พุทธชยันตี ดีใจไหม


    อ.อรรณพ พุทธชยันตี ดีใจไหม ในโอกาส ๒,๖๐๐ ปีแห่งการทรงตรัสรู้ ใครยินดีบ้าง ยินดีด้วยอะไร ยินดีด้วยความเข้าใจถูก หรือด้วยศรัทธาเล็กๆ น้อยๆ หรือด้วยความเห็นผิด

    จากการสนทนาพระสูตร เรื่อง “ปฐมโพธิกาล” ที่ มศพ. ๒ มิถุนายน ๒๕๕๕

    ท่านอาจารย์ มีใครยินดีบ้างที่ ๒,๖๐๐ ปี จะใช้คำว่า “พุทธชยันตี” ได้ไหมคะ คุณคำปั่น

    อ.คำปั่น จริงๆ แล้ว คำว่า “พุทธชยันตี” จะไม่พบคำนี้ในพระไตรปิฎก และอรรถกถา แต่โดยอรรถแล้วใช้ได้ หมายความว่า ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงชนะ อย่างไม่ต้องชนะอีกแล้ว ก็คือทรงชนะด้วยการดับกิเลสทั้งปวง อย่างหมดสิ้น ไม่มีกิเลสที่ทำให้พระองค์ต้องชนะอีก

    ท่านอาจารย์ คำนี้เป็นภาษาไทยหรือภาษาบาลี

    อ.คำปั่น ภาษาบาลีจะมีคำว่า พุทธ กับ ชยะ

    ท่านอาจารย์ แต่คำว่า “พุทธชยันตี” ในภาษาบาลี มีไหมคะ

    อ.คำปั่น ภาษาบาลีไม่มีคำนี้ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นคนไทยที่ใช้คำภาษาบาลีตามอัธยาศัยของคนไทย แต่คำนี้ไม่ใช่คำภาษาบาลี

    เพราะฉะนั้น จะอย่างไรก็ตามแต่ ณ วันนี้ หรือขณะนี้ ปีนี้ ใกล้จะถึงวันที่ครบ ๒,๖๐๐ ปีของการตรัสรู้ ใครดีใจบ้าง คือธรรมเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวจะผิด เดี๋ยวจะถูก อย่างนั้น แต่ตามความเป็นจริงทุกอย่างเป็นธรรม ใครดีใจบ้าง ก็ต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่พยายามตอบให้ถูก แต่ความจริงขณะนั้นคืออะไร

    ใครก็ตามที่ยินดีโดยไม่เข้าใจพระธรรม ยินดีได้ใช่ไหมคะ ขณะนั้นเป็นอะไรก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เพื่อให้ทุกคนมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกจริงๆ ไม่ใช่เพียงคิดซ้าย คิดขวา แล้วก็ถูกผิด แต่ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ ว่า ความยินดทั้งหลายที่ไม่มีความเห็นถูกเกิดร่วมด้วย ความยินดีนั้นคืออะไร ตอบไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับไป จะด้วยโลภะได้ไหม จะต้วยศรัทธาเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ได้ไหม

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนไม่ใช่คิดคาดคะเน แต่ต้องเห็นความละเอียดของธรรมว่า การรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ต้องในขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิด และตามขณะนั้นที่เป็นจริงว่าจะยินดีหรือไม่ยินดี ไม่ใช่จะไปห้าม หรือจะไปบังคับ หรือจะไปบอกว่าควรหรือไม่ควร แต่ก็รู้ได้ว่า ขณะใดที่ยินดีโดยเห็นผิด เข้าใจผิด คิดว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีอยู่ ยังไม่ปรินิพพาน แล้วก็ยินดี ก็แล้วแต่ความคิดของแต่ละคนที่จะเป็นไป

    เพราะฉะนั้น ความยินดีย่อมเกิดกับกุศลก็ได้ และอกุศลก็ได้ ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้

    เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ขณะนั้นที่เกิดแล้ว เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็จะไม่เป็นอย่างอื่น


    หมายเลข 9467
    19 ก.พ. 2567