สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๕๗


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๕๗


    ผู้ฟัง ทำไมทางใจถึงเป็นทางที่รับผลของกรรมไม่ได้คะ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เห็นจักขุวิญญาณ จิตเห็นเป็นผลของกรรมจริง แต่สั้นมาก พอเห็นแล้วเกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิต ซึ่งไม่ใช่ผลของกรรมแล้ว เป็นเหตุใหม่ที่สะสมไป ถ้ามีกำลังทำทุจริตกรรมก็เป็นอกุศลกรรม ถ้าเป็นฝ่ายกุศลก็เริ่มเป็นกุศลกรรมที่จะให้ผลในชาติต่อไป เพราะฉะนั้น ทางใจไม่ได้เป็นเห็นจริงๆ เหมือนอย่างกับจักขุที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จักขุวิญญาณ หรือว่าไม่ใช่จิตที่ได้ยินเสียงจริงๆ แต่ว่าเป็นจิตที่สามารถจะรู้สิ่งที่เห็น หรือได้ยินต่อจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    เพราะฉะนั้น ทางใจไม่ใช่การที่จะรับผลของกรรมอย่างนั้น ทางใจก็คือว่า เมื่อรับแล้ว จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ทางใจก็เป็นกุศล และอกุศลเหมือนกันเลย เพราะว่ารับต่อมา เพราะฉะนั้น ทางใจจึงไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นกรรมหรือว่ากุศลหรืออกุศลใหม่ ที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า

    เคยมีคนที่มีความโกรธอย่างรุนแรง มีความพยาบาทต้องการที่จะให้คนอื่นตาบอด ทำทุกอย่างที่จะให้เขาตาบอด อาจจะยิงหรืออาจจะทำอะไรก็ได้ เจตนาที่เป็นกรรม ประสงค์ที่จะให้เกิดสิ่งที่ไม่ดี ใช่ไหมคะ แต่ว่าขณะนั้นเข้าใจว่า จะให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีกับคนอื่น แต่คนอื่นเขาก็มีจิตของเขาที่เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งจะให้ผลของเขา ไม่ใช่เราที่สามารถจะไปทำคนอื่นได้ แต่ว่าเจตนาที่เป็นอกุศลของเราที่เกิดแล้ว เมื่อต้องการที่จะให้บุคคลอื่นตาบอด ผลก็คือว่าเมื่อกรรมนั้นให้ผล ก็ทำให้เวลาที่ถึงกาลสมควรที่จักขุปสาทจะเกิดก็ไม่เกิด เพราะเหตุว่ามีความประสงค์ที่จะไม่ให้เกิด ในเมื่อความประสงค์นั้นเป็นเจตนาของบุคคลใด ก็ต้องให้ผลคือทำให้วิบากจิตของบุคคลนั้นเกิด ไม่ใช่เป็นวิบากจิตของคนอื่น

    เพราะฉะนั้น จิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ทรงแสดงไว้ว่าไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของธรรมใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น สภาพธรรมที่เป็นจิต มีปัจจัยเกิด แล้วก็ต้องดับ แต่เมื่อจิตนี้ดับไปแล้ว การดับของจิตนี้เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ทรงประจักษ์แจ้งถึงความเป็นไปหรือความสามารถของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น จิต สามารถที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดได้ แต่ต้องเมื่อจิตนั้นดับไปเสียก่อน

    เพราะฉะนั้น จะมีปัจจัยอยู่ ๒ ปัจจัย เวลาที่สวดพระอภิธรรมศพ วันนี้ก็คงจะได้ยินแน่นอน ก็จะเริ่มต้นด้วย เหตุปัจจโย เหตุคือปัจจัย หรือเหตุปัจจัย อารมณปัจจโย เรื่อยๆ ไปจนกระทั่งถึงอนันตรปัจจยโย สมนันตรปัจจยโย อนันตรปัจจัย ไม่ใช่รูป รูปเกิดเพราะกรรมแล้วก็ดับไป และกรรมก็ยังคงทำให้รูปเกิดได้ รูปที่เกิดเพราะจิต ก็เพราะจิตทำให้รูปนั้นเกิด แล้วก็ดับไป รูปที่เกิดเพราะอุตุ ความเย็นความร้อน รูปที่เกิดเพราะอาหารก็ดับไป ไม่มีการที่ว่า รูปนี้ดับไปแล้วเป็นปัจจัยสะสมให้รูปอื่นเกิดต่อ แต่จิตไม่ใช่อย่างนั้นเลย จิตเป็นนามธาตุที่พิเศษ และน่าอัศจรรย์ เพราะเหตุว่าจิตแต่ละประเภทที่ดับไป จะเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ จิตของใครหายไปบ้าง หรือมีสักขณะหนึ่งไหมคะที่ไม่มีจิต แม้แต่กำลังนอนหลับ ความต่างของคนหลับกับคนตาย ก็คือว่า คนตายไม่มีจิต แน่นอน มีแต่รูปที่เรามองเห็นเป็นซากศพ แต่ว่าที่เราว่าเป็นซากศพเพราะไม่มีจิต แต่คนที่ยังไม่ตาย แม้นอนหลับก็ไม่ใช่คนตาย เพราะเหตุว่ามีจิตเกิดดับอยู่

