สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๕๔
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๕๔
ท่านอาจารย์ สำหรับเรื่องของกุศลมีหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของทานการให้วัตถุสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น อย่าลืมให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ไม่ใช่ให้เพื่อตัวเราจะได้ขึ้นสวรรค์ หรือว่าจะเป็นที่รักที่ชอบใจของคนที่เราให้ หรืออะไรก็แล้วแต่หลายประการ ซึ่งไม่ใช่การให้เพื่อประโยชน์ของคนนั้น ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการให้อย่างจริงใจ เพราะว่าการให้จริงๆ เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น นี่เรื่องของทาน เรื่องของศีล เราก็คงไม่อยากจะให้ใครมาเบียดเบียนทำร้ายเราทั้งกาย ทั้งวาจา เพราะว่าบางคนไม่ทำร้ายคนอื่นด้วยกายก็จริง แต่ทำร้ายด้วยวาจา แล้วลองกลับกันว่า ถ้าเราเป็นคนที่แทนที่จะเป็นคนพูด แต่เป็นคนฟัง เราจะรู้สึกอย่างไร
เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรม การที่มีกุศลจิตเกิด มีจิตใจที่อ่อนโยน กาย วาจาก็จะอ่อนโยนตามไปด้วย แต่นอกจากขั้นทาน ขั้นศีล ซึ่งเรารู้จักกันแล้ว ก็มีขั้นความสงบของจิตซึ่งเป็นกุศล เวลาที่ไม่ใช่โอกาสของทาน ไม่ใช่โอกาสของศีลที่จะวิรัติทุจริตเป็นวาริตศีล หรือขณะที่ควรจะมีกายวาจาที่งามเป็นที่เหมาะสม เช่น มีการเคารพผู้ที่ควรเคารพ มีการช่วยเหลือผู้ที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือ พวกนี้เป็นเรื่องของกายวาจาที่ควรกระทำทั้งนั้น นอกจากทาน ศีล แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือความสงบของจิต ซึ่งวันหนึ่งๆ ทุกคนจะเห็นความไม่สงบเพียงโทสะ พอโทสะเกิด รู้เลยว่า ไม่สงบ อยากสงบ แต่ว่าไม่เคยรังเกียจโลภะกับโมหะเลย ไม่ชอบโทสะอย่างเดียว แต่ชอบโลภะ แล้วก็โมหะ ก็ไม่สนใจ เราจะรู้ไม่รู้อะไรก็ไม่สำคัญ ขอเพียงให้ใจของเราสบายเท่านั้นก็แล้วกัน อย่างนี้ไม่ชื่อว่าสงบ
เพราะฉะนั้น สงบจริงๆ คือสงบจากอกุศล ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ซึ่งในวันหนึ่งๆ ในชีวิตประจำวัน ทุกคนมีตามการสะสม เช่น บางคนสะสมความเมตตา คือ เป็นมิตรกับคน หวังดีต่อคน ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย เขาก็สามารถที่จะช่วยเหลือบุคคลนั้นได้ นี่ก็เรื่องของเมตตา
สำหรับความสงบที่เป็นไปในระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกประการที่เป็นพรหมวิหารก็คือ กรุณา เวลาที่มีใครลำบาก กำลังต้องการความช่วยเหลือ เราจะเห็นเลยว่า ใครสะสมมามากน้อยอย่างไร คนที่สะสมมาเพียงเห็นใจ แต่อีกคนไม่ใช่แค่เห็นใจ ทำด้วย มีอะไรที่จะทำให้กับบุคคลนั้นได้ แม้แต่สัตว์ อย่างสุนัข กำลังถูกรถทับกลางถนน คนนั้นถึงกับพาสุนัขนั้นไปส่งโรงพยาบาล ความกรุณาที่เขาสะสมมามีมากจนกระทั่งทำให้เขาทำอย่างนั้นได้ ในขณะที่บางคนก็สงสาร แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่กระทำ อันนี้ก็เป็นกรุณา ส่วนมุทิตาก็คือการที่มีจิตพลอยยินดีในสิ่งที่คนอื่นได้สุข จะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ตามแต่ ไม่มีความริษยา เพราะขณะนั้นจริงๆ แล้วรู้ว่า สิ่งใดที่ใครจะได้ก็เพราะกรรมของเขา ไม่จำเป็นที่จะต้องไปอิจฉาริษยาใครเลย ส่วนพรหมวิหารที่ ๔ คืออุเบกขาพรหมวิหาร ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ใจของเราอดหวั่นไหวไม่ได้ ถ้าเพื่อนของเราได้ดีมีสุข ความยินดีของเรามากจนเป็นโลภะได้ไหมคะ รื่นเริงไปเลย แต่ว่าเวลาที่ยินดีด้วยอย่างมากมาย ขณะนั้นก็เลยเขตของกุศลไปสู่อกุศล
