สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๖๑


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๖๑


    ผู้ฟัง อยากจะทราบลักษณะของฌานจิต กับ จิตธรรมดาว่าแตกต่างกันอย่างไร มีอะไรพิเศษครับ

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงอยากรู้เรื่องฌานจิต

    ผู้ฟัง จะได้รู้ลักษณะของจิตที่ขั้นฌาน

    ท่านอาจารย์ ถ้าฌานจิตไม่เกิด ก็เป็นแต่เพียงชื่อ แต่ข้อสำคัญเวลานี้มีจิต น่าสนใจมากเลย ทำไมใช้คำหลายๆ คำที่จะพูดถึงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน แล้วก็ใช้หลายคำหลายชื่อด้วย เช่น มนะ มนัส มนินทรีย์ ปัณฑระพวกนี้ หทัย ทำไมใช้มาก เพราะว่าลักษณะของจิตเป็นอย่างนั้น แต่ละอย่างๆ เช่น ใช้คำว่า หทัย เป็นภายใน จริงไหมคะ จิตอยู่ไหน

    ผู้ฟัง จิตไม่มีตัวตน เป็นธาตุรู้

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ไหน ภายใน หรือภายนอก

    ผู้ฟัง ตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็นครับ

    ท่านอาจารย์ ในที่สุด ไม่มีอะไรจะในเกินไปกว่าจิต ไปหาอะไรสิคะว่ามีอะไรในยิ่งกว่าจิต แม้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เกิดกับจิต เพราะฉะนั้น จิตในที่สุด เป็นหทัย แล้วเรารู้ เรื่องจิตพอที่จะเข้าใจไหมว่ามีธาตุชนิดหนึ่ง มีปัจจัยก็เกิด แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ในภูมิที่มีรูปด้วย จิตต้องเกิดที่รูป จะเกิดนอกรูปนี้ไม่ได้เลย ต้องเกิดที่รูป แต่แม้กระนั้นก็เป็นนามธรรม แล้วก็แสดงการเปรียบเทียบให้เห็นว่า อะไรที่อยู่ข้างในที่สุดจริงๆ นั่นก็คือจิต ใช้คำว่า หทัย ใช้คำว่า มโน หรือ มนะ เพราะเป็นธาตุรู้หรือเป็นสภาพรู้ เพราะว่าผู้หญิงเรายังใช้คำตั้งหลายคำ สตรี นารี กุมารี ก็แล้วแต่จะมีคำอื่นอีกหรือเปล่า แต่ว่าแม้แต่จิต แสดงให้เรามีความเข้าใจจริงๆ ในสภาพที่อยู่ในที่สุด พอถึงคำว่า มนายตนะ ถึงคำว่า อายตนะ เป็นที่ประชุม หรือต่อ ที่จะให้เกิดสภาพรู้ขึ้น จิตก็เป็น มนายตนะ ส่วนเจตสิกแม้ว่าเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้อย่างเดียวกับจิตก็เป็น ธัมมายตนะ ซึ่งเป็นภายนอก ไม่ใช่ใน

    ถ้าพูดเรื่องจิตต้องพูดอีกคำ ๑ คู่กัน คือ “อารมณ์” อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ จะกล่าวว่า มีจิตรู้ โดยไม่มีสิ่งที่ถูกจิตรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้น ต้องรู้อารมณ์ ภาษาไทยเราเรียกสั้นๆ ว่า อารมณ์ แต่ภาษาบาลีเป็น อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ หมายความถึงสิ่งที่เป็นที่มายินดีของจิต เพราะว่าจิตจะเกิดโดยปราศจากอารมณ์ไม่ได้ บางคนเขาบอกว่าถ้าอารมณ์ไม่ดี จิตก็ไม่ชอบ แต่จริงๆ แล้วจิตเป็นสภาพที่ต้องรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นสภาพที่ต้องรู้ สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับจิต เป็นที่มายินดีของจิตที่จิตจะต้องมีก็คืออารมณ์ ส่วนอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเป็นเรื่องของเจตสิกที่จะไม่พอใจ แต่ว่าสภาพของจิตจะต้องรู้อารมณ์ เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างในขณะที่เห็น เฉพาะส่วนของรูปที่ปรากฏที่จิตกำลังเห็น เป็นอารมณ์หรืออารัมณะของจักขุวิญญาณ เสียงในป่าก็มี ถ้าไม่มีใครได้ยินเลย ใครก็เปลี่ยนสภาพเสียงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อมีของที่แข็งกระทบกันแรง ก็เป็นปัจจัยให้เสียงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น เสียงในป่า ไม่จำเป็นเลยที่จะกล่าวว่า มีหรือไม่มี เพราะว่าใครก็ได้ยินอย่างหนึ่ง แล้วถึงแม้เสียงเกิดแล้วก็ดับไปเลย สิ่งใดที่เกิดแล้วดับ แล้วใครจะไปตามได้ยินก็ไม่ได้ แต่ว่าเสียงใดก็ตามที่จิตรู้ เฉพาะเสียงนั้นเท่านั้นที่เป็นอารัมมณะ หรือเป็นอารมณ์ของจิต

    เพราะฉะนั้น ในภาษาไทยเรา เราใช้คำปลายเหตุ วันนี้อารมณ์ดี ทำไมอารมณ์ดีล่ะคะ ก็เห็นดีๆ ได้ยินดีๆ ได้กลิ่นดีๆ ลิ้มรสดีๆ รู้สิ่งที่กระทบกายก็สบายดี เรื่องราวต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องร้าย ล้วนแต่อารมณ์ดีทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์ที่กระทบหรือที่จิตรู้ดีทั้งหมด ในภาษาบาลีตามความเป็นจริง แต่คนไทยก็สรุปว่า วันนี้อารมณ์ดี โดยที่ไม่เข้าใจคำว่าอารมณ์เลยว่าเป็นปลายเหตุ แต่ต้นเหตุก็คือสิ่งที่จิตรู้นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ในภาษาไทยเราจะใช้คำคลาดเคลื่อนจากคำที่มีความหมายในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเราก็จะต้องเข้าใจให้ถูกด้วย เวลาที่พูดถึงจิต จิตจะไม่มีอารมณ์หรือไม่รู้อารมณ์ไม่ได้เลย จิตทุกขณะต้องรู้อารมณ์ หรือต้องมีอารมณ์


    หมายเลข 9502
    20 ส.ค. 2567