สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๖๓
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๖๓
ผู้ฟัง สมัยหนึ่งนานมาแล้ว ผมเคยชอบนั่งสมาธิ แล้วฟังท่านอาจารย์ผมเลิกนั่งตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ แสดงว่าผมประยุกต์ใช้หรือเปล่า หรือว่าธรรมเขาทำหน้าที่ของธรรม
ท่านอาจารย์ ธรรมเขาทำหน้าที่ของธรรม ก็เราเรียนเรื่องขันธ์ เรียนทำไมคะ ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ ส่วนนิพพานนั้นต่างจากจิต เจตสิก รูป เพราะว่าไม่เกิดไม่ดับ สำหรับขันธ์ก็คือปรมัตถธรรม ๓ รูปทุกรูปไม่ว่ารูปในอดีต เสียงในอดีต เสียงขณะนี้ หรือเสียงข้างหน้า ก็ยังคงเป็นเสียง เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย
เพราะฉะนั้น รูปทุกชนิดทั้งในอดีต ทั้งขณะนี้ และข้างหน้าเป็น รูปขันธ์ ขันธ์คือกองหรือส่วนของรูป ต้องเป็นรูป ขันธ์ ๕ มี รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ จิตทุกประเภท ทุกขณะเป็นวิญญาณขันธ์ เหลืออีก ๓ ขันธ์ เป็นอะไรคะ ในเมื่อปรมัตถธรรม มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่เมื่อนิพพานไม่เกิดดับ ก็ไม่ใช่ขันธ์ เพราะฉะนั้น ก็จะมีเพียง จิต เจตสิก รูป เพียง ๓ อย่างที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น รูปเป็นรูปขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ ที่เหลือคือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เป็นอะไร
ผู้ฟัง เจตสิกครับ
ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น เวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้สึก เฉพาะลักษณะที่รู้สึกอย่างเดียว สุข หรือ ทุกข์ หรือ เฉยๆ โทมนัส โสมนัส ที่เป็นความรู้สึก เป็นเวทนาขันธ์
เพราะฉะนั้น เจตสิก ๑ ดวงหรือ ๑ ประเภท เป็นเวทนาขันธ์ เจตสิก อีก ๑ คือสภาพที่จำ เป็นสัญญาขันธ์ เพราะฉะนั้น เจตสิกอีก ๕๐ ทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่ชื่อ จริงๆ เป็นจริงๆ เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่ง เวลาที่จะเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่เราประยุกต์ แต่ว่าเป็นสังขารขันธ์ที่เกิดขึ้นจากการฟังแล้วค่อยๆ ปรุง จากปัญญาขั้นฟัง ค่อยๆ เติบโต ค่อยๆ เจริญขึ้น ทั้งสติ ทั้งหิริ ทั้งโอตตัปปะ ทั้งศรัทธา เขาก็เจริญขึ้นทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล เขาทำหน้าที่นั้นตลอดเวลา ไม่ใช่เราทำ หรือไม่ใช่เราประยุกต์ มีใครรู้ไหมว่า จะคิดอะไร
ผู้ฟัง ไม่มีใครรู้ได้ ขณะต่อไป
ท่านอาจารย์ แต่สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้คิดอย่างนั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เราจะรู้จักตัวเราเพิ่มขึ้นมากเลย จะคิดอย่างไร ก็คือหน้าที่ของธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ ที่ปรุงแต่งให้เกิดคิดอย่างนั้นขึ้น ฝัน เลือกฝันได้ไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่ได้ครับผม ไม่ได้
ท่านอาจารย์ อะไรทำให้ฝัน
ผู้ฟัง ก็สังขารขันธ์ ตอนนี้เริ่มเข้าใจแล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะไปประยุกต์ จะไปทำอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น ถ้ารู้จริงก็คือรู้ว่าเป็นธรรม แล้วรู้จริงก็คือละเอียดขึ้นว่าอะไร ธรรมอะไรที่ปรุงแต่ง
