สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๕๐


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๕๐


    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีสมาธิ อย่างวันหนึ่งที่วุ่นวายอยู่ในการทำงาน มันจะไม่มีแม้แต่ เสี้ยววินาทีที่มีสติเกิดเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าปัญญาไม่รู้เมื่อไรจะไม่ใช่เรา ความวุ่นวายนั้นเมื่อไรจะไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง อันนี้ผมยังอยู่ในประเด็นของสมาธิอยู่

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าสมาธิไม่ได้ละ ต้องเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราไม่ได้หยุดมันเสีย

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละค่ะ ก็มีความเป็นเรา ตรงกันข้ามที่เราฟัง

    ผู้ฟัง เราไม่หยุดอกุศลเสียก่อนจะนอน

    ท่านอาจารย์ เราฟังว่า เป็นอนัตตา แต่เป็นเราที่จะหยุดอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่หยุดเลย เราก็ไม่มีโอกาสมีสติเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจะไม่มีการถึงความเข้าใจว่า เป็นอนัตตา เพราะเรามีอัตตาเข้ามาทำแทรกคั่นอยู่ตลอด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น มันก็เกิดทุกข์อยู่ตลอด ถ้าไม่หยุด

    ท่านอาจารย์ ทุกข์เป็นสัจจธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อไรเราจะรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็เกิดดับ

    ผู้ฟัง มันร้อน อาจารย์ครับ ถ้าไม่หนีทุกข์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เขาจึงได้มีมิจฉาสมาธิ ด้วยโลภะ ด้วยความต้องการ

    ผู้ฟัง อย่างวันที่สับสนวุ่นวายอย่างนี้ มันจะต้องนั่งสมาธิสักชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมง เพื่อจะผ่อนคลาย เพื่อจะระลึกถึงสิ่งที่อาจารย์พูด หรือว่าระลึกถึงธรรม เพื่อจะได้เริ่มต้นใหม่

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นคำสอนของบุคคลอื่น แต่ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนอื่นสอนให้ระงับ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ดับเป็นสมุจเฉท ถ้าเราจะตามลัทธิอื่น คำสอนของศาสดาอื่น ก็มีสมาธิทุกศาสนา แต่ว่าคำสอนที่จะทำให้เราจะเกิดปัญญา ความเห็นถูกต้อง เพราะใครบ้างล่ะคะที่ไม่มีความวุ่นวาย เกิดมาแล้วก็วุ่นวายกันทั้งนั้นแหละ แต่ใครที่รู้ว่าวุ่นวายนั้นเป็นธรรม แล้วเราจะเป็นบุคคลไหนใน ๒ บุคคลนี้ คือ บุคคลที่ให้โลภะพาเราไปไม่ให้วุ่นวาย แต่ไม่สามารถจะรู้ความจริงในขณะนั้นก็ดับกิเลสไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้ความเป็นจริงก็ดับไม่ได้ กับการที่เราพยายามหรือมีความอดทนที่จะไม่ไปตามโลภะ ที่จะให้สงบ ที่จะไม่ให้เกิด แต่ว่าชั่วคราว เพราะว่าเหตุที่จะให้เกิดยังมีอยู่แน่นอน

    เพราะฉะนั้น การที่เราค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ ขณะใดที่ปัญญาเกิดแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นไม่วุ่นวาย แต่ว่ามีกำลังอ่อนกว่าความวุ่นวาย เพราะว่าปัญญาไม่ถึงระดับขั้นที่สามารถที่จะรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า วุ่นวายหรือไม่วุ่นวายก็เป็นธรรมทั้งนั้น ต้องตรงกับที่เราได้ฟัง ตรงกับที่เราได้เรียน มีความมั่นคงจริงๆ ถึงจะเป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ผู้ฟัง ชั่วคราวก็ยังดีกว่ารุ่มร้อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะมีแต่ชั่วคราว จะไม่มีการดับได้เลย

    ผู้ฟัง จะมีแต่ชั่วคราว แล้วสมาธิเป็น ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องเกิดกับสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสติ ซึ่งเป็นสติปัฏฐานเท่านั้น ถึงจะเป็น ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ ได้ สมาธิอื่นไมใช่ในมรรคมีองค์ ๘

    ผู้ฟัง ถ้าสัมมาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ต้องในมรรคมีองค์ ๘ เกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

    ผู้ฟัง ถ้าไปนั่ง ไปนั่งทำ ไปประดิษฐ์ขึ้นมา ไปตั้งใจขึ้นมา ไม่ใช่สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ ทำไมถึงไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะสัมมาทิฏฐิเขาเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม แล้วขณะนั้นสมาธิไม่ได้รู้พร้อมสัมมาทิฏฐิ กลับไปทำอย่างอื่น แล้วจะเป็นมรรคมีองค์ ๘ ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิกเป็นสมาธิจริง เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลสมาธิ เกิดกับกุศลขั้นอื่นก็เป็นกุศล แต่ก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ ถ้าในมรรคมีองค์ ๘ ต้องเกิดพร้อมกับสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกในอริยสัจ มรรคนี้ลึกซึ้ง หนทางนี้ลึกซึ้ง ถ้าเราไม่รู้อะไรอย่างถูกต้อง จะลึกซึ้งได้อย่างไร