เพราะฉะนั้น ธรรมก็มีสิ่งที่ใกล้เคียง เป็นศัตรูใกล้ ซึ่งเรามองไม่ถึงว่า ขณะนั้นจะเป็นอกุศลด้วย สำหรับอุเบกขาก็เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวเลย ไม่ว่าจะประสบวาจาหรือการกระทำ หรือแม้เห็นสิ่งซึ่งอาจจะเป็นภาพที่อ่านในหน้าหนังสือพิมพ์ ได้เห็นด้วยตาของตัวเอง แต่เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย อย่างสมมติว่ามีขโมย มีโจร มีการกระทำอะไรที่เบียดเบียนคนอื่น ใจของเราหวั่นไหวไหมคะ ถ้าเราไม่มีพรหมวิหาร คือ อุเบกขา เราก็อดที่จะไม่สบายใจ พลอยเป็นทุกข์เดือดร้อนกับเขาไม่ได้ แต่ถ้าเรามีปัญญาจริงๆ เราช่วยเขาได้ แต่ใจเราไม่หวั่นไหว คือไม่เดือดร้อน อย่างไหนจะดีกว่ากัน คนที่ป่วยไข้ได้เจ็บ เราเข้าไปในโรงพยาบาลสักแห่งหนึ่งเราต้องเห็น ความทุกข์ของแต่ละคนมากมาย เดินไม่ได้บ้าง หรืออะไรบ้างก็แล้วแต่ หรือนอนนิ่งไปไม่รู้สึกตัวเลย เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี ใจของเราจะหวั่นไหว แต่ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้องว่า ทุกอย่างที่เกิดเป็นผลของกรรม ถ้าคนนั้นไม่ได้ทำมา ผลอย่างนี้ก็ไม่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงต่อกรรม กุศลจิตก็เกิดได้ เพราะรู้ว่าสัตว์โลกเป็นที่ดูผลของบุญ และบาป และเป็นที่ดูบุญ และบาปด้วย ผลของบุญ และบาปคือเราเกิดมาต่างกัน ไม่มีใครทำให้เลย นอกจากกรรมที่ทำให้ต่างกันไป นอกจากนั้นเมื่อเกิดมาต่างกันแล้ว จิตของแต่ละคนก็ยังต่างกันด้วย เพราะฉะนั้น สัตว์โลกก็เป็นที่ดูจริงๆ จะไปตามถนนหนทาง จะเห็นใครที่ไหนอย่างไร ก็ส่องไปถึงกรรมที่ได้ทำแล้วทั้งหมดว่า เป็นผลของกรรมที่ทำไว้แน่นอน แล้วถ้ามีการกระทำใดๆ เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นว่า เป็นที่ดูบุญ และบาป ซึ่งจะเป็นเหตุให้ผลของบุญ และบาปในกาลข้างหน้าด้วย
ถ้าเรารู้อย่างนี้จริงๆ ใจเราจะหวั่นไหวไหมคะ เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะมีความเป็นอุเบกขา แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะไม่ช่วยเหลือ แต่ถ้าช่วยแล้วไม่สำเร็จหรือเป็นไปไม่ได้ก็คือแล้วแต่กรรม
ภาษาไทยเราใช้คำเยอะที่มาจากความหมายที่ตรงในทางพระพุทธศาสนา แต่เราอาจจะเข้าใจไม่ถึง เช่นคำว่า “ถึงแก่กรรม” ที่เราใช้หมายความถึงตาย หมายความว่าสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น ไม่สามารถจะเป็นบุคคลนั้นอีกต่อไปได้ เพราะกรรมที่จะทำให้เป็นบุคคลนั้นสิ้นสุด ถึงแก่ที่สุดของกรรม อันนั้นที่จะให้ผลเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป ก็เป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้ แล้วก็ไปตามยถากรรมก็แล้วแต่ว่ากรรมใครทำมาอย่างไร คนนั้นก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น
ผู้ฟัง ขอถือโอกาสเรียนถามอาจารย์อรรณพ ขอความหมายของกรรมด้วยครับ
อ.อรรณพ กรรมก็คือการกระทำ ซึ่งโดยสภาพธรรมขณะที่มีการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะต้องมีลักษณะของความจงใจ คือ เจตนาเป็นกรรม เช่น กรรมที่จะทำให้ได้ผล คือ วิบากต่อไปก็คือเจตนาที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีเจตนา ก็ไม่สำเร็จเป็นอกุศลกรรมหรือ กุศลกรรม