ผู้ฟัง แต่เหตุการณ์ที่ให้ผมค่อยๆ ละคลายสิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูก ไม่ต้อง รู้สึกช้ามาก พอเผลอปุ๊บก็กลับไปอย่างเก่าอีก
ท่านอาจารย์ อยากได้ที่ผิดธรรมดา หรือเป็นธรรมดา
ผู้ฟัง ก็คงเป็นธรรมดา
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาก็ธรรมดา ไม่เป็นเรื่องแปลก ธรรมดาก็คืออย่างนี้ สะสมอะไรมามากในแสนโกฏิกัปป์ กุศลหรืออกุศล อวิชชาหรือวิชชา
ผู้ฟัง ก็อวิชชา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น แล้วจะมากล่าวว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นธรรมดา เรา ใช่ไหมคะ รีบเมื่อไร เราเมื่อนั้น ทางลัดเมื่อไร คือทางไม่รู้
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้เหมือนกับว่า ถ้าเป็นตัวเราเมื่อไร มาแล้ว เป็นกุศลอกุศล อย่างใดอย่างหนึ่ง โลภะ
ท่านอาจารย์ สะสมมาลึกมาก ความเป็นเรา ลึกมาก ต้องโสดาปัตติมรรคจิต ความเป็นพระอริยบุคคลเท่านั้นที่ดับได้ ลองคิดดู แต่ปัญญาเริ่มเห็นตามความเป็นจริง เพราะต้องเห็นโลภะ นี่เป็นโลภะหรือเปล่าคะ เมื่อไรจะถึง โลภะหรือเปล่า แล้วละหรือยัง คำถามอันนี้ ถ้ายังไม่ละก็มีสมุทัย ก็โลภะนั่นแหละเป็นใหญ่อยู่ตลอดเวลา
ทราบไหมคะว่า พอเราเกิดมาปุ๊บ เรามีเพื่อนสนิทอยู่ด้วยตลอดเวลา คือใคร อยู่กับใจตลอดเวลา พอเกิดปุ๊บก็มาเลย วาระแรกที่รู้สึกตัว ใครมาก่อน จิตต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ประเภทไหน โลภมูลจิต ทันทีที่รู้สึกตัว ติดข้องในภพ ในชาติ ในความเป็น เป็นอะไรก็แล้วแต่ จะเกิดที่ไหนก็แล้วแต่ มีความเป็นบุคคลนั้น อยากจะละอะไร อกุศลอะไร
ผู้ฟัง ที่จะลดตัวโลภะ โทสะ โมหะ
ท่านอาจารย์ อยากจะละอกุศล คือ ความติดข้องในรูป ในเสียง ใช่ไหมคะ ธรรมต้องตรง ผู้ที่ตรงเท่านั้นที่จะได้สาระจากพระธรรม แต่ถ้าไม่ตรงคือไม่ใช่พระธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น จะไม่ได้สาระจากพระธรรมเลย เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงว่าอยากจะละโลภะ โทสะ โมหะ พูดมาทีละอย่าง ว่าอยากจะละโลภะอะไร
ผู้ฟัง สมมติจิตเราโลภอยากได้ของอะไรต่างๆ เกิดจากไม่มีความสันโดษ อะไรอย่างนี้ ทะเยอทะยาน อยากได้
ท่านอาจารย์ มีข้อความแสดงว่า การที่จะละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่สาธารณะกับปุถุชน หรือพระโสดาบัน เพราะว่าเป็นฐานะของพระสกทาคามีบุคคล ที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระอนาคามีเมื่อไร ก็ดับได้เมื่อนั้น
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องรู้ฐานะของเราด้วย ผู้ที่ละได้คือพระอนาคามีบุคคล พระโสดาบันก็ยังละไม่ได้ พระสกทาคามีก็ยังละไม่ได้ แล้วเราเป็นใคร แล้วต้องละด้วยปัญญา แล้วเรามีปัญญาระดับนั้นหรือเปล่า ถ้ายังไม่มี อบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังจนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น รู้สภาพธรรมว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นพระโสดาบันก่อน แล้วต้องเป็นพระสกทาคามีด้วย ถึงจะละได้ แล้วจะไปไหนกัน จะรีบไปไหนกัน จะละอะไรกัน ละไม่ได้ ก็อย่าไปคิด แต่ว่าอบรมเจริญปัญญาที่จะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ละความไม่รู้ ไม่ใช่ไปละอย่างอื่น แต่ว่าการอบรมเจริญจริงๆ คือ รู้จักตัวเอง