    เพราะฉะนั้น จิตไม่มีใครไปทำอะไรได้เลยที่จะไม่ให้จิตเกิดอีกต่อไปได้ นอกจากขณะจิตสุดท้ายของพระอรหันต์ ที่ไม่มีอนันตรปัจจัย หรือไม่เป็นอนันตรปัจจัย คือ เมื่อจุติจิตของพระอรหันต์เกิดแล้วดับไป ก็คือสิ้นสุด ใช้คำว่า “ปรินิพพาน” ไม่มีการเกิดอีกต่อไป แต่ถ้าไม่ใช่จิตของพระอรหันต์ จิตอื่นทั้งหมดทันทีที่ดับ จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด

    วันนี้ถ้าได้ยินคำว่า อนันตรปัจจัย ขณะที่สวดศพ ก็หมายความว่ากล่าวถึงลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ แต่เมื่อดับแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่นเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย จิตเกิดขึ้นทำกิจการงานของจิตแต่ละชนิด แต่ละประเภท เพราะว่าจิตที่เกิดมีกิจการงานที่จะต้องกระทำเฉพาะอย่างๆ แล้วก็ดับไป อย่างเห็นก็เป็นหน้าที่ของจิต ได้ยินก็เป็นหน้าที่ของจิต เราไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงเราคิดว่า เราได้ยิน แต่ความจริงเป็นจิตที่ทำหน้าที่ได้ยิน จิตที่ทำหน้าที่เห็นก็ต่างกัน

    เพราะฉะนั้น จิตมีมากมายหลายประเภท กุศลจิตก็เป็นอย่างหนึ่ง อกุศลจิตก็เป็นอย่างหนึ่ง อกุศลจิตที่เป็นโลภะก็ไม่ใช่อกุศลที่เป็นโทสมูลจิต หรืออะไรอย่างนี้ ก็เป็นชีวิตของเราจริงๆ ทั้งหมด วันนี้จะได้ยินปัจจัย แต่ที่จะเข้าใจก็คือ อนันตรปัจจัย หมายความว่าเวลาที่จิตขณะหนึ่งดับ จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น คู่กันกับสมนันตรปัจจัย วันนี้จะมี ลองฟัง อนันตรปัจจย กับ สมนันตรปัจจัย

    สมนันตรปัจจัย ก็คือว่าการเกิดดับของจิตเป็นไปตามปัจจัย เช่น ปฏิสนธิจิตขณะแรกเกิดแล้วก็ดับ จะเป็นปัจจัยให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกัน ประเภทเดียวกัน มีเจตสิกประกอบเท่ากันเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น แต่เมื่อไม่ใช่จิตขณะแรกซึ่งสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่ได้ต่อมาจากจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดหลังจากปฏิสนธิ ไม่ได้ทำหน้าที่ปฏิสนธิ ปฏิสนธิจิตจะมีเพียงขณะเดียว คือ ขณะแรก เช่นเดียวกับจุติจิตก็จะมีขณะเดียว คือ ขณะสุดท้ายที่ทำให้เคลื่อน พ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ว่าเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดเพราะกรรมใด กรรมนั้นเองก็เป็นปัจจัยให้จิตที่เกิดสืบต่อเป็นประเภทเดียวกันแต่ทำกิจต่างกัน ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ใช่ขณะแรก แต่ทำภวังคกิจ ภว หรือภพ หมายความว่า จิตขณะนั้นดำรงรักษาภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ไม่ให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นตั้งแต่เด็กจนตาย ก็จะเปลี่ยนจากบุคคลนั้นเป็นบุคคลอื่นไม่ได้ แม้ว่าจะทำกุศลกรรมก็จะไปเป็นเทวดา นางฟ้าทันทีไม่ได้ ต้องจุติก่อน แล้วกรรมที่จะทำให้เกิดที่ไหนก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดในภพนั้นภูมินั้น อย่างเราทุกคนมาสู่ภูมินี้ ก็เพราะกุศลกรรมที่ทำ แล้วก็ให้เป็นบุคคลนี้ ยังคงเป็นบุคคลนี้จนถึงขณะจิตสุดท้าย ซึ่งทำกิจเคลื่อน เมื่อจิตนั้นดับก็คือเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง จะกลับมาเป็นบุคลนั้นอีกไม่ได้เลย แต่ว่าระหว่างที่ยังไม่ตาย ก็จะมีภวังคจิตเกิดดับสืบต่อ ขณะที่เป็นภวังค์ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้ว่าเกิดมาแล้ว มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย แต่ก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ได้ไหมคะ ไม่ได้ ทำไมล่ะคะ แม้ว่ามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เกิดมาแล้วไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หรือคะ ค่ะ ลืมตอนที่หลับสนิท จิตทำภวังคกิจ ไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน ไม่ได้ทำกิจแม้คิดนึกก็ไม่คิดนึก เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถจะรู้ปฏิสนธิจิตได้ เพราะว่าเป็นจิตที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้เกิดขณะแรกว่า เป็นผลของกรรมอะไร แล้วก็ขณะนั้นมีลักษณะอย่างไร เพราะไม่ใช่โลกนี้เลย ไม่ใช่สีที่กำลังปรากฏ แสงสว่างต่างๆ รูปร่างต่างๆ ทางตา ไม่ใช่เสียงที่กำลังได้ยิน แต่ขณะที่นอนหลับสนิท จิตเกิดดับดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ ยังไม่ให้จุติ แล้วในขณะนั้นเหมือนกับขณะปฏิสนธิ เพราะว่าขณะปฏิสนธิ เราไม่รู้สึกตัวเลย ไม่มีใครรู้สึกตัว เป็นผลของกรรมชั่วขณะหนึ่งที่ทำให้จิตประเภทที่เป็นผลของกรรม คือ วิบากจิตเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ชาติก่อนเราจะเป็นใครมาจากไหน ไม่มีทางรู้ได้เลย กรรมที่ทำมาแล้วในชาติก่อน และในชาติก่อนๆ เราก็ไม่สามารถจะจำได้ แต่กรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นบุคคลนี้ แล้วก็กรรมนี้ก็จะทำให้เป็นบุคคลได้อีกนานเท่าไร เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แล้วแต่ว่าสิ้นสุดผลกรรมเมื่อไร ก็ทำให้จุติจิตเกิด แล้วก็พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้น ภวังคจิต ขณะนั้นจะไม่รู้สึกตัวเลย นอนหลับสนิท ชื่ออะไรคะ คนที่นอนหลับรู้ไหมคะ แต่พอตื่น รู้ นอนหลับสนิท มีญาติพี่น้องกี่คน รู้ไหมคะ นอนหลับสนิทอยู่ที่ไหน บ้านใคร รู้ไหมคะ โรงแรมไหนอะไรก็ไม่รู้หมด แต่กรรมไม่ได้ให้ผลเพียงเท่านั้น ทุกภพทุกชาติเหมือนกันหมด ถ้าเกิดเป็นสัตว์ก็มีปฏิสนธิจิต ดับไป ภวังคจิตเกิดสืบต่อ ยังไม่ให้ตาย แล้วยังไม่ให้กรรมอื่นให้ผลด้วย เพียงแต่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ก่อน เกิดเป็นพรหมก็เหมือนกัน ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วก็เป็นภวังค์ เป็นอรูปพรหมก็ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วก็เป็นภวังค์ บนสวรรค์ก็ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วก็เป็นภวังค์ ก่อนที่กรรมอื่นจะให้ผล

