สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๔๘
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๔๘
ผู้ฟัง คุณพิชัยบอกว่า ปัญญาเกิดขึ้นไม่ทันโลภะ ท่านอาจารย์จะช่วยกรุณา
ผู้ฟัง เกิดไม่ทันนี้หมายถึงว่ามันจะลืมเสียส่วนใหญ่ คือมันเกิดไปแล้วดับไปแล้วนานแล้ว ไปนึกย้อนกลับมา อย่างนี้
ท่านอาจารย์ เพราะไม่ทันของคุณพิชัย หมายความว่า โลภะเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ปัญญาไม่ได้ตามรู้เลย แต่ในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า กายานุปัสสนา อนุปัสสนา ตามเห็น ไม่ใช่ว่าสิ่งนั้นไม่มี ยังไม่เกิด แล้วเราไปเห็น ไปรู้ ถูกต้องไหมคะ แต่ว่าสิ่งใดก็ตามที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว อย่างถ้าเราเรียนวิถีจิต ใช่ไหมคะ เราก็ทราบว่าทางปัญจทวารวิถีจิตเกิด ดับไปเลย มีภวังค์คั่น มีมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ รู้อารมณ์เดียวกันเลย แล้วหลังจากนั้นหลายๆ วาระก็จะคิดนึกเป็นเรื่องราว หรือว่าเป็นความรู้ในเรื่องรูปร่างสัณฐานต่างๆ อย่างที่เวลานี้กำลังเป็นอยู่ คือเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นอะไร แต่ความจริงขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่รู้ คนละขณะ เหมือนกับได้ยินเสียงกับเข้าใจความหมาย ก็คนละขณะ เพราะฉะนั้น แทนที่เมื่อทางปัญจทวารทวารหนึ่งทวารใดดับแล้ว แล้วก็จะคิดเรื่องของสิ่งนั้น เช่นในขณะนี้ สติสัมปชัญญะตามรู้ หมายความว่า รู้ลักษณะที่รู้ต่อจากปัญจทวารนั่นเอง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อันนั้นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน หมายความว่าสิ่งที่เกิดแล้วเป็นปัฏฐาน เป็นที่ตั้งของสติที่ระลึก แต่สิ่งนั้นต้องมี ต้องเกิด แล้วทางมโนทวารรู้ต่อพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่ตามรู้ลักษณะนั้นว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
เพราะฉะนั้น ในข้อความทุกคำจะมีความหมายที่ถูกต้อง เช่น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็คือปัญญาที่ตามรู้ลักษณะของกายที่ปรากฏด้วย ไม่ใช่ที่ไม่ปรากฏ
ผู้ฟัง อย่างสมมติว่าเราระลึกถึงอารมณ์ หรือว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาภายในวันเดียวกัน แล้วเราระลึกว่าเป็นนามธรรมอะไรเกิดขึ้น มีกิเลสอะไรเกิดขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด
ท่านอาจารย์ อันนั้นเป็นการคิดเรื่องนามธรรมกับรูปธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง แต่เป็นการฝึกฝน ใช่ไหมครับ อย่างนี้ถือว่า เป็นการฝึกฝน
ท่านอาจารย์ จะฝึกหรือไม่ฝึกก็ไม่ใช่เรา ตรงนี้เป็นจุดที่ว่า จากการไม่ใช่เรา เริ่มต้นไปจนถึงไม่มีเราโดยตลอด
ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราระลึกถึงเรื่องในอดีต
ท่านอาจารย์ การระลึกเกิดขึ้น
ผู้ฟัง เกิดขึ้นมันเป็นผลดีต่อการเจริญสติปัฏฐาน ไหมครับ
ท่านอาจารย์ คือไม่มีอะไรพ้นจากจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น เราจะทำอะไรๆ อย่างไรก็ตามจะพ้นจากจิต เจตสิกได้ไหม เพราะฉะนั้น อย่างการระลึกเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า หรือว่าเป็นสติหรือเปล่า
ผู้ฟัง คำถามผม ถือว่าเป็นการฝึกฝนไหม
ท่านอาจารย์ มาถือไม่เอา ต้องความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เราถือผิดได้ เราถือถูกได้ แต่เราต้องรู้ว่า ความจริงคืออย่างไร แม้แต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นการฝึกหรือเปล่า ใช่ไหมคะ คำถามของคุณพิชัย เพราะว่ายังมีความเป็นเราจึงมีการฝึก แต่สติเป็นสภาพธรรม มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นระลึก เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นระลึกครั้งหนึ่ง มีการฟังเข้าใจเพิ่มขึ้น การระลึกภายหลังจะเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า วันนี้เราไม่ได้มีสติปัฏฐานเกิด แต่เรามีอย่างอื่นเกิด ทำไมอย่างอื่นเกิดมาได้ ถ้าไม่มีการสะสมมาแล้วมากในอดีต ทุกคนมีอุปนิสัยต่างกัน แล้วแต่ว่าใครจะมีศรัทธามาก ใครจะมีวิริยะมาก ก็แล้วแต่ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นต้องเกิดมีมานานแล้ว สะสมจนกระทั่งเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ปกตูปนิสสยปัจจัย จนถึงกาลที่พร้อมจะเกิดก็มีปัจจัยที่จะเกิด เหมือนคนที่มีอะไรมากสิ่งนั้นก็เกิด สิ่งที่น้อยๆ ก็เกิดน้อย สิ่งที่มากๆ ก็เกิดมาก ฉันใด สติปัฏฐานก็เหมือนกัน ถ้าเกิดแล้วมีการฟังเข้าใจเพิ่มขึ้น สติปัฏฐานเขาก็ระลึกอีก อย่าให้มีความหวังมาเป็นผู้จัดการว่า อยากให้มีมากๆ เพราะว่ามีมากได้อย่างไรถ้าเหตุไม่มีพอ มันขึ้นอยู่กับเหตุ ส่วนความหวังก็เรื่องของความนึกคิดกับโลภะที่พร้อมที่ว่า ถ้าเราพลาดเมื่อไรจูงไปเลย ให้ไปทำอะไรก็ได้ ถ้าเรายังไม่พลาด เรายังประคับประคองตัวเราด้วยความเข้าใจที่มั่นคงว่าเป็นเรื่องรู้แล้วละ เราไม่ได้ต้องการอะไร เมื่อไรก็เมื่อนั้น ตามเหตุตามปัจจัย รู้เมื่อไรก็คือรู้ขึ้น รู้ขึ้น ขณะที่รู้ขึ้นๆ ละความต้องการ และละความเป็นเรา จนกว่าจะไม่มีเราได้จริงๆ ต้องตรงตามความเป็นจริง ขั้นฟังเรารู้ว่า ไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้น ความรู้ของเราต้องตรง แล้วก็ต้องคม แล้วก็ต้องเพิ่ม จนกระทั่งสามารถจะถึงที่สุด คือ ไม่มีตัวตนแน่นอน ไม่ใช่มีตัวตนตอนนี้ ฟังมาไม่มีตัวตน แล้วก็มีตัวตนที่อยากจะได้ หรืออยากจะทำ
ทุกคนที่อ่านพระไตรปิฎก คงได้ยินคำว่า กถา แปลว่าคำพูดที่เกี่ยวกับวิริยะ หรือว่า กถา คำพูดที่เกี่ยวกับการละ การคลาย ไม่ใช่การติดข้อง ขณะนี้เรากำลังพูดคำที่จะทำให้ละความติดข้อง หรือว่ากำลังพูดเพื่อที่จะให้เราติดมากๆ ให้ทำเยอะๆ ให้ได้มากๆ หรือกถาที่เกี่ยวกับวิริยะ ถ้าเข้าใจผิด เราไปทำใหญ่เลย ทำเพียร แต่กถาที่เกี่ยวกับวิริยะก็คือว่า ให้รู้ว่าวิริยะเป็นวิริยะ ขณะนี้มีแล้ว ไม่อย่างนั้นไม่ทรงแสดงอภิธรรม วิริยเจตสิกเกิดกับจิตเท่าไร เกิดกับจิตเกือบทุกประเภท เว้นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๖ ดวง นอกจากนั้นเพียงแค่โมหะเกิด โมหะแท้ๆ ยังมีวิริยะเกิด ไม่ใช่เราเลย วิริยะก็ทำหน้าที่ของวิริยะ เพราะฉะนั้น กถาที่เกี่ยวกับวิริยะก็คือว่า ไม่ใช่เป็นเราเพียร แต่ให้รู้ว่า ความเพียรจะเกิดขึ้นทำหน้าที่จนกว่าจะดับกิเลสได้ เพียรที่จะอบรมอย่างช้าๆ หยั่งรู้อย่างละเอียดจนกว่าจะดับกิเลสได้ ไม่ใช่ไปเพียรนั่ง ๓ วัน ๑๐ วัน ๗ วัน แล้วบอก นี่ไง พระพุทธเจ้าบอกให้เพียร อย่างนั้นไม่ได้
ผู้ฟัง สรุปว่า ธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นเอง แล้วทำหน้าที่ของธรรมเอง แล้วอาศัยกายเราเกิดเท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ เราก็ไม่มี ถ้าศึกษาโดยละเอียดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้ แต่รูปนี้ก็เกิดดับ มีอายุสั้นมากเพียง ๑๗ ขณะจิต รูปๆ หนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ไม่มีทางที่จะรู้อันนี้ เพราะว่าต้องเป็นปัญญาจากการตรัสรู้ ที่กล่าวอย่างนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าจิตเห็นขณะนี้กับจิตได้ยิน เหมือนพร้อมกันเลย ทั้งๆ ที่ได้ยินก็ยังเห็นอยู่ พร้อมไหมคะ เหมือนพร้อมกัน แต่ทรงแสดงว่า ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน มีจิตเกิดดับเกินกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปๆ หนึ่งดับแล้ว รูปใดที่ไม่ปรากฏ ทั้งตัว รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้วหมด
เพราะฉะนั้น ไม่มีตัวเรา แต่มีรูปที่ประชุมรวมกัน แล้วก็สามารถจะปรากฏทางกาย แล้วก็สิบต่อทางมโนทวาร รูปไหนก็รูปนั้น ส่วนรูปอื่น จำไว้ว่ามี แต่ความจริงมีหรือเปล่า ถ้าไม่ปรากฏ มี เพราะมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไปเลย แล้วรูปที่เกิดแล้วดับจะไม่มีกลับมาอีกเลย ทั้งนามธรรม และรูปธรรม แต่ละขณะที่เกิดมา เกิดมาแล้วก็ไปๆ ๆ ไปตลอด ไม่มีอะไรเหลือเลย กลับมาไม่ได้เลย เฉพาะรูปที่อยู่เท่านั้นที่เกิดปรากฏ ที่เราคิดว่าอยู่ แต่ความจริง รูปนั้นเกิดแล้วก็ดับด้วย