ดับ แต่แม้กระนั้นปัญญาก็เกิดในขณะนั้นรู้ว่า ขณะนั้นสติเกิด ไม่ใช่หลงลืมสติ คือปัญญาเขาจะเป็นทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย ถ้าเป็นปัญญาขั้นที่เกิดพร้อมกับสติปัฏฐานครั้งแรกๆ การที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมอย่างประจักษ์แจ้งชัดเจน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ผู้นั้นเริ่มรู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ ตรงนี้เป็นตอนตั้งต้น ถ้าจะตั้งต้นที่ไหน บรรพไหน กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา คือไม่ใช่เรื่องของการเจาะจงหรือตั้งใจ เหมือนความคิดขณะนี้ ใครเกิดคิดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องที่กำลังได้ยินได้ฟังก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด เลือกอารมณ์ให้สติไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าสติจะระลึกอะไรที่มีจริงๆ แล้วเราก็ยังไม่ต้องไปเรียกชื่อว่า นี่เป็นกายานุปัสสน หรือว่าเป็นเวทนานุปัสสนา ชื่ออะไร เป็นอายตนะ เป็นขันธ์ ไม่ต้องเลย เพียงแต่ว่ามีสภาพธรรมปรากฏแล้ว ไม่เคยระลึก