สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๕๓
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๕๓
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ สมัยนี้คนที่มีครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีความเข้าใจถูก แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีความเข้าใจที่ถ่องแท้ในพรหมวิหาร ๔ ครอบครัวส่วนใหญ่ก็จะอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความสุข ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยแสดงหน่อยครับ คือครอบครัวของเรา คือผู้ที่มีครอบครัวทั้งหลายที่จะนำพรหมวิหาร ๔ มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรครับ ถึงจะได้มีความสุขมากๆ
ท่านอาจารย์ คงไม่จำกัดเฉพาะภายในครอบครัว ต้องกว้างออกไป โลกที่จะสงบสุขได้เพราะความเป็นมิตรต่อกัน ถ้ามีความเป็นมิตรก็คือว่าเข้าใจบุคคลนั้นด้วย เวลาจะโกรธใคร เพราะเราไม่เข้าใจเขา อย่างบางคนเวลามีใครขับรถแซงปาดหน้า รีบร้อน ผิดกฎจราจร ก็จะเกิดขุ่นใจว่า ทำไมเขาทำอย่างนี้ แต่เรามีความคิดว่า เขาคงจะมีธุระด่วน อาจจะมีญาติอยู่โรงพยาบาล หรืออาจจะจำเป็นต้องทำอย่างนั้น เราก็จะไม่เกิดโทสะ คือแทนที่จะคิดในทางที่จะทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง เรามีความเข้าใจ และเห็นใจในการกระทำของคนนั้น ซึ่งเขาจะเป็นอย่างนั้น หรือไม่เป็นอย่างนั้น จะจริงหรือไม่จริง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปสอบสวนว่า จริงหรือเปล่า คุณมีอย่างนี้จริงๆ หรือเปล่า แต่ข้อสำคัญที่สุดคือใจของเราเท่านั้นที่รู้ว่า ทุกคนที่บางครั้งเราก็ทำ ไม่ใช่หรือคะ แต่เวลาที่คนอื่นทำรู้สึกว่าเราโกรธ แต่พอตัวเราทำไม่เห็นเราโกรธเลย ข้ออ้างของเราอยู่ที่ไหนเวลาที่เราทำ
นี่ก็เป็นเรื่องของความละเอียด เป็นเรื่องที่ทุกคนจะรู้จักตัวเองเพิ่มขึ้น ดิฉันก็มีเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่าให้ฟัง ก็มีคนหนึ่งที่เขาให้อาหารคนรับใช้ในบ้าน ส้ม เขาก็หยิบลูกที่ไม่ค่อยดีให้ไป ไม่ทราบว่าเป็นอย่างนี้กันหรือเปล่า เพราะว่าตัวเองหรือวงศาคณาญาติก็จะมีการให้สิ่งที่ดี ลูกดีๆ อะไรอย่างนี้ แต่พอถึงจะให้คนอื่น ก็เลือกลูกที่เขียวๆ อะไรๆ ก็แล้วแต่ที่ไม่ดีให้ไป ก็เกิดนึกขึ้นมาได้ว่า ทำไมเราทำอย่างนี้ ก็ตั้งใจใหม่ ทีนี้ลูกไหนก็หยิบไปได้หมด ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองที่จะเก็บไว้ หรือของคนที่รับใช้
แต่ละคนจะมีประสบการณ์ในชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่า เรารู้จักใจของเราเพิ่มขึ้น แล้วพร้อมกันนั้นก็รู้ว่าเรามีอกุศลขณะไหน ตรงไหน การให้ของเราเป็นการให้จริง แต่การให้ แล้วก็ยังเป็นการให้ที่มีการไม่เสมอกัน ก็ยังมีอยู่ อะไรอย่างนี้
เพราะฉะนั้น กุศลจิตจึงได้มีหลายระดับ อย่างประณีตแล้วก็อย่างที่ไม่ประณีตก็ได้ ก็มีหลายตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความเป็นผู้ตรงต่อธรรม แต่ต้องเฉพาะกาลๆ เพราะว่ากุศลเขาไม่ได้มีโอกาสที่จะเกิดมาก เพราะว่าอกุศลเขาเกิดมากกว่า แล้วอีกคนเขาก็เอาเด็กคนหนึ่งมาเลี้ยงกับลูกชายของเขา ขนมที่จะให้เด็กคนที่เอามาเลี้ยงไม่ดีเท่ากับของสิ่งที่จะให้กับลูกของตัวเอง ปรากฏว่าลูกของตัวเองก็ถามพ่อแม่เขา บอกว่า ทีลูกของตัวเองให้สิ่งที่ดี แล้วทำไมไม่ให้สิ่งที่ดีกับเด็กที่เอามาเลี้ยง นี่คือความตรงของเด็กซึ่งสามารถที่จะเห็นการกระทำของพ่อแม่ แล้วก็รู้ว่าพ่อแม่ทำอย่างนี้ แล้วทำไมให้แต่ลูกของตัวในสิ่งที่ดี แล้วลูกคนอื่น คนที่เอามาเลี้ยงไม่ได้อย่างนั้น
นี่ก็เป็นการสะสม ซึ่งแต่ละคนก็จะเห็นการสะสมที่ต่างกันของทางฝ่ายกุศล และอกุศล แต่มั่นใจอะไรไม่ได้เลย เพราะจิตใจรวนเร และกลับกลอก วันนี้เป็นอย่างนี้วันหน้าเป็นอย่างอื่น เหมือนตอนที่เราเป็นเด็ก ครูบาอาจารย์หนังสือศีลธรรมก็สอนเสียอย่างดีเลย ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต ให้อะไรต่ออะไรสารพัด แต่ทำไมโตขึ้นมีคอรัปชั่น มีอะไรๆ ต่างๆ ตามเหตุการณ์
เพราะฉะนั้น การที่เราจะเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม แล้วก็เข้าใจความละเอียดของธรรม ก็จะช่วยทำให้เราไม่เป็นไปอย่างที่ผู้ที่ไม่มีความเข้าใจธรรมจริงๆ เวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ไม่รู้ว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นเพราะอะไร แล้วก็ควรหรือไม่ควรมากน้อยแค่ไหน