    ผู้ฟัง ตอนที่ปฏิสนธิเกิด เป็นมนุษย์ ไม่ทราบว่าตอนไหนนับว่าปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ จิตขณะแรกที่เกิดสืบต่อจากจุติจิต

    ผู้ฟัง คือหมายความว่าเป็นตัวหรือยัง

    ท่านอาจารย์ ไม่พูดถึงตัวเลย ถ้าพูดถึงจิตต้องแยกออกจากรูปโดยสิ้นเชิง เพราะว่าไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน รูปไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แต่จิตที่เกิดต้องรู้ ต้องเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น จะถือปฏิสนธิตอนไหน แพทย์จะถือตอนไหนก็ตามแต่ ใครจะถือตอนไหนก็ตามแต่ แต่ทางธรรมถือจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะว่าจิตในขณะนี้ เกิดดับสืบต่อกัน ไม่มีระหว่างคั่น ไม่มีขาดหายไปเลย ฉันใด ตอนที่จุติจิตเกิดแล้วดับ ปฏิสนธิจิตก็เกิดสืบต่อทันที

    เพราะฉะนั้น บางคนที่เขาร้องไห้เสียใจถึงผู้ที่จากไปแล้ว คนอื่นก็เตือนบอกว่า ก็เขาเกิดแล้วไม่ใช่หรือ เวลาคนเกิด คนก็ดีใจ มีลูก มีหลาน หรือมีใครเกิดมาก็ดีใจกัน แต่ว่าเขาต้องตายก่อน แล้วคนที่จากโลกนั้นมาสู่โลกนี้ ญาติพี่น้องของโลกก่อนเขาก็กำลังเศร้าโศกเสียใจ แต่ว่าโลกใหม่กำลังดีใจที่คนนั้นเกิด แต่จริงๆ แล้วถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ยังไม่ออกจากครรภ์ แต่ว่าพอรู้ว่ามีคนเกิดก็ดีใจแล้ว แต่ถ้าเป็นอีกภพภูมิหนึ่งอย่างบนสวรรค์หรือพรหมจะเกิดเป็นตัวขึ้นมาทันทีครบถ้วนเรียกว่า โอปปาติกกำเนิด เพราะว่ากำเนิดมีหลายอย่าง กำเนิดในครรภ์ก็มี ผุดเกิดเป็นรูปร่างที่สมบูรณ์ทันทีก็มีเป็นโอปปาติกะ แม้ในนรกก็เป็นโอปปาติกะ


    หมายเลข 9463
    20 ส.ค. 2567