    ผู้ฟัง อาจารย์ช่วยชี้แจ้งว่า สัมมาสมาธิที่เกิดในมรรคแตกต่างจากสัมมาสมาธิ ที่เราไปทำกำหนดขึ้นมาเองอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะขณะนั้นไม่รู้ว่า เป็นธรรมที่เป็นอนัตตา เพราะมีเราทำ

    ผู้ฟัง แตกต่างกันที่มีตัวตนกับไม่มีตัวตน เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น แต่ละชาติฟังธรรมเพื่อให้มีสัญญาความจำที่มั่นคงว่า เป็นอนัตตา มีความเข้าใจที่มั่นคงเป็นสัจจญาณในอริยสัจ ๔ แล้วเราจะไม่เขว แล้วเราจะไม่ผิด นี่เป็นเครื่องที่จะประคับประคองเราต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าทางผิด ง่ายมาก โลภะเก่งมาก ไม่ยอมให้เราไป ดึงไว้ ต้องให้ทำสมาธิ นี่คือโลภะ เรื่องได้เป็นเรื่องโลภะหมด เพราะโลภะต้องการ แต่เรื่องละเป็นเรื่องของปัญญา

    ๒ ทางนี้ ถ้าเราเปรียบเทียบ เราก็พอจะรู้ได้ ว่าทางไหนตรง แล้วทางไหนไม่ใช่ทาง ต้องมีธรรมเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งคือปัญญาของเราเอง ที่ฟังแล้วก็ไตร่ตรอง และอาจหาญร่าเริงที่จะรู้ว่า ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นจึงสามารถจะรู้ความจริง แม้แต่ความวุ่นวายอะไรต่างๆ ใครจะอยากมี แต่ถ้าสามารถจะระลึกได้ แม้ไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็ยังมีความเข้าใจที่ถูกต้องที่ระลึกได้ เพียงแค่ว่าก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง แต่ความอยากของเรามันก็ยังไม่ทิ้งทันที อย่างคนบางคนที่นอนไม่หลับ เริ่มกระสับกระส่าย ทั้งๆ ที่ขณะนั้นก็เป็นธรรม แต่ไม่อยากที่จะรู้ความจริงของธรรม อยากจะหลับ เห็นไหมคะ เขามีอิทธิพลขนาดไหน ทุกชาติเขานำไปตลอด จนกว่าชาติไหนที่ความมั่นคงในเรื่องความไม่ใช่เรา แล้วก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ถ้าสติปัฏฐานจะเกิดบ้าง ก็รู้ว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยเท่านั้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ไปคอยอีก ไปหวังอีก ไปพยายามอีก นั่นคือผิดหมด อีกแล้ว ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จึงต้องอดทนถึงกัปๆ ผู้ที่รู้แล้วท่านเจริญมาก่อนเป็นกัปๆ ทั้งนั้นเลย ไม่มีใครบอกว่า ชาติ ๒ ชาติ ท่านก็ได้เป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เราเข้าใจว่า แทนที่เมื่อเวลาความวุ่นวายเกิดขึ้นแล้วพิจารณาว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ความวุ่นวายก็เป็นธรรม แล้วเข้าใจลักษณะของธรรมก็เป็นสัมมาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ต้องอบรม คุณพิชัยคงจำเรื่องที่เราพูดถึงเมื่อกี้นี้ เรื่องนางรัชชุมาลาที่กำลังจะฆ่าตัวตาย เขาไม่ใช่เพียงเมื่อกี้ที่ว่าวิตกกังวล หรืออะไรเพียงนิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่วุ่นวายเพียงนิดหน่อย แต่ปัญญาที่ได้สะสมมาแล้ว ลองคิดดู สามารถที่เมื่อฟังธรรมแล้วรู้เลยว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เขา เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงระดับนั้น ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายมากหรือน้อยอย่างไรก็ตาม แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ท่านที่จะรู้แจ้ง ท่านต้องเข้าใจตรงนี้ว่า ทุกอย่าง ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็เป็นธรรมทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นการอบรมของสติปัฏฐานที่ถูกต้องจึงเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะเกิดเมื่อไร กำลังยกหูโทรศัพท์ กำลังเห็นหนังสือพิมพ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าสติปัฏฐานจะเกิดก็คือเกิด ถ้าหมดแล้วก็คือหมด เป็นการสอบความเข้าใจของเราว่า ความเข้าใจของเรามั่นคงที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน แล้วก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือว่าเป็นการที่เมื่อเกิดแล้วอยากเกิดอีก เราก็จะเริ่มเห็นโลภะ แล้วเราก็จะรู้ว่า ต้องละอันนี้ เพราะอยากมาเมื่อไร นั่นคือไม่ใช่หนทาง

    นี่ค่ะ ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อยด้วยความมั่นคงจริงๆ จึงจะเป็นสัจจญาณ ถ้าไม่มีสัจจญาณ กิจจญาณคือสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้


    หมายเลข 9456
    20 ส.ค. 2567